“TP Packaging Solution” เปลี่ยนร้านริมทางให้รักษ์โลก

“TP Packaging Solution” เปลี่ยนร้านริมทางให้รักษ์โลก

ประเทศไทยมีสารพัดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกให้เลือกใช้ แต่ถึงวันนี้ 95% ก็ยังใช้โฟมกันอยู่ ได้ว่าคนรุ่นใหม่ออกปฏิบัติการเปลี่ยนร้านริมทางให้รักษ์โลก

ประเทศไทยมีขยะจากกล่องโฟมบรรจุอาหารสูงถึงวันละ 70 ล้านกล่อง! นั่นหมายถึงเราสั่งสมขยะที่ใช้เวลาย่อยสลายนานเป็นร้อยๆ ปี ทำลายทิ้งก็สร้างมลพิษ ไม่สามารถรีไซเคิลได้ แถมยังจะผลลบต่อสุขภาพอีกด้วย

เรื่องเศร้ายิ่งกว่า คือแม้ผู้บริโภคจะรับรู้เรื่องนี้ดี แต่ไม่มีสิทธิ์เลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสุขภาพของตัวเองและสิ่งแวดล้อม ก็ลองเดินไปตามท้องถนนสิ มีสักกี่ร้านใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

ปัญหาหยั่งรากลึก ดึงดูดให้สองพี่น้อง “ภัทรวุฒิ และ ภัฏ เตชะเทวัญ” ผู้ก่อตั้ง TP Packaging Solution กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่ตอบโจทย์ทุกปัญหาบรรจุภัณฑ์อาหาร อยากเข้ามาร่วมแก้ปัญหานี้

 “เราเริ่มจากความสงสัยว่า ทำไมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมีแต่บริษัทใหญ่ๆ ใช้ ทำไมแม่ค้าในตลาดถึงไม่ใช้ ทั้งที่เรารณรงค์กันมาเป็นสิบปี จนกระทั่งเมืองจีน เขาเลิกใช้โฟมมาได้ 2-3 ปีแล้ว ถ้าบอกว่า บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก แพงกว่าโฟม แล้วทำไมจีนถึงเปลี่ยนได้ล่ะ เราเลยเริ่มหาข้อมูล เพื่อมุ่งมาทำในเรื่องนี้” ทั้งสองบอกจุดเริ่มต้น

หลังการพูดคุยกัน เราเลยได้รู้ว่า “ภัทรวุฒิ” พี่ชายคนโต เรียนจบเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์หุ้น ก่อนผันตัวมาทำงานกับบริษัทตัวแทนขายกระดาษของเอสซีจี ส่วนน้องชาย “ภัฏ” จบวิศวะ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University : NTU) ที่สิงคโปร์ ก่อนต่อโท IMBA ที่ธรรมศาสตร์ เคยทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ ก่อนย้ายมาเป็นพนักงานธุรกิจอยู่ที่ P&G และมีฝันที่อยากทำกิจการเพื่อสังคม

เมื่อเกิดคำถามทั้งสองเลยเริ่มออกหาคำตอบ เลยได้เห็นอุปสรรคของกลุ่มแม่ค้า ตั้งแต่ อยากใช้นะ แต่หายาก สั่งน้อย รายเล็ก ไม่ค่อยมีใครเขาอยากส่ง ร้านรถเข็น ไม่มีพื้นที่ให้สะต๊อกของ ร้านค้าก็ไม่มีของขาย เพราะเอามาก็กลัวแต่จะขายไม่ได้ กลายเป็นต้นทุนให้กับเขา บางบรรจุภัณฑ์ก็ไม่เหมาะ ซึมง่าย ย่อยเร็วไป สู้โฟมแบบเดิมก็ไม่ได้ ฯลฯ  

 “วันนี้มีของ แต่อีก 3 วัน ของหมด เขาต้องเปลี่ยนมาใช้โฟม เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เผลอๆ ผู้บริโภคจะด่าเอา ก็เมื่อวานคุณยังดีอยู่เลย วันนี้เป็นผู้ร้ายอีกแล้ว ตกลงคุณจะเป็นอะไรกันแน่ สรุปเขาเลือกใช้โฟมดีกว่า เพราะไม่อยากเหมือนไปให้ความหวังลูกค้า แล้วทำลายทิ้ง”

พวกเขาบอกเสียงสะท้อนจากผู้ค้า ที่ทำให้เห็นอีกหลายมุมของปัญหา ไม่ใช่แค่ความเชื่อที่ว่า บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกแพง หรือของมีน้อย คนเขาเลยไม่ใช้ ปัญหาที่แท้จริง ดูท่าจะ “ซับซ้อน” กว่านั้น

ถ้าจะเข้ามาแก้ ก็ต้องแก้ให้ถูกจุด TP Packaging Solution เลยจะไม่เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพราะเชื่อว่า บ้านเรามีคนผลิตมากพออยู่แล้ว และหลายประเภทให้เลือกด้วย เพียงแต่ยังกระจายได้ไม่ทั่วถึง พวกเขาเลยอาสาสรรหาบรรจุภัณฑ์ดีๆ ไปสนองพ่อค้าแม่ค้า โดยจะลดอุปสรรคที่เคยพบเจอในอดีตให้อยู่หมัด   

