'Fastwork' เว็บหาฟรีแลนซ์

'Fastwork'  เว็บหาฟรีแลนซ์

เริ่มต้นจากการทำในสิ่งที่รัก แถม Fastwork (ฟาสต์เวิร์ค) ยังช่วยสร้างงาน ช่วยเปลี่ยนชีวิตเหล่าฟรีแลนซ์ไม่ให้ติดลบ

มิหนำซ้ำทั้งยังช่วยธุรกิจ“เอสเอ็มอี” ให้เติบโตด้วยต้นทุนที่ต่ำลง


หลังที่ไปร่ำเรียนและใช้ชีวิตในมหานคร “ นิวยอร์ก” อยู่พักใหญ่ๆ สองหนุ่ม “วสะ สุภาโชค เอี่ยมสุรีย์”(ตั๊บ) และ “อาพร พลานุเวช” (ใหม่) ก็ชวนกันกลับเมืองไทย พร้อมกับหอบเอาโนว์ฮาวที่ได้เคยทำสตาร์ทอัพร่วมกันที่นั่นมาทำที่เมืองไทย พวกเขาได้ตกลงกันว่า ธุรกิจนั้นมีความยากและเหนื่อย ดังนั้นควรต้องทำในสิ่งที่ชอบ สุดท้ายจึงมาลงเอยด้วยบริการจัดหาฟรีแลนซ์ และนี่คือที่มาของ “ฟาสต์เวิร์ค”


“จากประสบการณ์ที่ผมเคยใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก ซึ่งสัมผัสได้ถึงชีวิตที่มีอิสระทั้งยังมีช่องทางหาเงินเลี้ยงดูตัวเองได้ด้วย เลยอยากให้คนไทยได้รับโอกาสแบบนี้บ้าง คือมีอิสระ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก มีเงินมาเลี้ยงดูตัวเองได้ เราเลยสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อให้คนไทยนำเอาความสามารถ ความรู้ที่มีมาเปลี่ยนให้เป็นเงิน ส่วนเราจะทำหน้าที่หาผู้ว่าจ้างมาจ้างงานเขา”


ตั๊บ เล่าต่อว่า สตาร์ทอัพทั่วไปอาจคิดจะโตลูกเดียว แต่ส่วนใหญ่ก็มักล้มหายตายจากไป แต่ในการสร้างฟาสต์เวิร์คของพวกเขามีแนวคิดที่ต่างออกไป


“ผมต้องการเลี้ยงดูตัวเอง สักวันหนึ่งก็จะให้พ่อแม่เกษียณและดูแลเขาด้วยเงินที่เราหามาได้ ดังนั้นสิ่งที่เราสร้างต้องอยู่ยงคงกะพัน เราไม่ได้สร้างมาเพื่อวันหนึ่งจะเอาไปขายร้อยล้านพันล้าน ที่ทำเพราะเรารักมัน ทุกคนในทีมของเรามองว่าทุกวันมันก็คือการได้เล่น และมีความสุข”


แต่จะให้ดีไม่ว่าธุรกิจอะไรควรต้องทำการวิจัย ต้องพยายามทำความเข้าใจถึงความต้องการ ทั้งฝั่งดีมานด์ ซึ่งฟาสต์เวิร์ตเจาะลึกครอบคลุมตั้งแต่คนประกาศขายครีมบนอินสตราแกรม และเฟซบุ๊ค บริษัทโลจิสติกส์ โดยเฉพาะเอเยนซี่ต่างๆที่งานล้นมือ ฯลฯ และฝั่งของซัพพลายหรือส่วนของฟรีแลนซ์ เพื่อหาจุดเชื่อมที่ดี ตลอดจนข้อตกลงที่ลงตัว


ส่วนเว็บไซต์ฟาสต์เวิร์ค ก็เกิดจากฝีมือของพวกเขาทั้งสองคนลงมือครีเอทกันเองทั้งสิ้น คือเริ่มจากศูนย์ ทั้งออกแบบเอง เขียนโค้ดเอง แต่ที่น่าทึ่งก็คือ พวกเขาทำเสร็จได้ภายในเวลา 10 สัปดาห์เท่านั้น!! (ฟาสต์เวิร์คกำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกทำให้ผู้ว่าจ้างกับฟรีแลนซ์สื่อสารกันง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม)


“ตอนนั้นผมยังอยู่นิวยอร์ค แต่พี่ใหม่อยู่เมืองไทย พี่ใหม่เป็นคนเขียนโค้ดซึ่งถือว่าเป็นงานหนัก ผมเลยรับงานกราฟฟิกทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องการหาเงินทุน เรื่องการตลาด เป็นคนหาทีมงาน ผมแทบจะไม่ได้นอน แต่ตอนนี้ทีมเรามี 7-8 คนแล้ว งานก็ชัดเจนขึ้น เวลานี้พี่ใหม่เป็นเฮดออฟโปรดักส์ ดูความเคลื่อนไหวของคอมมูนิตี้ ส่วนผมในฐานะซีอีโอจะดูภาพรวม ดูด้านการตลาด ดูไดเร็คชั่นของบริษัท ดูว่าโปรดักส์เราโอเคหรือไม่อย่างไร และพยายามหาคนเก่งเข้ามาอยู่ในทีม”


