'รายใหญ่' ประสานเสียง ฉวยจังหวะ ‘ซื้อหุ้น’

'รายใหญ่' ประสานเสียง ฉวยจังหวะ ‘ซื้อหุ้น’

ในภาวะที่ตลาดหุ้นเกิดความ "ผันผวนหนัก" และดัชนีปรับ "ลดลงรุนแรง" นักลงทุนรายใหญ่ต่างมองว่าเป็น "จังหวะเข้าซื้อ"

ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งดัชนีวิ่งขึ้นไปแตะ 1,518.23 จุด ก่อนจะดิ่งลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 4 วัน ไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,343.13 จุด ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นมายืนเหนือ 1,400 จุด ได้อีกครั้ง

การที่ดัชนีปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นลักษณะของการขายอย่างตื่นตระหนก (panic sell) ซึ่งคงจะทำให้มูลค่าพอร์ตของนักลงทุนหลายลดลงไปตามๆ กัน

ในมุมกลับกัน panic sell ที่เกิดขึ้น ก็สามารถเป็นโอกาสของผู้ที่มีเงินสดพร้อมอยู่เช่นกัน

นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า โดยปกติแล้วจะเตรียมแผนรับมือในกรณีที่หุ้นตกหนักๆ ไว้ก่อน และไม่ปรับแผนหลังจากที่หุ้นตกลงไปมากแล้ว ซึ่ง 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวมองว่าหุ้นไทยค่อนข้างแพง จึงขายหุ้นออกไปพอสมควรและถือเงินสดไว้รอ

“จุดที่หุ้นร่วงลงมาแรงนี้มองว่าหุ้นหลายตัวเริ่มน่าสนใจที่จะเข้าลงทุน หลังจากที่หุ้นไทยค่อนข้างแพงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ช่วงนี้ก็เฝ้าติดตามหุ้นที่สนใจอยู่ตลอด หลังจากที่รอมานาน คิดว่าน่าจะใกล้ถึงจุดเข้าซื้อแล้ว”

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่นักลงทุนจำเป็นต้องคือ การประเมินมูลค่าหุ้น เพื่อให้รู้ว่าควรจะเข้าซื้อที่จุดใด ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วจะพิจารณาจากค่าพีอี (P/E) และอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend yield) เป็นหลัก

“การใช้ค่าพีอีคงขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม แต่ส่วนมากจะไม่ให้เกิน 20 เท่า ขณะที่เงินปันผลนั้นอย่างน้อยควรจะได้ 3% แต่ถ้าได้ 4-5% จะดีมาก โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดผันผวนมาก การมีเงินปันผลสูงจะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ส่วนหนึ่ง มองว่าธุรกิจในลักษณะ Defensive ไม่ถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย และมีฐานลูกค้ากว้าง จะค่อนข้างน่าสนใจในยามนี้”

ทั้งนี้ หลังจากที่ดัชนีปรับตัวลงแรงระหว่างวันที่ 10 - 12 ต.ค. จะเห็นว่าหุ้นลักษณะ Defensive ค่อนข้างแข็งแกร่งกว่าตลาด อย่างในกลุ่ม SET50 พบว่า ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ลดลง 1.99% ทีทีดับบลิว (TTW) ลดลง 2.8% และ ปตท. (PTT) ลดลง 2.88% ขณะที่ตลาดปรับตัวลดลงถึง 10% และในบรรดาหุ้นในกลุ่ม SET50 มีหุ้นถึง 37 ตัว ที่แข็งแกร่งกว่าตลาด โดยปรับตัวลดลงไม่ถึง 10% 

อนุรักษ์ บุญแสวง นักลงทุนรายใหญ่ มองว่า เมื่อเกิดภาวะ panic sell ถือเป็นจุดที่ควรหาจังหวะเข้าซื้อมากกว่าตื่นขายออกมาตามภาวะตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่หุ้นปรับตัวลงแรงโดยที่ไม่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐาน

“นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะทำในทิศทางตรงกันข้าม คือ ตื่นขายออกมาตามภาวะตลาด และไล่ซื้อเมื่อตลาดวิ่งขึ้นไปสูง เป็นเหตุว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงแพ้ให้กับตลาดในระยะยาว อย่างสถานการณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อหุ้นหลายตัวที่ราคาลดลงมาต่ำมาก”

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือนักลงทุนควรจะถือเงินสดไว้บ้างเผื่อเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ขณะเดียวกันนักลงทุนควรจะรู้ว่ามูลค่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นของหุ้นที่เราสนใจอยู่ที่ระดับใด เมื่อเกิดการขายอย่างตื่นตระหนกอาจทำให้หุ้นหลายตัวปรับตัวลง 30-40% ขณะที่ดัชนีปรับตัวลดลงเพียง 10% ก็เป็นโอกาสให้กับนักลงทุนที่เตรียมพร้อมไว้

ขณะที่ วิชัย วชิรพงศ์ นักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงแล้ว นั่นไม่ใช่จังหวะในการขาย อย่างล่าสุดที่หุ้นไทยเกิดอาการขายอย่างตื่นตระหนก เมื่อถึงจุดหนึ่งก็มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้แนวโน้มและอารมณ์ตลาดในขณะนี้น่าจะคาดหวังการฟื้นตัวมากกว่าที่จะลงต่อ

“เหตุการณ์ที่หุ้นลงมากว่า 100 จุดในรอบนี้ หากพิจารณาให้ดีแล้วไม่ได้เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจหรือปัจจัยพื้นฐานเท่าใดนัก ฉะนั้นการตื่นขายออกมาในราคาต่ำมากๆ จึงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างแรงอีกครั้ง เพิ่มขึ้น 64.79 จุด หรือ 4.59% ปิดที่ 1,477.61 จุด โดยระหว่างวันดัชนีเปิดการซื้อขายที่ 1,461.42 จุด ก่อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง รวมมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 1.05 แสนล้านบาท 

ส่วนการซื้อขายของผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ในช่วง 10 - 12 ต.ค. พบว่า นักลงทุนสถาบันขายสุทธิถึง 11,834.99 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 4,678.72 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 74.20 ล้านบาท และนักลงทุนภายในประเทศซื้อสุทธิ 16,439.52 ล้านบาท 

จะเห็นว่าการปรับตัวลดลงของหุ้นไทยอย่างรุนแรงในครั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่านักลงทุนสถาบันคือฝ่ายที่เริ่มขายออกมาค่อนข้างมาก ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อภาพรวมการลงทุนตามมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อดัชนีปรับตัวลดลงไปถึงจุดหนึ่ง นักลงทุนสถาบันก็เป็นฝ่ายเข้าไปรับซื้อหุ้นกลับมาเกือบหมื่นล้านบาท โดยเข้าซื้อสุทธิในวันที่ 13 ต.ค. ถึง 9,716.32 ล้านบาท ซึ่งเป็นวันที่ดัชนีฟื้นตัวอย่างรุนแรงในชั่วโมงสุดท้ายของการซื้อขาย ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายเข้ามาถึง 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ยังขายสุทธิ 2,497.43 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 573.66 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศขายสุทธิ 6,645.23 ล้านบาท