ระดม 60 แบรนด์ไทย-โลก ตอบโจทย์ยั่งยืน

ระดม 60 แบรนด์ไทย-โลก ตอบโจทย์ยั่งยืน

สัมมนา "แบรนด์ยั่งยืนโลก" ระดมเจ้าของแบรนด์ไทย-เทศ 40 ราย ใน 60 แบรนด์ร่วมกันระดมสมอง แลกเปลียนกรณีศึกษาสร้างแบรนด์ยั่งยืน

ในการประชุมระดับโลก “Sustainable Brands Bangkok 2016” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ต.ค.ภายใต้แนวคิด “Activating Purpose” โดยมีวิทยากรเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก 40 ราย ใน 60 แบรนด์ไทยและโลก ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกันและแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จที่ยั่งยืนของธุรกิจ 

จบการสัมมนาวันแรกพบว่า “แนวคิดหลัก” ที่เหล่าเจ้าของแบรนด์ยังคงยึดมั่นไม่เปลี่ยน คือ การทำธุรกิจต้องไม่หวังเพียงกำไร แต่ต้องคำนึงถึงการแบ่งปัน ทำองค์กรเป็น “ธุรกิจคนดี” เอื้อเฟื้อ “สังคม” และ “สิ่งแวดล้อม” ซึ่งสุดท้ายสิ่งเหล่านี้ จะกลับมาเป็น “หลังพิง” ให้กับธุรกิจมีกำไร และเติบโตอย่างยั่งยืน

“วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวในหัวข้อ “Wake up to the new reality” ว่าขณะนี้บริษัทยังคงมองหาสิ่งใหม่ (What ’s news) และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป (What’s next) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทยังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆอยู่ทุกวัน ทำให้ต้องคิด และวางแผนเพื่อรับมือกับสิ่งใหม่

ทั้งนี้ มองว่า1ในหนทางความยั่งยืน คือ “การแบ่งปันความรู้ร่วมกัน” และ “ส่งต่อความรู้” หรือประสบการณ์ร่วมกัน 

นอกจากนี้ ไม่ว่าสิ่งต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือยังเป็นฐานสำคัญของสิ่งที่จะเกิดขึ้น จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ การพัฒนาหรือทำอะไรก็ได้ให้เร็วขึ้น (Faster) ถูกลง (Cheaper) และดีขึ้น (Better)

สำหรับ1ในความท้าทายของบริษัท คือ การสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนเจน Z ที่รูปแบบการสื่อสารหรือโลกของคนในกลุ่มนี้จะเป็นโลกเสมือนจริง (Virtuality) ควบคู่กับโลกความเป็นจริง (Reality) ดังนั้นองค์กรต่างๆรวมถึงบริษัทต้องหาวิธีการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ให้ได้ รวมถึงหาเทคโนโลยีใหม่มาเสริมประสิทธิภาพ เรียนรู้สิ่งใหม่ เช่น เทรนด์ข้อมูล Internet of Things 

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้งบลงทุนกว่า1,000ล้านบาทกับการพัฒนาระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร หรือ ERP (Enterprise Resource Planning)เพื่อพัฒนาระบบพื้นฐาน โดยคาดว่าจะเริ่มนำ ERP ที่ได้พัฒนามาใช้กับกลุ่มธุรกิจอาหารในกลางปีหน้า และใช้กับกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมในช่วงกลางปี2561

“แม้ว่าเราได้วางแผนระยะยาว 5 ปี เช่น วิสัยทัศน์องค์กรปี2020แต่เราก็มองว่าต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลาให้ทันสถานการณ์มากขึ้น ไม่ได้ปล่อยรอระยะยาวนานแล้วจึงค่อยปรับเปลี่ยน”

ขณะที่ “เซเดฟ ซาลินกัน ซาฮิน” ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในหัวข้อ “Seeking New Heights”  ว่า น้ำคือวัตถุดิบหลักในการผลิตเครื่องดื่ม หากไม่มีน้ำธุรกิจย่อมไม่ยั่งยืน ดังนั้นการทำธุรกิจจึงต้องคำนึงถึงสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ขณะที่การทำงานต้องผสานระหว่างการเป็นองค์กรระดับโลกกับท้องถิ่น

“หากองค์กรต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน สังคมก็ต้องยั่งยืนเช่นกัน โคคาโคลาจะฟังเสียงสะท้อนจากสังคม อะไรคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของเราดำรงอยู่อย่างยั่งยืน”

“พรวุฒิ สารสิน” ประธานกรรมการ บริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายในปี 2563 บริษัทต้องการลดการใช้น้ำให้ได้ 25% ภายใต้กลยุทธ์ 3 R ได้แก่ 1.Reduce ลดการใช้น้ำ 2.Recycle นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ เช่น ล้างรถขนส่ง รถน้ำต้นไม้ เป็นต้น และ3.Replenish เติมน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชน โดยที่ผ่านมาได้ทำโครงการรักษ์น้ำ เช่น ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยนำผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำในท้องถิ่น พนักงานบริษัทมาร่วมทำกิจกรรมรักษ์น้ำ ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้จากเดิมแห้งแล้ง และโครงการดังกล่าว ยังถือเป็นต้นแบบที่บริษัทจะนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ

