“บ้านเชียงสง” พลิกฟื้นความจน ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

“บ้านเชียงสง”  พลิกฟื้นความจน ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

ชาวบ้านเชียงสง จ.สุรินทร์ หันหลังให้เกษตรเคมี แล้วน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางทำกสิกรรมเพื่อความยั่งยืน

บ้านเชียงสง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ คืออดีตชุมชนที่เคยทำการเกษตรแบบพึ่งพาสารเคมีและปุ๋ยเคมีเป็นหลัก ด้วยเหตุผลที่ ใช้ง่าย สะดวก เห็นผลไว  และยังช่วยเร่งผลผลิตให้ออกทันความต้องการของตลาด บวกกับโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อ ทำให้ “สารเคมี” เป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้านมานานหลายปี

เราได้รับรู้เรื่องนี้ จากคำบอกเล่าของ “ธนิต อภิชาตวาณิช” ผู้ใหญ่บ้านเชียงสง ที่ย้อนอดีตให้ฟังจนเห็นภาพ

เมื่อคนหนึ่งใช้ คนอื่นๆ ก็เริ่มใช้ตาม โดยไม่มีใครมานั่งบวกลบคูณหารถึงต้นทุนที่จ่ายไป หรือผลกำไรที่ได้รับว่าคุ้มกันหรือไม่ ที่สำคัญยังมีการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตจากหน่วยงานภาครัฐ และเครดิตเงินเชื่อจากร้านค้าปุ๋ย ที่คอยอำนวยความสะดวก ดึงดูดชาวชุมชนให้ยิ่งใช้สารเคมี จนต้องมีหนี้สินพอกพูนตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

“แต่ละครัวเรือนต้องควักเงินจ่ายค่าสารเคมีสูงถึงเดือนละ 10,000 บาท ขณะเดียวกันสารเคมียังก่อปัญหาสุขภาพ ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นตกค้างในร่างกาย ทำให้เด็กและผู้ใหญ่ต่างพากันล้มป่วย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในรักษาพยาบาลจำนวนมาก จากจุดนี้เองทำให้ชาวบ้านเชียงสงเริ่มตื่นตัวและฉุกคิดว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ที่ทุกคนต้องหาทางแก้ไขร่วมกันแล้ว”

ผู้ใหญ่บ้านเชียงสง บอกอีกเหตุผลสำคัญที่ทุกคนตัดสินใจหันหลังให้กับเคมี เนื่องจากเป็นห่วงผลกระทบในระยะยาว กลัวว่าจะกลายเป็นปัญหางูกินหาง ที่ส่งต่อความทุกข์ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานหากชุมชนยังเพิกเฉย ไม่มีมาตรการแก้ไขหรือร่วมมือร่วมใจที่จะเรียนรู้เรื่องพิษภัยของสารเคมีอย่างจริงจังนับจากนี้

จนเมื่อชาวชุมชนได้นำเรื่องนี้ไปหารือกับ สาธารณสุขอำเภอ จึงได้รับคำแนะนำว่า ให้เข้าร่วม “โครงการเศรษฐกิจพอเพียง” กับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเปิดให้ทุนและชุดความรู้แก่ชุมชนที่สนใจ  นับแต่นั้นมา ชาวบ้านเชียงสงจึงหันมาเรียนรู้เรื่องการเกษตรแบบผสมผสาน ปลอดสารเคมี และสารพิษ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยความตั้งใจจริง

“ระยะแรก มีการเริ่มทดลองปลูกผักปลอดสาร เลี้ยงปลาไว้บริโภคในครัวเรือนก่อน ต่อมาก็แบ่งขายในส่วนที่เหลือ พอทำแบบนี้ไปนานๆ เข้า จากหนึ่งครัวเรือนก็ขยายผล รวมตัวกันเป็นกลุ่ม‘เมืองลีงโมเดล’ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 60 คน และทุกคนสามารถพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย มีความยั้งคิดในการใช้เงินมากขึ้น” ผู้ใหญ่บ้านเชียงสง บอกเล่า

การจะใช้แนวทาง ‘เดินตามรอยพ่อ’ หรือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้กับชุมชนนั้น  ผู้ใหญ่ธนิต ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่เคยตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีจึงต้องตั้งต้นด้วยการประชุมประชาคม ชี้แจงให้ทุกคนเห็นปัญหาร่วมกัน โดยในระยะแรกมีการคัดเลือกตัวแทนกลุ่ม ปราชญ์ชาวบ้าน ขึ้นมาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน

จากนั้นมีการกำหนดแนวทางเชิงปฏิบัติและรูปแบบกิจกรรมในพื้นที่ให้ชัดเจน  โดยชาวชุมชนบ้านเชียงสง เห็นพ้องกันว่า จะศึกษาดูงานในพื้นที่ตัวอย่าง ที่เคยประสบความสำเร็จการทำเกษตรอินทรีย์มาก่อนแล้ว พร้อมจัดกิจกรรมสาธิตวิธีทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ รวมถึงจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเชียงสง เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนประจำชุมชน

กลยุทธ์สำคัญคือ ต้องเน้นประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีและมีจิตสำนึกที่ดีร่วมกัน

“ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือ เกษตรกรลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตลงได้ และหันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำหมักชีวภาพใช้ทดแทน จึงมั่นใจได้ว่า แนวทางนี้ นอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกได้อีกด้วย” ผู้ใหญ่บ้านธนิตทิ้งท้าย

แนวคิดการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการพัฒนาชุมชนนั้น ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. อธิบายว่าจากการที่ สสส. สนับสนุนแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมชนมากว่า 6 ปี พบว่า ชุมชนที่น้อมนำหลักปรัชญานี้มาใช้จนประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และลดปัญหาสุขภาพได้จริง ทั้งในแง่ความเครียดจากภาระหนี้สิน และปัญหาการใช้สารเคมี ซึ่งคอยบั่นทอนสุขภาพ อีกทั้งความร่วมมือของคนในชุมชน ยังเป็นฐานที่สำคัญในการพัฒนาการทำงานเรื่องอื่นๆ ต่อไป

“หลักการนี้เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางสายกลาง ไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ มีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรม ในการคิดวางแผนและตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ทำให้ สสส. มีความแน่ใจว่า แนวทางดังกล่าว เมื่อชุมชนปฏิบัติตามจะช่วยแก้ปัญหาชุมชนได้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งกาย ใจ สังคมและสิ่งแวดล้อม”

ทพ.ศิริเกียรติ กล่าวเสริมว่าในก้าวต่อไปว่า สสส. ตั้งเป้าหมายพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนน่าอยู่ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในลักษณะเดียวกันนี้ อีกจำนวน 500 แห่ง ภายใน 3 ปี เพื่อกระจายชุมชนเข้มแข็งให้เกิดขึ้นทั่วประเทศในอนาคตอันนี้ใกล้นี้

เพื่อให้ศาสตร์วิชาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พ่อหลวง ได้ช่วยพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตของชาวไทย ให้กลับมาเข้มแข็งและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง