'กสิกรไทย' ลุ้นเปิด 'ฟินเทค' ปลายปีนี้

'กสิกรไทย' ลุ้นเปิด 'ฟินเทค' ปลายปีนี้

"กสิกรไทย" เล็งเปิด 2 แอพพลิเคชั่นปลายปีนี้ หลังผนึกสตาร์ทอัพปลุกปั้นนาน 8 เดือน หาโซลูชั่นตอบโจทย์ลูกค้า และเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร

รูปแบบการรับมือฟินเทคของธนาคารพาณิชย์มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆนับตั้งแต่ปลายปีก่อนที่กระแสฟินเทครุนแรงหนึ่งในธนาคารที่มีความตื่นตัวในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่าง ธนาคารกสิกรไทยที่แยกองค์กรขึ้นมาออกจากธนาคารและมอบหมายให้กรรมการผู้จัดการอย่างธีรนันท์ ศรีหงส์ เข้าไปนั่งเป็นประธานดูแลธุรกิจที่กำลังเป็นโลกใหม่ทางการเงินภายใต้ชื่อ บริษัท กสิกร บิสิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)

ธีรนันท์ ชี้ให้เห็นว่าโลกดิจิทัลมาเร็วและแรงมาก จะเห็นได้จาก ตัวเลขยอดผู้ใช้ mobile banking ของธนาคารที่เติบโตจากต้นปีมีเพียง 2.64 ล้านคน มาอยู่ที่ 4.2 ล้านคนหรือเติบโตเกือบ100%จาก สูงกว่าที่คาดไว้มากจากเดิมที่ธนาคารตั้งเป้าที่3.7ล้านคน ซึ่งธนาคารคาดว่า สิ้นปีนี้ตัวเลขยอดผู้ใช้ mobile banking อาจจะไปถึง 5 ล้านคน

การทำงานด้านนวัตกรรมแตกต่างจากองค์กรอย่าง ธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นประสิทธภาพ การบรรลุป้าหมาย จึงต้องมีกรอบคิดมีกฏระเบียบมาก ซึ่งใช้เวลากว่า8 เดือนลงมือปั้นบริษัทน้องใหม่ ด้านนวัตกรรมที่มีความแตกต่างจากธุรกิจการเงินแบบเดิมๆ ซึ่งจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง พื้นที่ของเคบีทีจี จึงเน้นการเปิดโล่ง เพื่อให้เกิดไอเดีย และเกิดการต่อยอด พร้อมประกอบความคิดใหม่ๆตลอดเวลา เพราะเรื่องคนเป็นโจทย์สำคัญ

ธีรนันท์ เล่าว่า 8 เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีทีมงาน 40-50 คน จากเด็กจบใหม่หรือผู้มีประสบการณ์ด้านฟินเทคจากต่างประเทศ ทั้งรูปแบบพนักงานประจำ การว่าจ้าง และพันธมิตรที่เป็นสตาร์ทอัพ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ รวมทั้งมีทีมที่ทำด้านธุรกิจเพื่อเริ่มทำนวัตกรรมอีกรูปแบบใหม่ สไตล์สตาร์ทอัพ โดยปีหน้าบริษัทยังมีแผนรับทีมงานเพิ่มเพื่อรองรับโครงการเคบีทีจี จะผลักดันออกมาอีก3-4 โครงการในปีหน้า

ในปีนี้มี6-7โครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา ส่วนแรกเพื่อการบริการลูกค้า ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน โมบายแบงกิ้ง และแอพพลิเคชั่น ที่จะเข้ามาช่วยให้ลูกค้าเอสเอ็มอีทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโซลูชั่นต่างๆที่ออกมาจะเน้นความร่วมมือ และพัฒนาร่วมกับพันธมิตร สตาร์ทอัพมากกว่าการพัฒนาเอง

สำหรับฟินเทคที่ธนาคารเตรียมเปิดตัวช่วง2เดือนที่เหลือปีนี้ จะเป็นแอพลิเคชั่นระบบการชำระเงิน และโมบายแบงกิ้ง สำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายแต่มีความต้องการบริการทางการเงิน ซึ่งอยู่ระหว่างทดลองตลาด นอกจากนี้ยังอยู่ในช่วงเปิดAPI ให้สตาร์ทอัพ 7 รายเข้าถึงข้อมูลของธนาคารบางส่วน เพื่อทดลองร่วมกัน คาดว่าจะเปิดตัวได้ต้นปีหน้า ทั้งนี้ บางบริการที่จะเปิดตัวนี้ ลูกค้าอาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นความร่วมมือของธนาคารด้วย

หากธนาคารแห่งประเทศไทยเปิด regulatory sandbox หรือ สนามทดลองที่มีหน่วยงานกำกับคอยดูแลได้ในปีหน้า จะช่วยให้การออกโครงการต่างๆเป็นไปได้เร็วขึ้น เพราะการเข้าแซนด์บอกซ์ เพื่อทดลองกับลูกค้าจริง และให้ผู้กำกับได้เห็น และรู้ว่าแนวทางการกำกับควรเป็นอย่างไร ช่วยกระบวนการอนุมัติทำได้เร็วขึ้น

