ความตายบนสายน้ำ “แม่กลอง”

ความตายบนสายน้ำ “แม่กลอง”

คงไม่ใช่เรื่องปกติที่สัตว์ป่าคุ้มครองและเสี่ยงสูญพันธุ์จะพากันพาเหรดตายบนสายน้ำที่ได้ชื่อว่า อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

“ตั้งแต่ผมเกิดมาไม่เคยเจอแบบนี้เลยนะ” ประพัฒน์ สุทธินิมิตร บอกเนิบๆ พร้อมทิ้งสายตาไปบนแม่น้ำแม่กลองที่กำลังไหลบ่าลงสู่ทะเลอ่าวไทย แม่น้ำที่เขาถือว่าเป็นเส้นเลือดสายใหญ่ แต่ในวันนี้ไม่ปลอดภัยอย่างที่คิดอีกแล้ว


การตายอย่างเป็นปริศนาของปลากระเบนราหู ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างความตื่นรู้ให้กับผู้คนไปทุกวงการ เพราะนี่ไม่ใช่การตายตามธรรมชาติ แต่เป็น “ฆาตรกรรม” ซึ่งนักวิชาการยืนยันว่า ปลากระเบนเหล่านั้นโดนสารพิษชนิดเฉียบพลัน ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่แห่งสายน้ำพากันสิ้นใจตายเกลื่อนแม่น้ำแม่กลองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา


ขนาดปลาที่ได้ชื่อว่าอึด และอดทนที่สุดยังโบกมือลา นับประสาอะไรกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ยังต้องพึ่งพาสายน้ำแห่งนี้ในการหล่อเลี้ยงชีวิต

“ปลายักษ์” ในตำนาน


ไม่แปลกที่ผู้คนบางส่วนในละแวกแม่กลองจะไม่รู้จักปลากระเบนราหูซึ่งอยู่คู่แม่น้ำแม่กลองมานานชั่วนาตาปี เพราะโดยธรรมชาติของปลากระเบนชนิดนี้มักหากินอยู่ตามหน้าดินในท้องน้ำ จึงไม่ค่อยปรากฏตัวให้พบเห็นมากนัก


กระทั่งเกิดเหตุการณ์พบ “ซาก” กว่าครึ่งร้อยลอยอยู่ทั่วไปในแม่น้ำนั่นแหละ ปลากระเบนราหูจึงเข้ามาอยู่ในการรับรู้ของผู้คนอีกครั้ง


“จะเห็นว่า วันนี้ชาวบ้านหรือคนในจังหวัดสมุทรสงครามเขาตื่นตัวกับการที่มีปลาของเขาตาย ถึงแม้จะไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจ หรือปลาเลี้ยง แต่เมื่อเขาเห็น เขาแจ้งเจ้าหน้าที่ เขาให้ความร่วมมือ และตระหนักถึงสิ่งนี้ ผมว่านี่คือท่าทีที่ดีที่ชาวบ้านมีต่อปลากระเบน” ร้อยโทพัชรโรดม อุนสุวรรณ ประธานชมรมอนุรักษ์ปลากระเบนสมุทรสงคราม กล่าว


กระเบนราหูน้ำจืด หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ กระเบนเจ้าพระยา เป็นปลากระดูกอ่อนน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลากระเบนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากกระเบนแมนตา หรือกระเบนราหูน้ำเค็ม โดยมีขนาดกว้างราว 2.5-3 เมตร น้ำหนักตัวอาจมากถึง 600 กิโลกรัม


ปลากระเบนราหูมักพบอยู่ตามแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่จนถึงบริเวณปากแม่น้ำ โดยพบครั้งแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงถูกเรียกว่า กระเบนเจ้าพระยา และยังมีแหล่งอื่นๆ อีก เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำโขง แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำตาปี รวมถึงในต่างประเทศอีกหลายแห่ง ทั้งแถบบอร์เนียว และ นิวกินี ไปจนถึงออสเตรเลีย


นอกจากจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แล้ว สถานภาพของกระเบนราหูในปัจจุบันจากฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทยของสำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangers) แต่สถานภาพที่สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN จัดไว้ใน The IUCN Red list of threatened Species เมื่อปี พ.ศ. 2543 นั้น ปลากระเบนเจ้าพระยาจัดอยู่ในหมวดใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) เลยทีเดียว


“วงการวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติให้ความสำคัญมาก ถือเป็นสัตว์น้ำจืดขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดในโลก จริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย มีหลายแหล่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่ผ่านมาในวงการวิทยาศาสตร์ไม่มีความรู้เรื่องขนาด การเติบโต หรือแม้กระทั่งประเภทของพิษว่าเป็นอย่างไร แม่กลองเองสนใจเรื่องกระเบนราหูเพราะเมื่อ 8 ปีที่แล้ว หมอหนิ่ง (รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ) เข้ามาทำงานวิจัยในพื้นที่ ซึ่งตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เราได้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเยอะ” ประธานชมรมอนุรักษ์ปลากระเบนสมุทรสงคราม กล่าว

