ไม่เคยเจ็บ ก็ไม่สำเร็จ บทเรียน ซีอีโอ ‘Sellsuki’

ไม่เคยเจ็บ ก็ไม่สำเร็จ  บทเรียน ซีอีโอ ‘Sellsuki’

ว่ากันว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักจะจบลงตรงคำว่า “เฟล” แล้วจะต้องอย่างไรจึงจะสามารถลุกขึ้นมาใหม่ได้

ซึ่งได้รับคำแนะนำดีๆจาก “เลอทัด ศุภดิลก” ที่เคยผ่านความล้มเหลวในการทำธุรกิจมาแล้วถึง 3 ครั้ง จนที่สุดก็สร้าง Sellsuki (เซลสุกิ) ได้สำเร็จในทุกวันนี้

“ สิ่งที่เราคิดมันเด็กเกินไป เราไม่เข้าใจวงการจริงๆ”
“การเทสต์ตลาด ไปถามใครๆแล้วเขาบอกว่าดี กับเวลาขายจริงๆ มันเป็นคนละเรื่องกัน ”
“ไม่ใช่แค่สร้างของดีๆแล้วจะขายได้ มีเรื่องบางเรื่องที่เราคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นกลไกการทำงาน หรือเรื่องของลิขสิทธิ์”


นี่คือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจเครื่องเล่นคาราโอเกะ


“แฟนเพื่อนในทีมเรียนเรื่องนี้มาแล้วอยากทำ แต่คนในทีมเราไม่มีใครที่เป็นพ่อเป็นแม่หรือเคยเลี้ยงลูกจริงๆ สุดท้ายก็ไม่เวิร์ค ไม่ได้มีกำไรเยอะอย่างที่ต้องการ”
“สมุดนิทานของเราพ่อแม่ต้องเป็นคนอ่านให้ลูกฟัง แต่ในความเป็นจริงพ่อแม่กลับไม่อยากอ่าน แต่อยากได้เป็นแอพให้ลูกเอาไปนั่งเล่นเองมากกว่า”


นี่คือบทเรียนจากธุรกิจสมุดนิทาน ส่วนธุรกิจที่สามเป็นเสื้อแฟชั่นสั่งตัด ที่เปิดขึ้นมาเพียงเพราะมีคนเห็นโอกาสทางการตลาดและมาว่าจ้างเขากับทีมและก็ไปไม่รอด


“เราเปิดธุรกิจพวกนี้ขึ้นมาเพราะรู้สึกว่ามันควรจะมี มันเท่ห์ดี มันเจ๋งดี” นี่ก็คือบทสรุปส่งท้ายสำหรับความล้มเหลวที่เขาได้เผชิญมา


กระทั่งเจอธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะได้ศึกษาว่าทำไมวงการดิจิทัล และอินเตอร์เน็ตที่ต่างประเทศจึงเกิดขึ้นได้ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่อีคอมเมิร์ซมักจะเป็นจุดสตาร์ทเสมอ เพราะตราบใดที่ผู้คนยังไม่ใช้จ่ายออนไลน์อุตสาหกรรมอื่นๆก็ไม่มีวันได้เกิด


"เราเลยหันมามองว่าอีคอมเมิร์ซไทยว่าเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อ 4 ปีที่แล้วเราเริ่มเห็นคนไทยขายของทางโซเชี่ยลอย่างเฟสบุ๊ค และอินสตราแกรมกันแล้ว ซึ่งมันน่าสนใจเพราะเมืองนอกไม่ได้ขายกันแบบนี้ ทำให้เราปิ๊งไอเดียหลายอย่างคือ โซเชี่ยลเป็นช่องทางที่ง่ายสำหรับตลาดประเทศที่กำลังพัฒนา แต่โซเชี่ยลพวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อให้คนขายของ ดังนั้นจะเกิดปัญหางานหลังบ้านเยอะมาก ซึ่งเรารู้ว่าคอมพิวเตอร์เก่งในเรื่องนี้ และเราคิดว่าน่าจะสร้างโปรดักส์ที่ทำให้คนยอมจ่ายเงินได้"


ต้องบอกว่าเลอทัด กับเพื่อนๆทำธุรกิจที่ปรึกษาธุรกิจ คู่ขนานกับธุรกิจอื่นๆมาตั้งแต่ต้น แน่นอนว่ามีความรู้มีความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเป็นอย่างดี เรื่องของอีคอมเมิร์ซจึงถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เกินกำลัง