“เราพร้อมแล้วที่ให้ลูกค้าภายนอกใช้แต่อยู่ระหว่างขออนุญาตจากแบงก์ชาติ เพราะกรอบแซนด์บ็อกซ์ ยังไม่เสร็จ อยากเข้าทดลอง ดังนั้นปีหน้าหากกรอบธปท.เสร็จจะทำงานได้เร็วขึ้น อีกหลายโคงการรอเข้าแซนบ็อกซ์อยู่ เพราะเป็นกระบวนการที่ทำให้ทดลองกับลูกค้าได้จริง โดยไม่ต้องรอการอนุมัติ เพราะโซลูชั่นพวกนี้ต้องทดลองใช้ ดูผลตอบรับและ ปรับปรุงให้เหมาะสมก่อน”

ส่วนที่สองคือ การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อใช้เพิ่มความสามารถและประสิทธภาพองค์กรโดยจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence(AI) มาใช้ในเข้าถึงฐานข้อมูลที่มี และทำการวิเคราะห์ความต้องการลูกค้า เพื่อให้ทำการตลาดได้ดี

ทั้งนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชน มีโอกาสสูงมากในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลายๆธุรกิจ แต่ต้องใช้เวลาพัฒนาตัวเองอีกอย่างน้อย3ปี อย่างไรก็ตาม ธนาคารอยู่ระหว่างคุยกับพันธมิตรรายใหญ่ด้านบล็อกเชนเพื่อให้ความรู้กับทีมงานและพัฒนาร่วมกัน (joint solution partner)ใน2ธุรกิจคือธุรกิจที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการ และธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งค่อนข้างท้าทาย เพราะมีผู้เกี่ยวข้องเยอะมากและกำลังดูว่าจะเชิญใครเข้ามาบ้างเป็นเหมือนผู้สร้างโซลูชั่นนี้

นอกจากนี้จะสร้างinternet of things(lot)เพื่อช่วยเอสเอ็มอีรายย่อยให้สามารถสร้างธุรกิจบนโลกไซเบอร์ได้ช่วยให้ขายของได้มากขึ้นและสามารถลงบัญชี บันทึกยอดขายช่วยให้ลูกค้ามีประสิทธิภาพทางธุรกิจ

ที่ผ่านมาโมเดลของเคบีทีจี ยังไม่มีกองทุนร่วมทุน(Venture Capital)เหมือนการรับมือฟินเทคของบางธนาคาร แต่ในขณะนี้ยอมรับว่าอยู่ระหว่างขออนุญาตธปท.เพื่อขอจัดตั้งกองทุนร่วมทุน คาดว่าใช้เวลาไม่นานนี้ก็จะสามารถจัดตั้งได้ ซึ่งการจัดกองทุนดังกล่าว เพราะขณะนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วว่าจะลงทุนอะไร

“เรารู้แล้วว่าอะไรคือพื้นที่ที่สนใจและจะให้ความสำคัญ คงไม่ลงแบบกวาดทั่วไป ก็ต้องมีกองทุนขึ้นมาโดยจะเป็นเงิน1ก้อน ลงทุนหลายรูปแบบทั้งลงตรงในบริษัทหรือลงในกองทุนแต่ส่วนใหญจะเน้นในไทย และภูมิภาค”

เขากล่าวว่า เงินร่วมทุนดังกลาวจะลงในเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เช่น AI ที่เน้นเรื่องภาษาเพราะเป็นธุรกิจบริการที่ต้องใช้ภาษา เรื่องที่เกี่ยวกับเอสเอ็มอีโซลูชั่นที่เป็นพันธมิตรของเรา มีเรื่องเกี่ยวกับบล็อกเชนและมีกองทุนฟินเทคที่เจรจาคุยอยู่รวมถึงระบบชำระเงินด้วย

สำหรับเงินลงทุนในเทคโนโลยีของแบงก์นั้น มีการเตรียมงบประมาณแบบไดนามิก สามารถปรับได้ตามความเหมาะสม แต่งบลงทุนไม่ได้เป็นข้อจำกัดของธนาคารในเวลานี้้เพราะการทำสตาร์ทอัพช่วงแรกใช้งบไม่มาก เพราะเป็นการสร้างทีมและความคิดมากกว่าการลงทุนในระบบ

นอกจากนี้การคิดโซลูชั่นต่างๆจะเกิดจากระบบเทคโนโลยีเดิมมากกว่า การสร้างใหม่ หากมีโครงการดีในแง่กลยุทธ์ สามารถจัดทีมขึ้นมาดูแลได้ โดยงบลงทุนไอทีของธนาคารโดยรวมไม่ได้เปลี่ยนแปลง โดยธนาคารมีการลงทุนปีละ 7-8%ของกำไรสุทธิ