ทั้งนี้ ปี 2558 โค้กช่วยเติมน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนมากถึง 4 เท่า และบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยกิจกรรมเหล่านี้มีผลให้ผู้บริโภค คนในชุมชนรักแบรนด์มากขึ้น โดยที่บริษัทไม่ต้องประชาสัมพันธ์มากนัก

“ยุทธนา เจียมตระการ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลางบริษัทเครือซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของเอสซีจี จะอยู่ภายใต้ 4 ค่านิยม ได้แก่ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม, เชื่อมั่นในคุณค่าของคน, มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นในฐานะผู้ผลิต จึงพยายามใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ เอสซีจีมีการสร้างความยั่งยืน 2 ส่วน คือ ภายในองค์กร โดยในส่วนของโรงงานที่ตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ มีการใช้น้ำในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายปี 2563 จะลดการใช้น้ำลง 20% และทุกปีจะนำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ 8% 

ส่วนภายนอกองค์กร คือสร้างความยั่งยืนกับผู้บริโภค ด้วยการผลิตสินค้าและบริการคุณภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Value) ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น สุขภัณฑ์ก็อกน้ำและสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ

“เทวินทร์ วงศ์วานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ“Petroleum Positive Purpose” ว่า อุตสาหกรรมด้านพลังงานก็เป็น1ในหลายธุรกิจที่คนกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ปตท.ก็ต้องพยายามดำเนินงานและสื่อสารสร้างความเข้าใจกับคนทั่วไป โดยยึดหลักการดำเนินงานต่างๆ 1ในนั้น คือ ความยั่งยืน ที่ต้องมองไปถึงในอนาคต10- 20ปี ซึ่งถือเป็นความท้าทายของบริษัทที่จะทำให้เกิดขึ้น 

โดยสิ่งสำคัญที่บริษัททำ คือ พยายามทำให้คนในสังคมมีความสุข มีความเป็นอยู่และรายได้ที่ดี และพัฒนารักษาพื้นที่สีเขียว ผ่านการพัฒนาน้ำ ขยะ การปลูกป่า ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายของบริษัท ตลอดจนมองว่าหลักการทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม หรือร่วมมือกัน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุผลการสร้างความยั่งยืน หรือทำให้เป้าหมายสำเร็จ

--------------------------------------

กรณีศึกษาเบียร์โลก บุกตลาดเม็กซิโก

“ไมเคิล ดิคสเตน” ผู้จัดการด้านการพัฒนาความยั่งยืนระหว่างประเทศ บริษัทไฮเนเก้น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ไฮเนเก้นในฐานะผู้ผลิตเบียร์เบอร์ 2 ของโลก มีโรงงานผลิตเบียร์ 250 แห่งทั่วโลก และทำตลาดในไทย อีกทั้งมีแบรนด์มากมาย ทั้งไฮเนเก้น ไทเกอร์ และเชียร์ มององค์ประกอบการสร้างแบรนด์ยั่งยืนทั้งเรื่องของสินค้า และผู้บริโภคมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น แบรนด์จะก้าวต่อไปได้ จะต้องมองดูว่าตัวเองเผชิญอุปสรรคอะไรอยู่หรือไม่

เขายกตัวอย่างการทำตลาดสินค้า TECATE ในประเทศเม็กซิโก ที่ไฮเนเก้นสามารถเป็นเบอร์ 1 ได้ โดยกลยุทธ์การทำตลาดและสร้างแบรนด์จะคำนึงถึงความเป็น “สุภาพบุรุษ” เนื่องจากเม็กซิโกเป็นประเทศที่ผู้หญิง 2 ใน 3 อายุระหว่าง 30-39 ปี เคยเผชิญความรุนแรงมาก่อน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์

ดังนั้นแบรนด์จึงเลือกปกป้องคนกลุ่มนี้ โดยผู้ที่ทำร้ายร่างกายและใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงจะไม่ใช่คนดื่ม TECATE เพราะแบรนด์ของบริษัทนั้นปกป้องผู้หญิง

ส่วนในไทย บริษัทได้ร่วมรณรงค์เมาไม่ขับ เช่น เทศกาลสงกรานต์ร่วมกับหน่วยงานงานภาครัฐ และ 50 ชุมชน และขยายเป็น 5,000 แห่ง ในการทำกิจกรรมเมาไม่ขับ ซึ่งเป็นแคมเปญนะดับโลก เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทได้เข้าไปเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันรถสูตร 1 หรือ F1 และทำโฆษณาโดยให้ผู้ขับแข่งรถเอฟวัน เป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งถูกชวนให้ดื่มเบียร์ไฮเนเก้น แต่ผู้ขับปฏิเสธจากวัยหนุ่มกระทั่งสูงวัย โดยให้เหตุผลที่ไม่ดื่มเบียร์เพราะยังคงขับรถ สะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และสะท้อนถึงวัตถุประสงค์ของแบรนด์ด้วย