นี่คือที่มาของเซลสุกิ ซึ่งมีความหมายว่า “รักการขาย” และเวลาต่อมาก็ถูกส่งเข้าไปในโครงการศูนย์บ่มเพาะแบตซ์แรกของ “ทรู อินคิวบ์”


"โครงการนี้เขาให้ทุนและยังสนับสนุนในหลายๆด้าน เรามองว่าถ้าไม่มีเงินพอที่จะโฟกัสอะไรอย่างจริงจัง โปรดักส์ก็จะช้า เราจะขยับตัวช้า และเราก็ตัดสินใจเลิกทำทุกอย่างทุกโปรเจ็คเพื่อมาทำเซลสุกิเพียงอย่างเดียว"


แต่ยอมรับว่าวิชั่นของเซลสุกิตอนเริ่มต้นกับตอนนี้มีสิ่งที่เหมือนและไม่เหมือนกัน ที่เหมือนกันคือการเป็นระบบหลังร้าน ระบบหลังบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องงานที่ซ้ำซากจำเจ

"ปัญหาของผู้ประกอบการไทยคือ ขี้งกและไม่คิดเงินเดือนตัวเอง เอางานเวลาไปทำอะไรที่ไม่มีคุณค่า ต้นทุนก็สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ ดังนั้นที่ต้องทำคือควรพัฒนาเรื่องของความคิดสร้างสรรค์"


ส่วนที่ไม่เหมือนก็คือ ในตอนแรกเซลสุกิมุ่งเน้นโซเชี่ยลเป็นหลัก และเกาะติดกับเฟสบุ๊คเพียงอย่างเดียว จนเวลาผ่านไปเกือบปีก็เริ่มเห็นว่าการทำอย่างนี้จะมีขีดจำกัด


" หนึ่ง เราผูกกับเฟสบุ๊คมากเกินไป ถ้าเฟสบุ๊คตัดไม่ให้เราเชื่อมต่อเมื่อไหร่เราก็ทำงานต่อไม่ได้ สองเรารู้สึกว่าโซเชี่ยลเป็นแค่ช่องทางๆหนึ่งในการขายที่ไม่ถาวร เราเลยใช้เวลาหนึ่งปีในการปรับระบบ คือเขียนระบบขึ้นมาใหม่หมดเลย"


เซลสุกิระบบระบบใหม่ซึ่งถือเป็นเวอร์ชั่นที่สองแล้วเสร็จและลอนซ์ไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วและมุ่งเป็นระบบหลังร้าน ระบบบริหารอีคอมเมิร์ซที่รองรับโซเชี่ยล รองรับการขายผ่านแชท ด้วยสโลแกน "ระบบบริหารร้านค้าโซเชียล คุยง่าย ขายไว ส่งเร็ว"


"เราต้องการเป็นระบบหลังบ้านที่ค้าขายได้หลายช่องทาง สุดท้ายแล้วพอลูกค้าแชทมาเดินมาหน้าร้าน หรือเข้าเว็บ ร้านค้าก็อยากจะรู้ว่าเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า เพราะคนซื้อเขาไม่ได้ซื้อออนไลน์อย่างเดียว เขาเดินไปที่หน้าร้านด้วย หรือโลจิสติกส์เขาสั่งของทางออนไลน์แต่เวลาคืนเขามาคืนที่หน้าร้าน ก็เป็นไปได้หมด หรือเข้าหน้าร้านแต่สั่งทางออนไลน์ก็มี เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นระบบที่รองรับได้ในทุกช่องทาง"


เลอทัดมองภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในเวลานี้ว่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และสาเหตุที่คนต่างก็ดาหน้ามาที่ตลาดออนไลน์เป็นเพราะสมาร์ทโฟนถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น


ส่วนในแง่ของการแข่งขัน เขากลับไม่ได้มองคู่แข่งที่ทำธุรกิจเหมือนๆกัน ในตลาดที่ยังไม่มีเจ้าตลาดอย่างจริงจัง พฤติกรรมเดิมๆของผู้ประกอบการกลุ่มลูกค้าจึงเป็นเรื่องที่ต้องแข่งที่ต้องเอาชนะ ซึ่งยังคงบันทึกการขายในเอ็กเซลเป็นส่วนใหญ่ จึงหมายถึงความพยายามในการสร้างความเข้าใจ และให้พวกเขาได้ทดลองใช้


