ดีเอสไอบุกค้นแชร์ฌาปนกิจ 1 ชีวิต 1 ล้าน

ดีเอสไอบุกค้นแชร์ฌาปนกิจ 1 ชีวิต 1 ล้าน

ดีเอสไอบุกค้นบ้านพักบก.นสพ.ตำรวจพลเมือง แชร์ลูกโซ่ฌาปนกิจสงเคราะห์ 1ชีวิต 1 ล้าน แต่ตายจ่ายแค่หลักหมื่นหลักแสน สั่งอายัดทรัพย์ 100 ล้าน

พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นำหมายค้นของศาลจังหวัดมีนบุรี เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 72/98 ซึ่งเป็นบ้านพักของบก.หนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง ผู้ต้องขังสงสัยกระทำผิดในคดีแชร์ลูกโซ่ ฌาปนกิจสงเคราะห์ 1 ชีวิต 1 ล้าน ตามที่ผู้เสียหายจำนวนมากเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษขอให้ดีเอสไอตรวจสอบการประกอบธุรกิจดังกล่าว ซึ่งเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ ขณะตรวจค้นภายในบ้านพบนายทรัพย์อานันท์ เจริญวัฒนอุดม บรรณาธิการ นสพ.ตำรวจพลเมือง และน.ส.จันทร์ทิพย์ ทันเที่ยง ภรรยา อยู่ในบ้านพัก เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจค้นและเก็บหลักฐานจากคอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต

พ.ต.ท.พเยาว์ กล่าวว่า คดีดังกล่าวมีพฤติการณ์เข้าลักษณะเป็นการชี้ชวนให้ระดมเงิน โดยสัญญาจะจ่ายผลตอบแทนให้กับสมาชิก ซึ่งเข้าข่ายการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฝ่าฝืนพ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2547 ที่ห้ามไม่ให้ชักชวนหรือจัดการให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกโดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่น ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหาย 3,000 คน และพบว่ามีผู้เสียหายกระจายทั่วประเทศกว่า 10,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,500 ล้านบาท จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบกระแสเงินหมุนเวียนในบัญชีของบุคคลที่เป็นแกนนำประมาณ 300 ล้านบาท มีการยักย้ายถ่ายเทเงินในหลายรูปแบบ ทั้งนี้ ในการตรวจค้นพบของกลางเป็นสมุดบัญชีธนาคาร 103 เล่ม หลักฐานการซื้อทองคำรูปพรรณน้ำหนักประมาณ 50 บาท คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะรวม 4 เครื่อง เอกสารการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หลังจากนี้ต้องมีการชี้แจงที่มาทรัพย์สินให้ชัดเจน ส่วนบ้านพักหลังที่เข้าตรวจค้นครั้งนี้ พบว่าถือครองในชื่อบุคคลอื่นโดยนายทรัพย์อานันท์อยู่ระหว่างการเช่าซื้อ ซึ่งในขั้นตอนต่อไปต้องมีการตรวจสอบที่มาทรัพย์สินเพิ่มเติม

“สำหรับพฤติการณ์ของแชร์ลูกโซ่คดีดังกล่าวจะใช้ฐานสมาชิกของนสพ.ตำรวจพลเมือง และฐานสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์พลังประชาชน ชักชวนให้ประชาชนร่วมสมัครสมาชิกคนละ 1,500 บาท โดยสัญญาว่าหากเสียชีวิตจะได้เงิน 1 ล้านบาท แต่เมื่อตรวจสอบแผนการจ่ายเงินพบว่า มีการจัดรูปแบบบริหาร มีระดับแม่ข่ายหรือผู้อำนวยการ ทำหน้าที่หาสมาชิก และได้ผลตอบแทนสมาชิกละ 200 บาท หากสมาชิกเสียชีวิตเงินตอบแทนจะแบ่งเป็นค่าบริหาร 20 % แบ่งจ่ายให้ผอ.รายละ 50,000 บาท แต่ปรากฏว่าเมื่อมีสมาชิกเสียชีวิตกลับได้รับเงินฌาปนกิจเพียงหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทเท่านั้น และในระยะหลังเริ่มไม่จ่ายเงินเพราะหมุนเวียนเงินไม่ทัน”พ.ต.ท.พเยาว์กล่าว

พ.ต.ท.พเยาว์ กล่าวด้วยว่า จากการสืบสวนพบว่าผอ.หรือแม่ข่ายจะรวบรวมสมาชิกที่เป็นญาติพี่น้องหรือคนสูงอายุในหมู่บ้านลงทะเบียนแรกเข้าเป็นค่าธรรมเนียมรายละ 1,500 บาท ทำให้ความเสียหายกระจายทั่วประเทศ ดังนั้นขอฝากเตือนไปยังประชาชนอย่าหลงเชื่อหรือระวังการลงทุนที่อ้างผลตอบแทนสูง โดยธุรกิจทั่วไปได้กำไรปีละ 85% ก็ถือว่าสูงมากแล้ว แต่การจ่าย 1,500 บาทเพียงครั้งเดียวแล้วจะได้รับเงิน 1 ล้านบาท เป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด ทราบว่าฌาปนกิจดังกล่าวยังเปิดรับสมาชิกอยู่แต่มียอดสมาชิกลดลง คาดว่าภายในเดือน ต.ค. นี้จะสามารถสรุปสำนวนแจ้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำผิดได้ เบื้องต้นจากการตรวจค้นสามารถอายัดทรัพย์สินเพิ่มได้ประมาณ 100 ล้านบาท