Daily Market Outlook (4 ต.ค.59)

Daily Market Outlook (4 ต.ค.59)

ปัจจัยทั้งบวกและลบ

คาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบวันนี้ แนวโน้มเป็นลบได้ จากความกังวลตอ่เนื่องในกรณีค่าปรับของ Deutsche Bank ตราบเท่าที่ยังไม่รู้ว่าจะโดนเท่าใดแน่ ปัจจัยลบเพิ่มเติมคือตัวเลขภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งที่แม้จะทำให้นักลงทุนมั่นใจในความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ก็ทำให้ความน่าจะเป็นของการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นหลังจากอิหร่านออกมาเรียกร้องความร่วมมือในการรักษาระดับราคาน้ำมันก็เป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน ภายในประเทศตัวเลขเงินเฟ้อที่เป็นบวกในเดือน ก.ย. เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน บ่งชี้การฟื้นตัวที่มั่นคงของเศรษฐกิจไทย แม้ผู้ส่งสินค้าทางเรือจะยังมีมุมมองลบต่อแนวโน้มการส่งออก


หุ้นเด่นวันนี้: BDMS(ราคาปิด 21.80 บาท; ซื้อ; ราคาเป้าหมายปี 60 ของ AWS 32.00 บาท)

บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ เป็นหุ้นเด่นในวันนี้จากการคาดการณ์ว่ากำไรจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและทิศทางในระยะยาวที่ยังดูสดใส แม้ว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2/59 จะลดลง QoQ แต่เราคาดว่ากำไรของ BDMS จะกลับมาดีขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีต้อนรับช่วงไฮซีซั่น นอกเหนือจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ BDMS แจ้งว่าบริษัทได้บรรลุข้อตกลงที่จะซื้อที่ดินบริเวณโครงการปาร์คนายเลิศ ซึ่งรวมถึงอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว บริษัทตั้งใจที่จะพัฒนาที่ดินและอาคารเหล่านี้ให้เป็นศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร “BDMS Wellness Clinic” สอดคล้องกับกระแสรักสุขภาพที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มูลค่าการซื้อขายและงบประมาณการลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ 1.28 หมื่นล้านบาท โดย 1.08 หมื่นล้านบาทเป็นมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนอีก 2 พันล้านบาทเป็นงบประมาณการลงทุน ถึงแม้ว่าการลงทุนขนาดใหญ่นี้จะกดดันกำไรในช่วง 2-3 ปีแรกก็ตาม แต่เราประเมินว่าธุรกิจศูนย์สุขภาพครบวงจรนี้จะช่วยเพิ่มกำไรให้กับบริษัทในระยะยาวเนื่องจากให้อัตรากำไรที่สูงเมื่อเทียบกับบริการประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ BDMS จะยังคงแผนขยายเครือข่ายโรงพยาบาลให้เป็น 50 โรงพยาบาล รวมถึงพัฒนาโรงพยาบาลแม่ข่ายทั้ง 9 แห่งให้เป็น Centers of Excellence ซึ่งการขยายเครือข่ายและพัฒนาดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทในการเข้าถึงคนไข้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มากขึ้นอีกด้วย เรายังคงประมาณการกำไรปกติปี 59 ไว้ที่ 8.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% YoYแต่ปรับลดกำไรปกติปี 60 ลง 6.6% มาอยู่ที่ 9.5 พันล้านบาทเพื่อสะท้อนการลงทุนข้างต้น ซึ่งการปรับลดนี้ทำให้กำไรปี 60 เติบโตอย่างชะลอตัวที่ 6.5% ก่อนที่จะกลับมาเติบโต 15.0% อีกครั้งในปี 61

ปัจจัยสำคัญ

ประเด็นในประเทศ:

• ดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นต่อเนื่องในเดือนก.ย. กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) จากสินค้าที่มีการสำรวจราคาใน 450 รายการ สำหรับเดือน ก.ย.59 ขยายตัว 0.38% เมื่อเทียบกับก.ย.58 และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัว 0.04% นับเป็นขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยมีสาเหตุจากราคาอาหารสดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ รวมไปถึงราคายาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สูงขึ้น ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.ย.59 อยู่ที่ 106.82 ขยายตัว 0.75% เมื่อเทียบกับ ก.ย.58 และขยายตัว 0.02% เมื่อเทียบกับ ส.ค.59 โดยรวมส่งผลให้CPI ช่วง 9 เดือนปีนี้ขยายตัว 0.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่Core CPI ขยายตัว 0.74% (Bangkok Post) ความเห็น: การขยายตัวของเงินเฟ้อพื้นฐานสะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่สูงขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

• ผู้ส่งออกคงแนวโน้มเชิงลบ แม้การส่งออก ส.ค. จะเพิ่มขึ้นผิดคาด สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยคงคาดการณ์ว่าส่งออกจะหดตัว 2% ปีนี้เพราะบาทยังคงแนวโน้มแข็งค่าและเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง (Bangkok Post)

• รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์กสทช. ได้กำหนดวันประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ซึ่งตอนนี้ใช้โดย DTAC (31.25 บาท, ขาย, ราคาเป้าหมาย 31.00 บาท) เป็นเดือน ก.ค. 61 หรือสองเดือนก่อนสัมปทานเดิมจะหมดอายุ ราคาตั้งต้นสำหรับการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จะเริ่มที่ 3 พัน ลบ.ต่อเมกะเฮิร์ตซ์หรือ 4.5 หมื่น ลบ. ต่อ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ DTAC เห็นว่าดีแล้วที่กำหนดวันก่อนสัมปทานหมดอายุ แต่แค่ 2 เดือนก็ยังไม่พอที่จะวางระบบซึ่งน่าจะใช้เวลาราว 3 เดือน (Bangkok Post)

ต่างประเทศ

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นเมื่อวันจันทร์ หลังจากโรงงานในสหรัฐเพิ่มปริมาณการผลิตในเดือนก.ย. ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานในวันศุกร์นี้ ราคาพันธบัตรอ้างอิงอายุ 10 ปี ลดลง 5/32 อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 1.62% เพิ่มขึ้นจากที่ระดับ 1.61% เมื่อวันศุกร์ (Reuters)

• ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังจากภาคการผลิตสหรัฐกลับมาขยายตัวในเดือนก.ย. ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.25% อยู่ที่ 95.964 ปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลงเมื่อวันจันทร์ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 31 ปีเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและต่ำสุดในรอบ 3 ปีเทียบกับเงินยูโรหลังจากกำหนดเส้นตายในเดือนมี.ค. 60 ถูกกำหนดขึ้นสำหรับการเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Reuters)

• ทุกคนจับตาข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนก.ย.ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ เป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 170,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงานคงที่อยู่ที่ระดับ 4.9% และค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% จากที่เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค. (Reuters)

สหรัฐ:

• ตลาดหุ้นสหรัฐเริ่มต้นไตรมาส 4 ด้วยการปิดลบในวันจันทร์ จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาของดอยซ์แบงก์เนื่องจากความหวังที่บรรลุข้อตกลงจ่ายค่าปรับจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในคดีการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันได้เลือนรางลง อีกทั้งนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับเวลส์ ฟาร์โกที่ถูกปรับกรณีเปิดบัญชีลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต และอีกปัจจัยที่กดดันตลาดคือตัวเลขภาคการผลิตสหรัฐในเดือนก.ย. ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่คาดอันจะเป็นแรงหนุนให้เฟดพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิ้นปีนี้ (Reuters)

• ภาคการผลิตสหรัฐแข็งแกร่งกว่าที่คาดในเดือนก.ย. เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่าดัชนีภาคการผลิตสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับ 51.5 ในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.4 ในเดือนส.ค. เป็นการบ่งบอกว่าภาคการผลิตกำลังขยายตัว ภาคการผลิตขยายตัวในเดือนก.ย. หลังจากที่หดตัวในเดือนส.ค. และเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวติดต่อกัน 88 เดือน นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีฯ จะอยู่ที่ระดับ 50.3 ในเดือนก.ย. (ISM)

• ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสหรัฐลดลงในเดือนส.ค. ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน การลดลงเกินคาดเกิดจากการลงทุนทั้งในภาครัฐและเอกชนที่อ่อนแรงลง การลดลงติดต่อกันบ่งบอกว่าตัวเลขการสร้างบ้านอาจไม่ช่วยการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนักในไตรมาส 3/59 ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างลดลง 0.7% ในเดือนส.ค. อยู่ที่ระดับ 1.142 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ต่ำสุดนับแต่เดือนธ.ค. 58 นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 0.2% (Reuters)

ยุโรป:

• ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อวันจันทร์ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่มบริษัทจัดการกองทุนจากข่าวการควบรวมกิจการในกลุ่ม โดย Henderson Global Investors ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนสัญชาติอังกฤษตกลงที่จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ Janus Capital มูลค่าราว 6 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตามประเด็นของ Deutsche Bank ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดโดยรวม (Reuters)

• ภาคการผลิตยูโรโซนขยายตัวปานกลางในช่วง 3Q59โดยตัวเลขสรุปสุดท้ายของดัชนี PMI ภาคการผลิตยูโรโซนเดือนก.ย. รายงานออกมาอยู่ที่ 52.6 ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขเบื้องต้น และเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 3 เดือน ส่งผลให้ดัชนี PMI ภาคการผลิตช่วง 3Q59 อยู่ที่ 52.1 จาก 52.0 ในไตรมาส 2Q59 ก่อนหน้า ทั้งนี้หากเทียบเป็นรายประเทศพบว่ามีการขยายตัวใน 6 ประเทศ จากทั้งหมด 8 ประเทศ ซึ่งนำโดยเยอรมนีที่ดัชนี PMI สูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน (Reuters)

เอเชีย:

• Haruhiko Kuroda ผู้ว่า BOJ เผยนโยบายทางการเงินใหม่จะไม่ลดการผ่อนคลายลงและจะยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ให้เร็วที่สุด ขณะที่ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินให้มากขึ้น อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ติดลบมากขึ้น การลดผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มากขึ้นกว่าเดิม (Reuters)

• ตลาดหุ้นจีนปิดทำการซื้อขายนับตั้งแต่วันที่ 1-9 ต.ค. เนื่องในวันหยุดแห่งชาติ และจะเปิดทำการซื้อขายอีกครั้งในวันที่ 10 ต.ค. (Reuters)

สินค้าโภคภัณฑ์:

• ราคาน้ำมันบวกวันจันทร์ โดย Brent ปิดเหนือ 50 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ ส.ค. และน้ำมันดิบสหรัฐแตะจุดสูงสุดในรอบสามเดือน หลังอิหร่านกระตุ้นให้ผู้ผลิตน้ำมันอื่นเข้าร่วม OPEC เพื่อพยุงตลาด น้ำมัน Brent บวก 70 เซนต์ (+1.4%) ปิดที่ 50.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบสหรัฐล่วงหน้าบวก 57 เซนต์ (1.2%) ปิดที่ 48.81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (Reuters)

• ทองคำร่วงวันจันทร์ เพราะดอลลาร์แข็งค่าจากตัวเลขภาคการผลิตสหรัฐแข็งแรงกว่าคาดและนักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางความสงสัยว่าดอกเบี้ยสหรัฐจะขึ้นภายในสิ้นปี ราคาทองคำตลาดจรลบ 0.37% ไปอยู่ที่ 1,310.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ การซื้อขายเบาบางเพราะเป็นวันหยุดในจีน (Reuters)