ธปท.เกาะติดเกณฑ์สหรัฐ ลุ้นรอดบัญชี ‘บิดเบือนค่าเงิน’

ธปท.เกาะติดเกณฑ์สหรัฐ  ลุ้นรอดบัญชี ‘บิดเบือนค่าเงิน’

ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พยายาม“ดูแล”ค่าเงินบาท เพื่อรักษาระดับการแข็งค่าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเข้า

“แทรกแซง”ในตลาดการงิน ด้วยการ“ซื้อเงินดอลลาร์”มาเก็บไว้ในรูปเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

เฉพาะปีนี้ ธปท. เข้าซื้อเงินดอลลาร์รวมกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ส่งผลให้“มูลค่าสุทธิ”เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มอยู่ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 20% เมื่อเทียบกับปลายปีที่ผ่านมา

ทว่า ความพยายามดังกล่าว แม้จะช่วยให้เงินบาท“มีเสถียรภาพ”โดยระดับการแข็งค่า ถือว่าอยู่เฉลี่ยตรงกลางของภูมิภาค ขณะที่ค่าความผันผวนต่ำเกือบสุด แต่ความพยายามนี้ก็ทำให้เงินบาท“ถูกจับจ้อง”จากผู้ลงทุนต่างชาติมากขึ้น และเริ่มมีคำถามเกี่ยวกับ“ความเสี่ยง”ที่ไทยอาจ“ถูกขึ้นบัญชี”ประเทศที่มีการ“บิดเบือนค่าเงิน”จากสหรัฐอเมริกา

เมื่อไม่นานมานี้“เมอร์ริลลินซ์”ออกบทวิเคราะห์ โดยตั้งข้อสังเกตว่า แม้ปัจจุบันไทยยังไม่อยู่ใน “ขอบข่าย” ประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงิน แต่การเข้าซื้อเงินดอลลาร์จำนวนมากของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การประกาศรายชื่อครั้งใหม่ของกระทรวงการคลังสหรัฐ อาจมีชื่อ“ประเทศไทย”อยู่ในกลุ่ม“เฝ้าจับตา”หรือ“มอนิเตอริ่ง ลิสต์”ก็เป็นได้ เนื่องจากสถานะไทยขณะนี้นับว่าติด 2 ใน 3 ของกฎเกณฑ์กระทรวงการคลังสหรัฐแล้ว

โดยเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังสหรัฐใช้พิจารณาว่า ประเทศคู่ค้าหลักใดมีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐ ประกอบด้วย 3 ข้อหลัก คือ 1.เป็นประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ของจีดีพี 2.มีการแทรกแซงค่าเงินโดยการซื้อเงินตราต่างประเทศมากกว่า 2% ของจีดีพี และ 3.มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

หากเข้าเกณฑ์ 2 ใน 3 ข้อที่ว่านี้ จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม มอนิเตอริ่ง ลิสต์ ของกระทรวงการคลังสหรัฐ แต่ถ้าเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อเลย ก็ต้องเข้าสู่หมวดของการเจรจาเพื่อหาแนวทางแก้ไข

ถ้าดูจากเกณฑ์ที่ว่านี้ ค่อนข้างชัดว่าสถานะของไทยติด 2 ใน 3 ของกฎดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 8% ของจีดีพี และที่ผ่านมาก็เข้าซื้อเงินดอลลาร์เกินกว่า 2%ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของสหรัฐแน่นอน

จะมีเพียงเรื่องดุลการค้ากับสหรัฐ ที่ล่าสุดไทยมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทางการสหรัฐกำหนดไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แม้ สถานะของไทยจะติด 2 ใน 3 จนอาจเข้ามาอยู่ในกลุ่ม “มอมิเตอริ่ง ลิสต์” ของกระทรวงการคลังสหรัฐ แต่การอยู่ในกลุ่มดังกล่าวยังไม่มีผลกระทบใดๆ มากนัก นอกจากจะถูก “สอดส่อง” และอาจสร้างความอึดอัดใจในการใช้นโยบายการเงินที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนบ้าง

อย่างไรก็ตาม “เมอร์ริลินซ์” มองว่า ไทยค่อนข้างมีความเสี่ยงที่จะเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อตามที่กระทรวงการคลังสหรัฐกำหนด เนื่องจาก “ดุลการค้า” ที่ไทย “เกินดุล” กับสหรัฐ ค่อนข้างใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 2 หมื่นล้านดอลลาร์