“ ตั้งแต่เปิดตัวเวอรชั่นที่สองไปผลตอบรับก็ดีมาก แต่ละเดือนเรามีอัตราเติบโตถึง 30% ถือว่าสิ่งที่เราทำขึ้นมามีคุณค่าจริง”


ถามถึงพัฒนาการของสตาร์ทอัพไทย เลอทัดมองว่า หนึ่ง สตาร์ทอัพที่ไม่ได้โฟกัสในตัวธุรกิจจะอยู่ได้ไม่นาน สอง ส่วนใหญ่คนที่กระโจนเข้ามามักยังอายุน้อยขาดประสบการณ์ในการทำงาน ไม่ค่อยเข้าใจในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆมาก่อน เลยอยู่ได้ไม่นานเช่นเดียวกัน การทำธุรกิจไม่ใช่แค่เก่งแต่ต้องมีชั่วโมงบินด้วย


"มีสถิติบอกว่าสุดท้ายคนที่เรสฟันด์ได้ มักมีอายุ 30 กลางๆ เพราะวีซีจะมองที่ตัวเลขซึ่งคนที่จะสามารถสร้างผลงานได้ตามนั้นก็มักเป็นคนที่มีประสบการณ์ทำงาน เรื่องของเน็ทเวิร์ต หรือคอนเน็กชั่นก็มีความสำคัญ ยิ่งไทยเราเป็นประเทศเล็ก คอนเน็คชั่นก็ยิ่งสำคัญ"


สำหรับข้อแนะนำก็คือ น้องๆนักศึกษาที่ต้องการทำสตาร์ทอัพ ควรไปหาประสบการณ์โดยไปทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพก่อนทำเอง หรือไปทำงานในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีความสนใจเสียก่อน


ต้องอย่าลืมว่าที่เขากล้าพูดอย่างนี้ก็เพราะเคยผ่านการเฟลมาก่อน คนที่อาบน้ำร้อนมาก่อนน่าจะช่วยตั้งหลักและลดความเสี่ยงได้ดียิ่งกว่า..ไม่มากก็น้อย

วิธีมองโลกอนาคต


เลอทัดบอกว่าในอนาคต เทคโนโลยีก็ยิ่งจะทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกันได้มากยิ่งขึ้น และงานที่ซ้ำซากจำเจมันจะหายไป พอโลกแบนยิ่งขึ้น ถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับตัวก็จะอยู่ได้ยาก ดังนั้นมิชั่นของเซลสุกิก็คือ จะทำอย่างไรที่จะคอนเน็กคนซื้อกับคนขายให้เข้าหากันได้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ


"ถามว่าผมคาดเดาแนวโน้มข้างหน้าอย่างไร ผมจะดูเทรนด์พัฒนาว่ามันเป็นอย่างไร อย่างเอไอหรือสมองกลที่เทรนด์กำลังมา เราได้ศึกษาก็เริ่มรู้ว่ามันทำอะไรได้บ้าง อีกเซ็คชั่นหนึ่งที่เราดูก็คือ พฤติกรรมธรรมชาติของมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร ที่สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องพูดคุยกันด้วยความเป็นมนุษย์ เทคโนโลยีจึงจะอยู่ได้"


ทั้งยังอ้างอิง “สตีฟ จ็อบส์” ที่เคยกล่าวไว้ว่า แอปเปิ้ลที่สร้างขึ้นมาจนยิ่งใหญ่และถูกใจคนทั่วโลกได้เพราะแอปเปิ้ลไม่ได้เป็นเทคโนโลยี แต่เป็นอะไรที่อยู่ตรงกลางระหว่างเทคโนโลยีกับศิลปะ


"ผมเองก็เหมือนกันที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์จ๋า ผมชอบงานดีไซน์ งานครีเอทีฟ เป็นมาร์เก็ตติ้งที่เข้าใจไอที ดีไซน์เนอร์ทุกวันนี้ถ้าเขียนโค้ดดิ้งไม่เป็น ก็ดีไซน์ไม่ได้ โปรแกรมเมอร์เองถ้าไม่เข้าใจเรื่องดีไซน์ ก็สร้างโปรแกรมที่ใช้งานได้ไม่ดี อนาคตโลกมันครอสฟังก์ชั่นนอล เราต้องทำงานข้ามสายงานกันได้"