ธุรกิจร้านกาแฟ1.8 หมื่นล้าน ระอุ แบรนด์ไทยชิงแชร์แบรนด์นอก

ธุรกิจร้านกาแฟ1.8 หมื่นล้าน ระอุ แบรนด์ไทยชิงแชร์แบรนด์นอก

ตลาดร้านกาแฟ1.8 หมื่นล้าน ระอุ แบรนด์ไทยเบียดชิงแชร์แบรนด์นอก "อเมซอน" ขยาย 1,250 สาขาในปท. 5 ปี "ทรูคอฟฟี่" ขยายครบ 300 สาขาใน 3 ปี

นายอรรถพล ฤกษ์หินพิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีครบวงจร และร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้บริโภคนิยมดื่มกาแฟสดกันมากขึ้น ผนวกกับตลาดรวมร้านกาแฟในไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านกาแฟแบรนด์ต่างๆเล็งเห็นถึงโอกาสการรุกเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะแบรนด์ดังจากต่างประเทศที่อาจได้เปรียบแบรนด์ไทย เพราะเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี มองว่าแบรนด์ไทยยังมีโอกาสชิงส่วนแบ่งตลาดกับแบรนด์ต่างประเทศอยู่ไม่น้อย เพราะจุดขายของร้านกาแฟแบรนด์ไทยมีเอกลั กษณ์ชัดเจน เน้นรสชาติกาแฟเข้มข้นถูกปากคนไทย

นายสุชาติ ระมาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก ฝ่ายธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดร้านกาแฟในไทยว่า ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปีนี้มูลค่าตลาดรวมจะเติบโตจาก 17,000 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 18,000-19,000 ล้านบาท 


ขณะเดียวกัน ยังประเมินว่า ร้านกาแฟจะยังเติบโตร้อนแรงไปอีก 3-5 ปีเนื่องจากคนไทยบริโภคกาแฟเฉลี่ยเพียง 1.07 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ต่ำกว่าประเทศลาวซึ่งบริโภคเกือบ 1.5 กิโลกรัมต่อปี และประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น อยู่ที่ 3.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

การเติบโตของร้านกาแฟในไทย ส่งผลให้คาเฟ่อเมซอนขยายสาขาเพิ่มขึ้นจาก 1,400 กว่าสาขาในปี2558 เป็น 1,700 สาขาในสิ้นปีนี้ แบ่งเป็นในประเทศ 1,650 สาขา และต่างประเทศ 50 สาขา

ขณะที่ ยอดขายกาแฟเพิ่มขึ้นจาก 140 ล้านแก้ว เป็น 150 ล้านแก้ว หรือเฉลี่ย 240 แก้วต่อสาขาต่อวัน และมีรายได้รวมอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท โดยธุรกิจของคาเฟ่อเมซอนเติบโตมากกว่า10%สูงกว่าตลาดกาแฟสดในภาพรวมซึ่งขยายตัวราว10%

@5 ปีเพิ่ม 1,250 สาขาในประเทศ

ขณะที่แผนระยะ5ปี ตั้งเป้าจะเพิ่มสาขาในประเทศอีก 250 สาขาต่อปี รวม 1,250 สาขา โดยจะเน้นให้ดีลเลอร์ (ตัวแทนจำหน่าย) เป็นผู้ลงทุนเพื่อกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งปัจจุบันสาขาส่วนใหญ่1,500แห่งจากทั้งหมด1,700แห่งดำเนินการโดยดีลเลอร์

นายสุชาติ ยังกล่าวต่อว่า 10ปีข้างหน้ายังตั้งเป้าจะเพิ่มสาขาในต่างประเทศเป็น 500 สาขาจากปัจจุบันมีจำนวน 35 แห่งในต่างประเทศ ซึ่งปตท.เป็นผู้ดำเนินการเอง แบ่งเป็นประเทศลาว17 สาขา และกัมพูชา 18 สาขา

นอกจากนี้ ยังหารือกับผู้ประกอบการจากหลายประเทศที่สนใจซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซียรวมถึงประเทศในยุโรป โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับผู้ประกอบการจากฟิลิปปินส์และโอมาน ซึ่งน่าจะตั้งสาขาแรกในโอมานช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560

ล่าสุดปตท.เพิ่งลงนามการขายสิทธิ์แฟรนไชส์คาเฟ่อเมซอนสาขาแรกในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ให้กับบริษัท Codomo Energy จำกัด

“เราต้องขยายไปต่างประเทศเพื่อสร้างการรับรู้และความภูมิใจให้คนไทยในเออีซีต้องไปให้หมดรวมถึงนอกเออีซี เช่น ญี่ปุ่น ด้วยโดยเราตั้งเป้าจะมีคาเฟ่อเมซอนใน10ประเทศขึ้นไปภายใน10ปีข้างหน้า”

