ปลดล็อกธุรกิจ‘ฟินเทค’เล็งผ่อนคลายไลเซนต์ที่ปรึกษา

ปลดล็อกธุรกิจ‘ฟินเทค’เล็งผ่อนคลายไลเซนต์ที่ปรึกษา

ประเดิมเวที National FinTech Sandbox Forum (NFS Forum) ครั้งที่ 1 โดยชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโต๊ะกลม

 

ถกเรื่อง“การแก้ปัญหาโครงสร้างการรับรายได้ของผู้ประกอบการฟินเทคด้าน Retail Investment และนักวางแผนการเงิน”มีผู้ประกอบการวางแผนการเงิน ผู้ประกอบการฟินเทค บริษัทหลักทรัพย์(บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมกว่า 100 องค์กรเข้าร่วมการประชุมฯในครั้งนี้

ภายใต้ปัญหาที่พบในปัจจุบัน คือ โครงสร้างการประกอบธุรกิจและการรับรายได้ยังคงไม่รองรับต่อการขยายตัวต่อแนวโน้มการเติบโตครั้งนี้ โดยปัจจุบัน นักวางแผนการเงินหลายกลุ่ม รวมถึงผู้ประกอบการฟินเทคด้านการแนะนำการลงทุนหลายราย (ผู้ประกอบการ)ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อทำธุรกิจ

แต่ธรรมเนียมปฏิบัติในการรับรายได้จาก บริษัทหลักทรัพย์ที่ทำธุรกิจเป็นนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน (LBDU: Limited broker, dealer and underwriter) ในปัจจุบันจะเป็นการจ่ายเงินตรงให้กับนักวางแผนการเงินแต่ละรายที่มีใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน (IP, IC) ส่งผลให้ผู้ประกอบการฯ ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเช่นในต่างประเทศ

สำหรับบทสรุปในการประชุมครั้งนี้ นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ทาง ก.ล.ต. ร่วมกับชมรมฟินเทคฯ ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา ดังนี้ สำหรับนิติบุคคลที่ทำธุรกิจวางแผนการเงิน ผู้ประกอบการฟินเทค และบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (ผู้ประกอบการฯ) ที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว

ทางก.ล.ต. มีแนวคิดในการให้ใบอนุญาตที่ปรึกษาการลงทุน (IA) แก่ผู้ประกอบการฯ เพื่อสามารถทำธุรกิจต่อไปได้เลยและสามารถรับรายได้จาก LBDU ได้ทันทีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ใบอนุญาตIA ชั่วคราว) คาดว่าจะเริ่มได้ประมาณต้นปี 2560 หลังจากนั้นทาง ก.ล.ต. จะดำเนินปรับเกณฑ์การขอใบอนุญาตให้เหมาะสม และให้ผู้ประกอบการฯ ดำเนินการขอใบอนุญาต IA ต่อไป โดยเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจการวางแผนการเงินของประเทศไทยเติบโตได้อีกมาก

“หลักเกณฑ์ที่จะขอรับใบอนุญาต คงผ่อนคลายขึ้น เช่น ทุนจดทะเบียนจาก 10ล้านบาท เหลือ1ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องมี Compliance แต่ต้องมีบุคคลากรที่มีใบอนุญาต IC และ IP รวมถึงโมเดลธุรกิจต้องมีความเป็นอิสระจากผู้ผลิต และต้องไม่แตะเงินของลูกค้า เพื่อรอก.ล.ต. กำหนดเกณฑ์ใบอนุญาตถาวร ถ้าไม่เสร็จก็ต่อเวลา เราพร้อมสนับสนุนให้เกิดและลดอุปสรรค ”

ขณะเดียวกันทางก.ล.ต.มีแนวคิดในการการใช้ Regulatory Sandbox หรือการสร้างสนามทดลองให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการทดสอบและพัฒนาบริการด้านการวางแผนการเงิน และแนะนำการลงทุนโดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ Regulatory Sandbox ของก.ล.ต. โดยทาง ก.ล.ต. พร้อมให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการ และพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อไป

นายเจษฎา สุขทิศ เลขาธิการชมรมฯ กล่าวถึงเรื่องศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ(NFS) เพื่อทำงานร่วมกับ Regulatory Sandbox ของทาง ก.ล.ต. ว่า นอกจากการประสานงานให้ผู้ประกอบการฟินเทคเข้าร่วมใน Regulatory Sandbox แล้ว ทาง NFSมีแผนงานในการจัดให้มีเทคโนโลยีแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้ได้มีพื้นที่ในการทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์มีการประสานงานร่วมกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการหาโอกาสขยายฐานลูกค้า

ทางด้านผู้ประกอบการวางแผนการเงิน ผู้ประกอบการฟินเทค บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อย่าง KTAM , CIMB-P,KTBST ,itaxและWCI พร้อมสนับสนุนให้ธุรกิจฟินเทคเกิดได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งจำเป็นต้องมีตัวกลางที่จะผลักดันให้เกิดระบบที่มีประสิทธิภาพที่ทุกคนได้ใช้ โดยมองลูกค้าเป็นที่หนึ่ง

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการ บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST กล่าวว่าธุรกิจบล. จำเป็นต้องมีเครื่องมือแพลตฟอร์มเข้าช่วยมาอำนวยวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกตรงและแนะนำเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า ดังนั้นธุรกิจฟินเทคสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาตรงจุดนี้ได้ และถ้าภายในสิ้นปีนี้เกิด NFS ยิ่งเอาแพลตฟอร์มที่พัฒนาร่วมกันมาใช้ด้วย

นางสาวดารบุษป์ ปภาพพจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด2 บมจ. หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย หรือ KTAM มองว่า การสนับสนุนธุรกิจฟินเทคตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้มีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันมากขึ้น สร้างช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายและตลอด24ชม. และมีโอกาสทำให้ราคาถูกลง ซึ่งลูกค้าได้เป็นประโยชน์เป็นจุดหมายเดียวกัน ดังนั้นทั้งบลจ. บลน. บล. ที่ปรึกษาทางการเงินต้องปรับตัวให้ทันสภาพแวดล้อมที่มาเร็วมาก

ทั้งหมดนี้ทำให้ธุรกิจการวางแผนการเงิน รวมไปถึงบริษัทฟินเทคด้านการแนะนำการลงทุน อย่างเช่น Robo Advisor มีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากดูในกรณีของต่างประเทศจะพบว่าธุรกิจการวางแผนการเงิน และการแนะนำการลงทุนส่วนใหญ่จะดำเนินงานโดยที่ปรึกษาการเงินอิสระโดยในไทย อาชีพนักวางแผนการเงินได้เริ่มมีการเติบโตเป็นอย่างมากในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา