หวั่น'หุ้นไทคอน' อืด ใต้ร่มเงา 'เสี่ยเจริญ'

หวั่น'หุ้นไทคอน' อืด ใต้ร่มเงา 'เสี่ยเจริญ'

หุ้น "ไทคอน" อาจมีความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องหลังจากเพิ่มทุนให้ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ บริษัทในเครือ "เจริญ วัฒนภักดี"

การที่บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) TICON ประกาศเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 735 ล้านหุ้น ให้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) หรือ FPHT ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Frasers Centrepoint Limited (FCL) บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และมีฐานะเป็นบริษัทในเครือของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ประธานกรรม กลุ่มบริษัททีซีซี กรุ๊ป โดยหุ้นเพิ่มทุนไทคอนเสนอขายราคาหุ้นละ 18 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 13,230 ล้านบาท หลังการขายหุ้นเพิ่มทุน FPHT จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 40%

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเสี่ยเจริญเข้ามามีบทบาทในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีธุรกรรมการทยอยบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี2559 ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตลาดราคาตลาดรวม(มาร์เก็ตแคป) ในหุ้นที่กลุ่มเสี่ยเจริญ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รวม 7 บริษัทพบว่า ปัจจุบันบริษัทในกลุ่มเสี่ยเจริญ มีมาร์เก็ตแคปรวมกันสูงถึง 4.1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท โออิชิ กรุ๊ป ( OISHI) มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท บริษัทยูนิเวนเจอร์ (UV)มาร์เก็ตแคป 1.1 หมื่นล้านบาท บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) มาร์เก็ตแคป 1.3 หมื่นล้านบาท บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) มาร์เก็ตแคป 1.82 แสนล้านบาท บริษัทเสริมสุข(SSC) มาร์เก็ตแคป1.5 หมื่นล้านบาท บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC)มาร์เก็ตแคป 1.7 แสนล้านบาท บริษัทอินทรประกันภัย(INSURE) มาร์เก็ตแคป 500 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทไทคอนถือเป็นบริษัทที่ ที่กลุ่มเสี่ยเจริญ ได้เข้ามาลงทุนโดยการรับซื้อหุ้นเพิ่มทุน  ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการเข้ามาลงทุนในอีกหลายๆบริษัท และการลงทุนทุกครั้ง กลุ่มเสี่ยเจริญมีเป้าหมายที่จะต้องมีอำนาจการบริหารแบบเบ็ดเสร็จ และสิ่งที่น่าสังเกตุจะเห็นว่าหุ้นในมือของกลุ่มเสี่ยเจริญ เกือบทุกบริษัท มีจำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาด(ฟรีโฟลท)อยู่ในระดับต่ำ หรือใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดที่ระดับ15% ซึ่งสะทอ้นไปถึงการเข้ามาถือครองหุ้นบริษัทไทคอนในตอนนี้ แม้การรับซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะมีสัดส่วนเพียง 40% แต่ถ้านับรวมกับสัดส่วนหุ้นที่ถือครองโดยบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ(RJANA)ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 รองจากกลุ่มเจริญถือครองไม่น้อยกว่า  30-40% ดังนั้น หากนับรวมเฉพาะผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จะถือครองรวกัน 70-80% ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ฟรีโฟลทของหุ้นไทคอน ก็น่าจะเหลือต่ำกว่า30% ดังนั้น ถ้านโยบายการถือครองหุ้นของกลุ่มเจริญ ยังไม่เปลี่ยนแปลง และเหมือนกับทุกๆบริษัทที่เคยลงทุน ก็น่าจะพอประเมินได้ว่า ชะตากรรมของหุ้นไทคอนจะเป็นอย่างไร

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า การเข้ามาถือหุ้นของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ในสัดส่วน 40% ของหุ้นไทคอน น่าจะส่งผลให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยลดลงเหลือกว่า 30% แต่สภาพคล่องก็อาจจะไม่ได้หายไปมากเมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นๆ ที่กลุ่มของเสี่ยเจริญเข้าไปถือหุ้น เพราะครั้งนี้ไม่ได้มีการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์

ส่วนในมุมของนักลงทุนรายย่อย ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหุ้นไทคอนมีการไล่ราคามาตลอด แต่การที่บริษัทไม่ถูกทำเทนเดอร์ รายย่อยจึงไม่สามารถนำหุ้นไปขายได้ เพราะฉะนั้นนักลงทุนที่ซื้อเก็งกำไรในประเด็นนี้อาจจะต้องพิจารณาขายออกไปในตลาดแทน เพราะราคาปัจจุบันต้องยอมรับว่ายังสูงกว่าราคาพื้นฐานที่ประเมินไว้ 9-10 บาท ค่อนข้างมาก