@“ทรู”เผย 80%ซื้อแล้วนั่งในร้าน

นายชัยสิทธิ์ สุทธิขจรกิจการ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านกาแฟทรูคอฟฟี่ กล่าวว่า โอกาสการขยายตัวของธุรกิจร้านกาแฟไทยยังมีอีกมาก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคนไทยเริ่มรับวัฒนธรรมการบริโภคกาแฟ และเริ่มรู้จักการบริโภคกาแฟมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์ไทย แบรนด์ต่างประเทศ บรรยากาศร้านต่างๆ ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการของผู้บริโภคมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างพบว่า จำนวนลูกค้าที่มาซื้อกาแฟที่ร้านแล้วเดินออกเลย ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แค่ 20%เท่านั้น เพราะอีก 80% ที่เหลือจะนั่งกันในร้าน ทั้งนั่งทำงาน ใช้เป็นสถานที่นัดพบเพื่อนฝูง ดังนั้น ร้านกาแฟในยุคนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

@คนไทยดื่มกาแฟ200แก้ว/คน/ปี

ขณะเดียวกัน มีข้อมูลสำรวจอัตราการบริโภคกาแฟเฉลี่ยของคนไทย อยู่ที่ 200 แก้วต่อคนต่อปี ซึ่งยังค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศที่นิยมการบริโภคกาแฟ เช่น นอร์เวย์ 1 พันแก้วต่อคนต่อปี และญี่ปุ่น 400 แก้วต่อคนต่อปี จึงมองว่าอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยยังมีโอกาสการขยายตัวอีกมาก

“มองว่าโจทย์พื้นฐานที่ร้านกาแฟต้องตอบสนองผู้บริโภคให้ได้ ประกอบด้วย รสชาติกาแฟต้องดี การบริการต้องดีและน่าประทับใจร้านกาแฟแบรนด์ไทย รวมถึงเข้าถึงลูกค้าให้ได้ เช่น การกระจายสาขา การตั้งในทำเลที่อำนวยความสะดวกลูกค้า ซึ่งถ้าผู้ประกอบการร้านกาแฟแบรนด์ไทยใส่ใจกับเรื่องพื้นฐานดังกล่าว ก็จะยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มาก”

ในปัจจุบันมีจำนวนทรูคอฟฟี่รวมกว่า 216 สาขา แบ่งเป็น สาขาที่บริษัทขยายเอง 100 สาขา แฟรนไชส์ 36 สาขา และสาขาในต่างจังหวัด อีก 80 สาขา โดยบริษัทตั้งเป้าหมายจะขยายให้ครบ 300 สาขา ภายใน 3 ปีจากนี้

@“ร้านกาแฟย่อย” เชื่อแข่งขันได้

นางจุฬาวัลย์ พงษ์สุทธิมนัส กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอปเปอร์ คราวน์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจกาแฟครบวงจร และร้านกาแฟสตาฟ คอฟฟี่ กล่าวว่า ร้านกาแฟแบรนด์ไทยยังมีศักยภาพแข่งขันกับแบรนด์ต่างประเทศได้มาก เนื่องจากมีจุดแข็งหลายอย่าง ประกอบด้วย รสชาติ เทคนิคการคั่วเมล็ดกาแฟต่างๆที่ทำให้ได้รสกลมกล่มถูกปากคนไทย ซึ่งคล้ายกับความนิยมบริโภครสกาแฟเข้มข้นเหมือนกับประเทศอื่นๆในเอเชีย และที่สำคัญ ราคาจำหน่ายเครื่องดื่มกาแฟแบรนด์ไทยก็ยังต่ำกว่าแบรนด์ต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดในไทย โดยในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจชะลอตัวก็ถือเป็นปัจจัย 1 ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาอุดหนุนแบรนด์ไทยกันมากขึ้น

ขณะที่การปรับตัวและการขยายธุรกิจของบริษัทในปีนี้ ได้เริ่มเปิดตัวโมเดลแฟรนไชส์ร้านกาแฟสตรีท คอฟฟี่เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มุ่งเน้นเจาะกลุ่มตลาดแมส และจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าแบรนด์“สตาฟ คอฟฟี่” โดยตั้งเป้าหมายจะขยายให้ครบ 50 -100 สาขา ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนภาพรวมของแบรนด์ “สตาฟ คอฟฟี่”ยังคงมุ่งเน้นการขยายตามสำนักงานเป็นหลัก และตั้งเป้าหมายจะขยายให้ครบ 20 สาขาภายในปีหน้า