“เราจะเป็น Solution Provider ที่ Customize Solution ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละคน เพราะต่างคนก็มีความต้องการต่างกันออกไป บางคนมีปัญหาเรื่องโพรดักส์ เราก็จะหาโพรดักส์ที่หลากหลายขึ้นเพื่อไปตอบสนองเขา บางคนมีปัญหาเรื่องการวางแผนสะต๊อก เราก็จะช่วยบริหารให้ บางคนอยากสร้างแบรนด์ เราก็จะดีไซน์แพคเก็จจิ้งให้เขาด้วย”

นักแก้ปัญหาการใช้บรรจุภัณฑ์ ไม่ได้มีทุนหนามาทำคลังสินค้าเอง พวกเขาเลยใช้วิธีสร้างจุดกระจายสินค้า โดยดึงร้านรวงต่างๆ มาเป็นพันธมิตร ช่วยกระจายสินค้าให้

“เราลงสินค้าไปตามจุดต่างๆ เช่น สถาบันสอนภาษา โดยที่ไม่ได้จ่ายค่าเช่าให้เขา แต่จะให้ส่วนต่างจากการขายได้ เช่น เขารับเราไป  80 บาท แม่ค้ามารับจากเขาที่ 90 บาท ส่วนต่าง 10 บาท เขาได้ไป จากเดิมเขาสอนพิเศษแค่ตอนเย็น กลางวันอยู่เฉยๆ ก็ใช้พื้นที่ว่างมาสร้างรายได้ และช่วยพีอาร์เขาไปในตัวด้วย”

นี่คือตัวอย่างการแก้ปัญหาที่เขาว่า ต้องทำกันทั้งห่วงโซ่ โดยไม่ต้องคิดหาโซลูชั่นใหม่ แต่ใช้โซลูชั่นที่มีอยู่แล้วเข้ามาแก้

“ความยากไม่ได้อยู่ตรงโจทย์รักษ์โลก แต่คือ รักษ์โลกโดยที่เขามีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย เพราะเราจะไปบังคับให้เขาเปลี่ยน โดยที่เขายังต้องซื้อของแพงขึ้น ขายของได้เท่าเดิม ชีวิตแย่ลง แบบนี้คงไม่ได้” พวกเขาสะท้อนแนวคิด ที่ชีวิตต้องแฮปปี้ ทั้งโลก ผู้บริโภคและผู้ค้า

ส่วนใครมองว่า วิธีคิดแบบนี้ทำได้ยาก ลองมาดูผลสัมฤทธิ์ที่คนหนุ่มพิสูจน์ให้เห็นแล้ว กับการเปลี่ยนร้านค้าที่เยาวราช ให้มาใช้โพรดักส์รักษ์โลก ได้ถึงประมาณ 90% หรือประมาณ 200 ร้านค้า ด้วยการแก้ปัญหาโดยไปตั้งจุดกระจายสินค้า ไปรณรงค์ ไปรับฟังปัญหาของผู้ค้า เสนอ Solution ดีๆ ไปตอบสนอง จนชาวเยาวราชได้ใช้ของรักษ์โลก สามารถทำให้หลายร้านค้า มียอดขายเพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

ธุรกิจจากความคิดดี เริ่มทำมาได้แค่  8 เดือน มียอดขายถึงประมาณ 1 แสนบาท ต่อเดือน หรือประมาณ 5 หมื่นกล่อง มีรายได้ตั้งแต่เริ่มทำมาแตะครึ่งล้าน มีลูกค้ารวมประมาณ 300 ราย เป็นหนึ่งในทีมผู้ชนะจาก “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่ 6” (Banpu Champions for Change) โดย บมจ.บ้านปู และสถาบัน Change Fusion มีเงินรางวัล 2 แสนบาท มาต่อยอดธุรกิจใหม่

ปัจจุบันพวกเขากำลังพัฒนาโมเดล ที่ให้ผู้สนใจสามารถทำธุรกิจนี้ในรูปแบบแฟรนไชส์ได้ เพื่อให้มาร่วมอุดมการณ์เดียวกับพวกเขา ส่วนในอนาคต ยังมุ่งหาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกใหม่ๆ มาป้อนตลาดให้มากขึ้น เช่น หลอดรักษ์โลก กระดาษรักษ์โลกแบบใส และกันน้ำได้  ตลอดจนนวัตกรรมดีๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ร้านค้ารักษ์โลกได้มากขึ้น

เป็นคนรุ่นใหม่ เรียนจบและทำงานในหน่วยงานดีๆ ทว่าทั้งสองคนยังคงมุ่งมั่นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาสังคม พอถามว่า ได้อะไรจากสิ่งที่ทำ พวกเขาให้คำตอบสั้นๆ แค่ “ความสุข”

"เราลงไปคุยกับผู้คน ได้เห็นปัญหาของเขา และลงไปช่วยแก้ไขปัญหานั้น พอได้เห็นว่า ปัญหาเขาถูกแก้ไข และเขามีรอยยิ้มกลับมาอีกครั้ง พวกเราก็มีความสุขไปด้วย”

ซึ่งนั่นคือความสุขเล็กๆ ของเหล่านักแก้ปัญหา ผู้อยากเปลี่ยนร้านค้าข้างทาง ให้เป็นร้านรักษ์โลก