ตีปี๊บ “คาร์บอมบ์ป่วนกรุง” เฝ้าระวังข่าวลบหรือกลบทริปฮาวาย

ตีปี๊บ “คาร์บอมบ์ป่วนกรุง” เฝ้าระวังข่าวลบหรือกลบทริปฮาวาย

การเรียกประชุมอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นเรื่องเป็นราวของฝ่ายตำรวจ นำทีมโดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.

เพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันการก่อวินาศกรรมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อวันจันทร์ที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความตื่นตระหนกไม่น้อย

โดยเฉพาะการยอมรับตรงๆ ว่ามีการแจ้งเตือนเรื่องการลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ตามพื้นที่ล่อแหลมต่างๆ ในเมืองหลวงและใกล้เคียง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ลานจอดรถ สถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่ที่มีคนไปชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก

หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าการส่งสัญญาณเตือนการก่อเหตุร้ายในเขตเมืองหลวงครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และเหตุใดตำรวจจึงทำเหมือนเป็น “อีเวนท์” มีการส่งกำลังปูพรมเอ็กซเรย์พื้นที่ล่อแหลมหลายจุดทั้งย่านหัวหมากและมีนบุรี

ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า เป็นการแจ้งเตือนปกติที่มีมาตลอด หนำซ้ำยังตำหนิสื่อมวลชนว่าอย่ารายงานข่าวแบบขยายความ เพราะจะยิ่งสร้างความตื่นตระหนก

จากการตรวจสอบของ “ทีมล่าความจริง” พบว่า การเตรียมการเฝ้าระวังเหตุร้ายเที่ยวนี้ มีการประชุมใหญ่ของหน่วยงานความมั่นคงมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นแม่งาน ทั้งนี้เพื่อเตรียมการรักษาความปลอดภัยการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ เอซีดี ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค. ซึ่งอาจมีกลุ่มฉวยโอกาสก่อเหตุรุนแรง

โดยกลุ่มที่อยู่ในเป้าหมายถูกจับตามี 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มก่อการร้ายสากล โดยเฉพาะ “กลุ่มรัฐอิสลาม” หรือ ไอเอส ที่มีเครือข่ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจฉวยจังหวะก่อเหตุในการประชุมระดับนานาชาติแบบนี้

2.กลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 3.กลุ่มการเมืองในประเทศ

ทั้งนี้ ที่ประชุมให้น้ำหนักไปที่กลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะบีอาร์เอ็นแตกแถวที่มีฝ่ายการเมืองหนุนหลัง ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยก่อเหตุรุนแรงมาแล้ว ทั้งเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เมื่อวันที่ 10-12 ส.ค.ที่ผ่านมา และเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว

ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากเดือน ต.ค. มีวันสัญลักษณ์ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายวัน รวมถึงเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ในอดีตด้วย เช่น วันที่ 10 ต.ค.เป็นวันสถาปนาฝ่ายกองกำลังของบีอาร์เอ็น, วันที่ 12 ต.ค.เป็นวันประกาศธรรมนูญของขบวนการพูโลใหม่ เมื่อปี 2532 หรือวันที่ 25 ต.ค.ก็ตรงกับเหตุการณ์ตากใบ เมื่อปี 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน เป็นต้น

สำหรับเดือน ต.ค.ของทุกปี เป็นเดือนที่มีสถิติเหตุรุนแรงค่อนข้างสูงมาตลอด ทำให้ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จัดทำ “ปฏิทินความรุนแรง” โดยใช้ปฏิทินของปีที่แล้ว นำมาบรรจุข้อมูลแจ้งเตือนและเหตุการณ์อ่อนไหวในแต่ละวันเข้าไป เพื่อให้ทุกหน่วยใช้เตือนความจำและเฝ้าระวังร่วมกัน

แต่ข้อมูลทั้งหมดยังคงเป็น “ข่าวสาร” ในระดับ “แจ้งเตือน” การประชุมเพื่อวางมาตรการเฝ้าระวัง เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่การให้ข่าวผ่านสื่อของบางหน่วยในลักษณะ “ตีปี๊บ” เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ ต้องย้อนถามว่ามีความจำเป็นแค่ไหนเพียงใด

โดยในการประชุมประชาคมข่าวกรองล่าสุดเมื่อวาน ก็มีการหารือกันถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะความเป็นไปได้ที่ขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะขยายพื้นที่ปฏิบัติการมายังกรุงเทพมหานคร

หน่วยข่าวจากชายแดนใต้ให้ข้อมูลว่า แม้การขยายพื้นที่ปฏิบัติการจะเป็นยุทธวิธีหนึ่งของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะ “บีอาร์เอ็น” ที่มีศักยภาพมากพอ แต่ยุทธวิธีแบบนี้จะไม่ทำกันบ่อยๆ เพราะจะ “เสียมวลชน” ของคนสามจังหวัดที่ออกไปหางานทำตามพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ ทั่วประเทศ

ฉะนั้นหากเชื่อว่าระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนเป็นฝีมือบีอาร์เอ็น ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะทำซ้ำอีกในช่วงนี้

ส่วนการเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองในประเทศ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน

ข่าวใหญ่ที่ออกมาว่าด้วย “คาร์บอมบ์ป่วนกรุง” จึงยังไม่มีความชัดเจนในทางความมั่นคงถึงขนาดต้องตีปี๊บขยายข่าว

ผลของมันจึงมีเพียงประการเดียว คือกลบข่าวร้ายๆ ที่กระทบกับใครบางคนในรัฐบาลช่วงก่อนหน้านี้...และวันนี้ข่าวทริปฮาวายก็หายไปกับสายลมเรียบร้อย!