ปริศนาว่าด้วย “ความตาย”


การค้นพบปลากระเบนราหูตัวแรกที่ลำน้ำเจ้าพระยาในปี พ.ศ.2526 ถือเป็นการค้นพบใหม่ของโลก มีความพยายามในการศึกษาพฤติกรรม และวงจรชีวิตของยักษ์ใหญ่แห่งสายน้ำอยู่บ้าง แต่ก็ดูจะยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เพราะปลากระเบนชนิดนี้จะอาศัยอยู่ตามหน้าดิน ไม่ค่อยปรากฏตัวให้เห็นนัก และการจับปลาขึ้นมาเพื่อการศึกษาวิจัยก็ทำได้ยาก


กระทั่ง รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ และอาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมงานได้ลงพื้นที่บริเวณแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อทำการวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลของปลาในตำนานจึงค่อยๆ ปรากฏขึ้น ในวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งแม้จะไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดของปลากระเบนชนิดนี้ได้ แต่ตลอด 8 ปีที่ทำงานก็มีการฝังไมโครชิพบริเวณหางปลาไปแล้วราว 200 ตัว


หมอนันทริกาว่า ปลากระเบนราหูที่ฝังไมโครชิพไปนั้นมีการติดตามผล และสามารถจับปลาที่ฝังชิพกลับมาได้ 8 ตัว ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ปลากระเบนราหูออกลูกได้ครั้งละประมาณ 2-7 ตัวต่อครั้งในช่วงระยะเวลา 1-2 ปี ซึ่งปลาแรกคลอดจะมีขนาดประมาณ 38-42 เซนติเมตร ส่วนการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณปีละ 3-5 เซนติเมตร


ฉะนั้นเมื่อพบปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า 1.5 เมตร จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นปลามีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป


“น่าเสียดายมาก” หมอนันทริกา หมายถึงกรณีปลากระเบนราหูที่ลอยตายเกลื่อนแม่น้ำแม่กลองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะบอกว่า มีการลงพื้นที่ทันทีที่ได้รับแจ้ง และจากการตัดชิ้นเนื้อบางส่วนไปตรวจ พบว่า ในกระเพาะปลาทั้งหมดไม่พบอาหารที่เป็นพิษ แต่...


“ปลาที่ขึ้นมาเกยตื้น และเสียชีวิต เกิดจากการได้รับสารที่เป็นพิษต่อระบบไตและระบบเหงือก ทำให้ความสามารถในการควบคุมความสมดุลของร่างกายเสียไป สารพิษอะไรบอกไม่ได้ คงต้องไปดูจากการซักประวัติของคนที่อยู่ในพื้นที่ว่า ในบริเวณนั้นมีการปล่อยอะไรออกมาบ้าง แต่ว่าเท่าที่เราดูในเบื้องต้นไม่น่าจะใช่สารพวกยาฆ่าแมลง”


ที่หมอนันทริกามั่นใจว่าไม่ใช่ยาฆ่าแมลง เพราะฤทธิ์การทำลายล้างจะไปลงที่ตับ แต่ว่าตับปลากระเบนที่ตรวจดูไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก มีแต่ไตและระบบเหงือกที่ได้รับพิษชนิดเฉียบพลัน และจากการตรวจเลือดก็พบว่ามีค่าเลือดสูงกว่าปกติ 30-40 เท่าเลยทีเดียว


เรื่องนี้ ร้อยโทพัชรโรดม อุนสุวรรณ สนับสนุนอย่างเต็มที่ว่า น่าจะเกิดจากสารพิษ เพราะหากเป็นการขาดออกซิเจนธรรมดา ปลาหรือสิ่งมีชีวิตใต้น้ำทุกชนิดจะต้องได้รับผลกระทบพร้อมๆ กัน แต่นี่มีเพียงแค่กระเบนราหูเท่านั้นที่ถูกสังหารก่อนใครเพื่อน


“น่าจะเป็นสารพิษแน่นอน เพราะถ้าน็อคน้ำ มันจะมีทุกปี คือ น้ำจะมาแบบนี้ทุกปี ถ้าเราดูข่าวช่วงนี้ของสมุทรสงครามราวตุลาฯ พฤศจิกาฯ จะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘แพลงก์ตอนบูม’ คือน้ำจืดไหลลงทะเลปริมาณสูง สาหร่ายมีค่าออกซิเจนต่ำ กลุ่มที่เลี้ยงหอยแมลงภู่จะได้รับผลกระทบ แต่เหตุการณ์พวกนั้นไม่เคยปรากฏว่า ปลากระเบนได้รับผลกระทบ เลยมองว่า การน็อคน้ำ หรือ ค่าออกซิเจนต่ำอาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ค่าออกซิเจนต่ำทำให้สัตว์น้ำอ่อนแอ แต่สารปนเปื้อนที่ได้รับเข้าไป คือ ตัวเร่งให้เกิดการเสียชีวิต ซึ่งกระเบนที่เราเห็นซากมันเป็นเพียงแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ของการตายทั้งหมดเท่านั้น”

