กรุงเก่าเปิดประตูระบายน้ำเข้าทุ่ง

กรุงเก่าเปิดประตูระบายน้ำเข้าทุ่ง

สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสักยังคงมีระดับสูงขึ้น ด้านกรุงเก่าเปิดประตูระบายน้ำเข้าทุ่ง

สถานการณ์น้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 พบว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักยังคงมีระดับสูงขึ้น โดยแม่น้ำเจ้าพระยาระบายอยู่ที่ 1991 ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำสูงขึ้นประมาณ 10 ซ.ม. และเขื่อนพระรามหก ระบายน้ำที่ 497.12 ลบ.ม./วินาที น้ำในแม่น้ำป่าสักสูงขึ้น 10 ซ.ม.ยังคงล้นตลิ่งท่วมเข้าพื้นที่สองฝั่งใน อ.นครหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา บางส่วน

โดยเฉพาะที่เขตพื้นที่ ต.วัดตะกู อ.บางบาล ยังเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมมากที่สุด โดยที่หมู่ 9 ต.ตะกู อ.บางบาล ระดับน้ำสูงขึ้นจนเกือบที่จะถึงพื้นบ้านของประชาชนแม้ว่า จะยกพื้นสูงแล้ว โดยความลึกอยู่ที่ 2-3 เมตรแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ขาดการติดต่อกับโลกภายนอกต้องใช้เรือในการสัญจรไปมาออกไปยังถนนหลัก เนื่องจากถนนในหมู่บ้านน้ำท่วม

และยังพบว่า มีบ้านเรือนประชาชนหลายหลังที่มีผู้สูงอายุ และคนพิการที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แต่ประสบปัญหาไม่มีเรือ ที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ประชาชนต้องเดินลุยน้ำลากเรือไปรับประชาชนไปทำบุญที่วัด เนื่องจากเป็นวันทำบุญสารทไทย

ด้านนายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ นายอำเภอผักไห่ ได้มีหนังสือแจ้งถึงผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 หลังจากที่มีการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านในการสำรวจพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวพื้นที่ประตูระบายน้ำเสร็จแล้ว ขอให้ทางชลประทานได้เปิดประตูระบายน้ำ 5 ประตูได้แก่ประตูระบายน้ำลาดชะโด ประตูระบายน้ำบางแก้ว ประตูระบายน้ำมะขามเทศ ประตูระบายน้ำลาดชิด ประตูระบายน้ำวัดใบบัว และท่อระบายน้ำหนองตะเกียง และบ้านหนองควาย เพื่อบรรเทาปริมาณไปยังพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทางชลประทานได้รับทราบและอยู่ระหว่างดำเนินการ

ในช่วงบ่ายวันที่ 1 ตุลาคม 2559 มีการเปิดประตูระบายน้ำไปแล้ว 3 แห่งคือ ประตูระบายน้ำบางแก้ว ประตูระบายน้ำลาดชิด และประตูระบายน้ำลาดชะโด นอกจากนี้ ยังมีท่อระบายน้ำในพื้นที่ ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา ด้วย ขณะเดียวกันประตูน้ำวัดใบบัว ม.5 ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา ซึ่งมีข่าวว่าจะเปิดเพื่อให้เข้าสู่ทุ่งนาที่มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว แต่ประชาชนที่มาเฝ้ารอก็ไม่มีคำสั่งให้เปิดประตูระบายน้ำดังกล่าว ซึ่งหลายแห่งในพื้นที่ อ.บางบาล อ.ผักไห่ ยังไม่มีการระบายน้ำ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนว่า เป็นการป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเข้าบ่อทรายหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม ที่ อ.เสนา ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ดก็มีการยกขึ้นเพื่อบรรเทาระดับน้ำจากแม่น้ำน้อยไม่ให้เข้าท่วมตลาดบ้านแพน อ.เสนา โดยยกบานประตูขึ้น 60 ซ.ม. เช่นเดียวกัน หลายแห่งที่เปิดแล้ว ขณะที่หลายแห่งใน ต.หัวเวียง อ.เสนา มีการนำดินมาสร้างคันเพื่อป้องกันน้ำท่วมถนน โดยระดับน้ำนอกคันกั้นน้ำสูงกว่า 30 ซ.ม.

ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แจ้งว่า กรมชลประทานจะรักษาการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ขณะนี้ระบายอยู่ที่ 1,998 ลบ.ม./วินาที และจะค่อยๆลดลงให้สู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด หากไม่มีฝนมาเติมในช่วงนี้ โดยจะผันน้ำออกทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ซึ่งขณะนี้น้ำที่ไหลมาจากสะแกกรัง และลุ่มน้ำตอนบนเริ่มลดลง โดยดูจากระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ลดลงประมาณ 50 ซม.(จากระดับ+16.73 เหลือ+16.23) แต่ทำไมระดับทางตอนล่างบางแห่งทรงตัว บางแห่งเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีฝนตกทางเพชรบูรณ์ไหลลงลุ่มน้ำป่าสัก การระบายผ่านท้ายเขื่อนพระราม 6 อยู่ที่ 489 ลบ.ม./วินาที รวมกับน้ำค้างทุ่งลพบุรีไหลลงมาเติมรวมกับแม่น้ำป่าสัก ทำให้น้ำที่ไหลลงอยุธยารวม 597 ลบ.ม./วินาที กรมชลฯจะควบคุมไม่ให้เกิน 600 โดยผันออกทางคลองระพีพัฒน์ ไปลงระพีพัฒน์แยกตก-แยกใต้ต่อไป การผันน้ำเข้าทุ่ง

เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์จะมีฝนตกชุกช่วงสุดท้ายของฤดูกาลระหว่างต้นเดือน ตค.ถึงกลางเดือน ตค.59 พาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ดังนั้นการพร่องน้ำรอในตอนนี้ก็เพิ่อจะรอรับน้ำก้อนใหญ่ที่จะมีมา โดยระดับน้ำจะเริ่มสูงสุดตั้งแต่วันที่ 6 ตค.59 เป็นต้นไป ดังนั้นกรมชลฯจึงวางแผนสงวนทุ่งต่างๆที่เป็นแก้มลิงเอาไว้ตัดยอดน้ำในขณะนั้น จะเกิดประโยชน์มากกว่าในขณะนี้ หากเราเอาเข้าในตอนนี้ หากมวลน้ำมา 3,000-4,000 จะไม่มีที่เก็บกักและชลอน้ำเอาไว้ มวลน้ำดังกล่าวก็จะลงมากองที่อยุธยา ระดับน้ำที่เราทรงตัวไว้ขนาดนี้ก็อาจจะเพิ่มเป็นเท่าตัว ซึ่งความเสียหายจะแผ่กว้างกว่าที่เป็นอยู่ เพราะจะไหลข้ามคันกั้นน้ำทำให้ควบคุมปริมาณน้ำไม่ได้

ดังนั้นการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในขณะนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปช่วยเหลือ เยียวยา และให้กำลังใจว่าเขาเหล่านั้นคือผู้เสียสละให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ทำนาล่าช้า เนื่องจากฝนแล้วติดต่อกัน 2 ปี ตามที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย รมว.กษ.และท่าน อธช.ชลประทาน ได้สั่งการไปแล้ว แต่หากพื้นที่ใดที่เก็บเกี่ยวแล้ว หากจะผันน้ำเข้าทุ่ง ขอให้ทีมประชารัฐ(นอภ. ชลประทานในพื้นที่ เกษตร ปภ. ทหาร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรที่ทำนา ฯลฯ)ประชุมร่วมกัน เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ทำเรื่องแจ้ง ผวจ.ให้แจ้งกรมชลประทาน โดยรองอธิบดีที่รับผิดชอบ จะเป็นผู้สั่งการให้เปิดประตูต่างๆ ข้างต้นต่อไป