ปชช.79%เห็นด้วยกม.จัดระเบียบ 'หัวคะแนน' โชว์บัญชีทรัพย์สิน

ปชช.79%เห็นด้วยกม.จัดระเบียบ 'หัวคะแนน' โชว์บัญชีทรัพย์สิน

โพลล์ชี้ประชาชน79% เห็นด้วยกฎหมายจัดระเบียบ "หัวคะแนน" ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ชี้ให้โชว์บัญชีทรัพย์สินด้วย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “กกต. ควรทำหน้าที่อะไร"สรุปได้ดังนี้ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้การเลือกตั้งในทุกระดับ มีความสุจริตและเป็นธรรม

พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.96 ระบุว่า กกต.ควรทำหน้าที่ทั้งจัดการเลือกตั้งและกำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม รองลงมา ร้อยละ 15.68 ระบุว่า กกต.ควรทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรมเท่านั้น ร้อยละ 8.32 ระบุว่า กกต. ควรทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเท่านั้น ร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ให้ทำหน้าที่อย่างที่เคยทำอยู่, พิจารณาการรับสมัครนักการเมืองที่มีความสามารถ, ขณะที่บางส่วนระบุว่าไ ม่ควรมีกกต. และร้อยละ 2.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการให้ กกต. มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวน ไต่สวนและวินิจฉัยกรณีสงสัยว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.40 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 20.80 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.40 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ขึ้นอยู่กับผู้ควบคุม กกต. และความโปร่งใสของ กกต., ควรมีหน่วยงานอื่นร่วมด้วย, ขณะที่บางส่วนระบุว่า ควรมีหน้าที่ในการสืบสวน ไต่สวน แต่ไม่ควรวินิจฉัย และร้อยละ 2.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการมีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งระดับจังหวัดที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐผู้แทนองค์กรธุรกิจเอกชน ผู้แทนองค์กรประชาสังคมและชุมชน ทำหน้าที่อำนวยการการจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและยุติธรรม ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.68 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 11.20 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ควรรับผิดชอบอำนวยการการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก็เพียงพอ และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการให้ส่วนราชการอื่น ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้จัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ส่วน กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งเฉพาะในระดับชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.56 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 44.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ควรมี กกต. และร้อยละ 4.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งสามารถมีจำนวนหัวคะแนนได้ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด (เช่น ไม่เกิน 5 คน) และทุกคนต้องจดทะเบียนและแสดงบัญชีทรัพย์สินและรายจ่าย ในการช่วยหาเสียงตามวงเงิน ที่กฎหมายกำหนด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.84 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 16.48 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.24 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่ควรมีหัวคะแนนเลย และร้อยละ 3.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการยกเลิก กกต. จังหวัด แต่กำหนดให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งที่สรรหาจากส่วนกลาง จังหวัดละ 3 – 5 คนไปทำหน้าที่กำกับการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.56 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 34.08 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 5.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