สำหรับกรณีที่เข้าตามเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐ จะแสดงเจตนาต่อกระทรวงการคลังของไทย เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในระดับทวิภาคี โดยจะให้เวลาในการแก้ไขประมาณ 1 ปี หากยังไม่สามารถแก้ไขได้ อาจเรียกร้องให้เกิดข้อปฎิบัติ ดังนี้

1.ปฎิเสธการเข้าร่วม OPIC (OPIC opened its first ASEAN office in Bangkok 2014)

2.กีดกันผู้ประกอบการจากประเทศไทย ในการเข้ารับงานของรัฐบาลสหรัฐ

3.ให้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) จับตาดูประเทศไทย

4.ขอให้ผู้แทนการค้าสหรัฐพิจารณาการละเมิดเกณฑ์ในการเจรจาทางการค้าใดๆ

ที่ผ่านมายังไม่มีประเทศใดที่เข้าตามเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ จะมีเพียง 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเยอรมัน ที่ติดอยู่ในกลุ่ม มอนิเตอร์ริ่ง ลิสต์ เนื่องจากมีชื่อปรากฎอยู่ในรายงานที่ออกมาเมื่อเดือนเม.ย.2559

“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย”ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร มองว่า ถ้าดูตามกฎเกณฑ์ที่ว่านี้ มีความเป็นไปได้มากว่าสถานะของไทยน่าจะติดเกณฑ์ 2 ใน 3 ข้อ ซึ่งถือว่าอยู่ใน “มอนิเตอริ่ง ลิสต์” หรืออยู่ในข่ายที่ทางการสหรัฐต้องเฝ้าจับตา

แต่ “กุญแจ” ที่สำคัญอันหนึ่งอยู่ที่ว่า “ไทย” ถือเป็นประเทศ “คู่ค้าหลัก” ของสหรัฐหรือไม่ “ถ้าไม่ใช่” แม้สถานะของไทยจะเข้าตามเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ ก็ไม่มีผลอยู่ดี

“เกณฑ์ที่กระทรวงการคลังสหรัฐออกมานี้ จริงๆ เขาต้องการที่จะจับปลาใหญ่มากกว่า เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แต่บังเอิญว่าเราดันเข้าตามเกณฑ์ด้วย ซึ่งก็ต้องไปดูว่าเขานับเราเป็นประเทศคู่ค้าหลักหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร”

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเข้าตามเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ แต่ผลกระทบระยะสั้นคิดว่าไม่รุนแรง เพราะอย่างน้อยก็มีเวลาในการแก้ไขอีก 1 ปี อีกทั้งบทลงโทษที่ออกมาไม่น่าจะสร้างผลกระทบกับเรามากนัก

ทางด้าน มุมของ ธปท. ค่อนข้างมั่นใจว่า กฎเกณฑ์ที่สหรัฐออกมา ไม่น่ามีผลกระทบกับไทยมากนัก เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศคู่ค้าหลักกับทางสหรัฐ ..โดย“วิรไท สันติประภพ”ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่าเท่าที่ ธปท. ติดตามและศึกษาเกณฑ์ดังกล่าว ดูเหมือนทางการสหรัฐจะเน้นไปที่ประเทศคู่ค้าหลัก 12 ประเทศแรก ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 จึงยังไม่เข้าข่ายในเรื่องนี้

“เท่าที่ตามดูตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เรายังไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลัก อย่างรายชื่อ 5 ประเทศที่เข้าข่ายที่เขาจับตาดูอยู่ ก็มาจากประเทศคู่ค้าหลัก 12 อันดับแรก แต่ของเราอยู่อันดับที่ 20 ดังนั้นแม้เราจะเข้าเกณฑ์ 2 ใน 3 ของเขา ก็อาจจะไม่มีผลอะไรกับเรา”

วิรไท บอกด้วยว่า เท่าที่ ธปท. ติดตามดูผลกระทบในกรณีที่เข้าตามเกณฑ์ของสหรัฐ พบว่าผลขณะนี้ยังไม่ชัดเจนนัก อย่างกรณีทั้ง 5 ประเทศที่ อยู่ในข่ายซึ่งทางการสหรัฐเฝ้าจับตา ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่ ธปท. ยังคงติดตามดูสถานการณ์เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้ ธปท. เชื่อว่าไทยไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งน่าจะทำให้เรา “รอดพ้น” จากกฎเกณฑ์ดังกล่าว แต่ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่อาจประมาทได้ เพราะในวันที่ 15 ต.ค.นี้ กระทรวงการคลังสหรัฐ เตรียมประกาศรายชื่อรอบใหม่ จึงยังต้องติดตามดูว่าจะมีชื่อประเทศไทยติดอยู่ในโผด้วยหรือไม่!