“แม่กลอง” สายน้ำแห่งชีวิต


ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ นักวิจัยท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม บอกว่า ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ปลาขนาดใหญ่จะลอยตายเหมือนโดนยาเบื่อแบบนี้ แต่ที่ยังเป็นปริศนาอยู่ก็คือ ทำไมปลาใหญ่จึงตายมากกว่าปลาเล็ก ปลาน้อยชนิดอื่นๆ


“โดยทั่วไปปลากระเบนจะมีความทนต่อความอ่อนไหวค่อนข้างสูง ถ้าไม่รุนแรงมากพวกนี้จะไม่ขึ้นมา แต่คราวนี้ ถ้าดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระเบนราหูที่เจอกลายเป็นว่า ไปเจอบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง หรือลำคลองสาขา เกือบถึงทะเลแล้ว ซึ่งมันผิดปกติ เพราะตามธรรมดามันไม่ได้ออกไปไกลขนาดนั้น แสดงว่า มันหนีออกไป ในแม่น้ำต้องมีปัญหา มันต้องมีการระบายหรือปล่อยอะไรออกมาจากระบบลงสู่ลุ่มน้ำใหญ่ เรายืนยันไม่ได้ว่า มาจากแหล่งไหน แต่สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากแหล่งที่อยู่ตอนบนขึ้นไป”


ไม่เพียงแค่ปลากระเบนเท่านั้นที่ส่งสัญญาณว่า น้ำในแม่น้ำแม่กลองกำลังมีปัญหา เพราะปลากระพงที่ลอยเกลื่อนส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วคุ้งน้ำ รวมถึงกุ้งก้ามกรามที่ไม่ยอมกินเหยื่อ ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนถึงความอ่อนแอของแม่น้ำสายสำคัญแห่งนี้ได้ดี


“เราไม่สามารถดูว่า ระบบใหญ่ใครปล่อยอะไรลงมาบ้าง การมอนิเตอร์อย่างรวดเร็ว หรือการควบคุม การจัดการอย่างรวดเร็วอาจจะทำไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในอดีตการเสียของแม่น้ำมันจะส่งสัญญานมาตั้งแต่ปลาในกระชัง หรือกุ้งแม่น้ำจะลอยหัวขึ้นมา แต่ครั้งนี้สัญญานนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเท่าไร มันเพิ่งจะมาเกิดขึ้นกับสัตว์เล็กช่วงหลัง อันนี้ก็น่าจะถึงเวลามาพูดคุยกันว่า ควรจะมอนิเตอร์คุณภาพน้ำในลุ่มน้ำแม่กลองและมีการติดตามอย่างไร”


สอดคล้องกับความคิดเห็นของ สุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรงสงคราม และสมาชิกประชาคมคนรักแม่กลอง ที่บอกว่า การตรวจสอบคุณภาพน้ำของเจ้าหน้าที่ทุกวันนี้ล่าช้าเกินกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง


“ปัญหาของเราคือเวลามีเหตุมลพิษทางน้ำ หน่วยงานกว่าจะเข้าไปตรวจก็ช้าไปแล้ว เขาปล่อยของเสียศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และปล่อยในหน้าฝน ก็ผสมโรงกันไป ถ้าไม่มีการเก็บตัวอย่างน้ำภายใน 6 ชั่วโมงก็สายไปแล้ว


ในสายน้ำจะต้องมีน้ำเสียจากบ้านโป่ง โพธารามทุกปี หน่วยงานทำอะไร สั่งปิดโรงงาน ปรับปรุง ซึ่งกฎหมายมันไม่ควรเป็นแบบนั้น มันต้องรวบรวมความเสียหายทั้งหมด นี่คือสิ่งที่ไม่เคยทำเลย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ผู้กระทำความผิดต้องรับผิดชอบทั้งหมด แต่เราไม่เคยทำได้ นอกจากคลิตี้กับแม่เมาะ มันต้องมีค่าบำบัดฟื้นฟู ค่าเสียโอกาส ค่าอะไรต่อมิอะไร แต่เราไม่เคยมีการคำนวณ”


สำหรับกระเบนราหูน้ำจืดนั้น สุรจิต บอกว่า มีความสำคัญไม่ต่างจากหมีแพนด้า ประชาชนจึงต้องการคำตอบทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้


ปฏิเสธไม่ได้ว่า แหล่งน้ำจืดของโลกทุกวันนี้กำลังได้รับสารปนเปื้อนทั้งจากภาคเกษตร ครัวเรือน และอุตสาหกรรม ซึ่งบางจุดของสายน้ำอาจเป็นที่อยู่ของประชากรกระเบนราหูชุดสุดท้ายของโลก..


หากไม่มีมาตรการจัดการมลพิษทางน้ำอย่างเร่งด่วน ก็เป็นไปได้ว่า “ราหูน้ำจืด” ที่เคยเป็นตำนานก็อาจจะยังคงเป็นตำนานอยู่ตลอดไป