พระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ยกระดับฐานรากอย่างยั่งยืน

พระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ยกระดับฐานรากอย่างยั่งยืน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2522

โดยมีแนวคิดให้สถานที่นี้เป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิชา การค้นคว้า ทดลอง และสาธิตทางด้านเกษตรกรรมเป็นระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว ที่ให้บริการแก่ประชาชนและเกษตรกรเป็นเสมือน“พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติของการพัฒนาที่มีชีวิต” โดยมีกิจกรรมด้านการศึกษา พัฒนาที่ต่อเนื่องและขยายผลที่เป็นความสำเร็จสู่เกษตรกร และชุมชนในภูมิภาคนั้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และยังเป็น “ต้นแบบ” ของการบริหารที่เป็นการ “รวมศูนย์” ประสานความร่วมมือของหน่วยงานหลากหลายหน่วยงาน โดยมิได้มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มี 6 แห่ง กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ  ได้แก่ โครงการที่ 1 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยัง  ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน 264 ไร่ พระองค์ทรงมีพระราชดำริ ให้หน่วยราชการต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ทำเป็นศูนย์ศึกษาตัวอย่าง สาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพ เพื่อเป็นแหล่งให้เกษตรกรตลอดจนผู้สนใจได้เข้าชมศึกษา ค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติมได้ 

รวมทั้งยังทำหน้าที่ในการถ่ายทอดวิชาการแผนใหม่ทั้งด้านการเพาะปลูกพืช การปศุสัตว์ การประมง การพัฒนาที่ดิน รวมทั้งด้านศิลปาชีพ ให้แก่เกษตรกร หรือประชาชนที่สนใจ ทั้งในจังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกและภาคกลาง

โครงการที่ 2 ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน มีพระราชดำริจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 13,300 ไร่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2537 โดยเพิ่มศึกษาค้นคว้าวิจัยทดลองงานพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่น และนำออกเผยแพร่เป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาอาชีพ ฟื้นฟู และพัฒนาป่าไม้ การปลูกพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร  

โครงการที่ 3 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ที่ตั้งบ้านห้วยทราย ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี แต่เดิมเคยเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้นานาพันธุ์เขียวชะอุ่ม แต่ในช่วงเวลาเพียง 30 กว่าปี พื้นที่ห้วยทรายได้ถูกราษฎรเข้าบุกรุกทำลายเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนไม่เหลือป่าไม้และสัตว์ป่าจึงเกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล 

เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและมีพระราชดำรัส ว่า“หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด” จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณห้วยทราย เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ 

โครงการที่ 4 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2525 ให้พิจารณาจัดตั้งขึ้นบริเวณป่าขุนแม่กวง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ พื้นที่โครงการประมาณ 8.5 พันไร่ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาต่าง ๆ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำที่เหมาะสมและเผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปฎิบัติต่อไป โดยทำการศึกษาการพัฒนาป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธาร ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลักต้นทางปลายทางเป็นการศึกษาการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์ โคนมและด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ 

โครงการที่ 5 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ในช่วงปี 2554 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จเยี่ยมราษฎร ในพื้นที่จ.นราธิวาส ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่ และความจำเป็นที่จะยกระดับความเป็นอยู่ภาวะเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ของจ.นราธิวาสให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่พรุ ที่มีน้ำขังตลอดปี ดินมีคุณภาพต่ำ จำนวนกว่า 4 แสนไร่  โดยให้พนักงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษาและพิจารณาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสาน และนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการที่จะพัฒนาพื้นที่พรุอื่นในโอกาสต่อไป

โครงการที่ 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2524 ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้ว่าราชการจ.จันทบุรี ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล และจ.จันทบุรี พร้อมกับได้พระราชทานเงินเป็นทุนเริ่มดำเนินการ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงรับสนองพระราชดำริ ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ที่ ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ศึกษาฯนี้มีพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมชายฝั่งทะเลโดยรอบกว่า 2 พันไร่ พื้นที่รอบนอก 3.2 หมื่นไร่ 

โดยมีเป้าหมายยกระดับความเป็นอยู่ อาชีพ ของราษฎรที่ยากจน รอบอ่างคุ้งกระเบน และพื้นที่ใกล้เคียง และได้อำนวยประโยชน์แก่ราษฎรยากจนในพื้นที่เป้าหมายให้มีอาชีพยั่งยืน ยกฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมอีกด้วย