ทำไม ‘ทีพีไอพีพี’ โดนใจ ‘ขาใหญ่’

ทำไม ‘ทีพีไอพีพี’ โดนใจ ‘ขาใหญ่’

ฐานะการเงิน “ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” โดดเด่น ความสวยสะดุดตา “เซียนหุ้นรายใหญ่”

ความสำเร็จของการเป็น เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คิดเป็นกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ ผลักดันให้ “นักลงทุนรายใหญ่” ต้องการครอบครอง “หุ้นไอพีโอ” บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP บริษัทในเครือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน หรือ TPIPL ของ “ตะกูลเลี่ยวไพรัตน์” ที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลางเดือน พ.ย.นี้ (TPIPL ถือหุ้น TPIPP หลังเข้าตลาดหุ้น 70%)

โดยเฉพาะ “เซียนหุ้นรุ่นลายคราม” บนชั้น 21 ของอาคารสำนักงาน ดิ ออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ไม่ว่าจะเป็น “นเรศ งามอภิชน” “เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” “เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” หรือแม้กระทั่ง “เสี่ยจึง-วิชัย จึงทรัพย์ไพศาล” เป็นต้น

“นเรศ งามอภิชน” เซียนหุ้นรายใหญ่ ในฐานะผู้ถือหุ้น บมจ.ทีพีไอ โพลีน หรือ TPIPL สัดส่วนเฉลี่ย 4% เล่าความสวยฉบับย่อของหุ้น TPIPP ให้ฟังว่า การเป็น เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเจ้าแรกในประเทศไทย ถือเป็น “จุดเด่นสำคัญ” ขององค์กรแห่งนี้ เพราะในเมืองไทยยังไม่มีใครสามารถดำเนินการได้

ส่วนในแง่ของ “ฐานะการเงิน” หากพิจาณาจากแผนขยายกำลังการผลิตของบริษัท จาก 150 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน เป็น 440 เมกะวัตต์ในปี 2560 ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นบริษัทมี “กำไรสุทธิ” เพิ่มขึ้น "เท่าตัว" ในปี 2560 เมื่อเทียบกับส้ินปีนี้ที่อาจมีกำไรสุทธิประมาณกว่าสองพันล้านบาท (6 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิแล้ว 1,135.95 ล้านบาท)

ทั้งนี้กำลังการผลิตใหม่อาจทยอยเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2560 เฉลี่ย 90 เมกะวัตต์ ฉะนั้นโอกาสจะเห็นบริษัทจ่ายเงินปันผลเฉลี่ย 4-5% สำหรับผลประกอบการปี 2559 ย่อมเป็นไปได้

“หลัง TPIPP เข้าตลาดหุ้น มาร์เก็ตแคปอาจยืนระดับเฉลี่ย 67,000 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่า TPIPL ที่อยู่ระดับ 50,000 ล้านบาท” นักลงทุนรายใหญ่ วิเคราะห์เช่นนั้น  

กูรูตลาดหุ้น เล่าต่อว่า ในฐานะผู้ถือหุ้น TPIPLจะได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นไอพีโอTPIPP ประมาณ 5 ล้านหุ้น (162 หุ้น TPIPL ได้สิทธิ 1 หุ้น TPIPP) แม้จะเป็นจำนวนที่ค่อนข้างน้อย แต่ได้แสดงความจำนง ผ่านบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินไปแล้วว่า มีความพร้อมที่จะซื้อหุ้นไอพีโอในจำนวนมาก

เหตุใดหุ้น TPIPL ย่ำอยู่ที่เดิม “นเรศ” แสดงความคิดเห็น ในฐานะนักลงทุนรายหนึ่งว่า ในทางบัญชีบริษัทมีการบันทึกสินทรัพย์ไว้ค่อนข้างสูง เพื่อแก้ปัญหาในอดีต ส่งผลให้แต่ละปีสามารถโชว์กำไรสุทธิได้น้อย แต่หลังจากนำบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้นเรียบร้อยแล้ว TPIPL คงกลับมาจัดการเรื่องสินทรัพย์ใหม่อีกครั้ง ฉะนั้นเมื่อได้รับการจัดระเบียบใหม่ ราคาหุ้นอาจขยับตามปัจจัยพื้นฐาน

“การเป็นเจ้าของ 3 ธุรกิจ คือ โรงไฟฟ้าขยะ,ปูนซีเมนต์ (กำลังการผลิตปูนใกล้เคียงกับปูนซีเมนต์นครหลวง) และเม็ดพลาสติก LDPE/EVA อาจทำให้มาร์เก็ตแคปของ TPIPL ทะยานแตะระดับ “แสนล้าน” ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” นายนเรศ แสดงความคิดเห็นส่วนตัวเช่นนั้น 

บมจ.ทีพีไอ โพลีน พาวเวอร์ เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 2,500 ล้านหุ้น และเดินสายโรดโชว์กับนักลงทุนทั่วไป รวมถึงสถาบันทั้งในและต่างประเทศภายในเดือนต.ค.นี้ โดยจะนำเงินระดมทุนกว่าหมื่นล้านบาทไปขยายธุรกิจ และชำระหนี้ หวังลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) จาก 0.84 เท่า เหลือ 0 เท่า