ซึ่งข้อดีก็คือ ในเมื่อฟาสต์เวิร์คเป็นเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมฟรีแลนซ์ ที่ได้รับการคัดกรองมาแล้วว่าต้องเป็นคนมีรู้มีความสามารถ เป็นมืออาชีพ มีผลงานที่เจ๋ง เลยเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับฟาสต์เวิร์คในการหาคนดีมีฝีมือเข้ามาอยู่ในทีม


“ที่ช่วยมากก็คือ ผมและพี่ใหม่ตอนที่อยู่นิวยอร์กเคยทำฟรีแลนซ์มาก่อน โดยเฉพาะพี่ใหม่เขาทำฟรีแลนซ์มาเยอะ จะเข้าใจดีในส่วนของฟรีแลนซ์ รู้เลยว่าผลงานคนไหนดีไม่ดี ตอนแรกๆ เราโฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊คให้ฟรีแลนซ์มาสมัครในระบบ และบอกเพื่อนๆให้ช่วย ๆบอกต่อกันไป ตอนนี้มีคนสมัครเข้ามามาก แต่เรามีการคัดผลงานคือถ้าไม่ดีจริงก็ลงเว็บเราไม่ได้”


อย่างไรก็ดี ก็ไม่ได้หมายความว่า ฟรีแลนซ์ที่อยู่ในระบบฟาสต์เวิร์คจะมีแต่ระดับ “เทพ” เท่านั้น เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีอาจไม่มีกำลังพอ แต่เว็บไซต์นี้จะมีฟรีแลนซ์ให้เลือกทุกระดับตั้งแต่เด็กนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบ ไปจนถึงระดับเซียนของวงการ


และแน่นอนว่าผลงานของเด็กอาจสู้ผู้ที่มีประสบการณ์ ทำงานมาแล้วสี่ซ้าห้าปีไม่ได้ แต่เกณฑ์ที่ฟาสต์เวิร์คใช้พิจารณาไม่ใช่แค่ผลงาน แต่มีเรื่องความน่าเชื่อถือ คือไม่หนีงาน ส่งงานตรงเวลา มีความเพียรพยายามในการทำงาน


“ผมว่ามันดีสำหรับผู้ว่าจ้าง เขาจะมีทางเลือกที่เยอะขึ้น หากอยากจ้างคนมีประสบการณ์เยอะก็อาจถูกเรียกค่าตัวเยอะ ฟรีแลนซ์ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์เขาก็ขอค่าตัวน้อยหน่อย ก็แล้วแต่ว่าธุรกิจต้องการสไตล์แบบไหน” ตั๊บกล่าว


ฟาสต์เวิร์คอวดโฉมในตลาดประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และเปิดบริการจัดหาฟรีแลนซ์ทั้งหมด 5 หมวดหมู่ ได้แก่ 1. วาดและกราฟฟิกดีไซน์ 2. เขียนและแปลภาษา 3. เว็บและโปรแกรมมิ่ง 4. วีดีโอและเสียง 5. การตลาดและโฆษณา


“ที่เรามีบริการ 5 หมวดหมู่ เนื่องมาจากการรีเสิร์ซตลาดของเราเพื่อหาว่า อะไรคืองานที่มีความต้องการเยอะที่สุด และกรองมาเป็น 5 บริการนี้ เรามองว่าถ้าจะเริ่มต้องเริ่มที่ตรงนี้ก่อน การทดลองตลาด หรือเวลาจะเริ่มทำอะไรต้องเริ่มจากจุดที่เราต้องมั่นใจว่าจะมีคนจ้างแน่นอน แต่อนาคตมันยังสามารถขยายต่อยอดได้อีกเยอะมาก ตอนนี้เราจับกลุ่มฟรีแลนซ์ที่ทำงานออนไลน์ สามารถเริ่มต้นและจบงานผ่านคอมพิวเตอร์ได้ แต่ก็ยังมีงานอื่นๆ อีกเยอะที่ไม่จำเป็นต้องมาทำออนไลน์” เป็นมุมมองของใหม่


ถามว่าปัจจุบันบริการไหนที่ถือว่าฮอตที่สุด คำตอบคือ ที่ได้รับความนิยมมากจริงๆ คือกราฟฟิกและงานเขียน เนื่องจากกระแสคอนเทนท์มาร์เก็ตติ้ง ที่มีทั้งเรื่องและภาพซึ่งเป็นกราฟฟิกกำลังเป็นขาขึ้น ถามต่อถึงรายได้ของฟาสต์เวิร์ค ได้รับคำตอบว่ามาจากการหักเปอร์เซ็นต์ค่าจ้างของฟรีแลนซ์ 17%


“ ในการจ้างงานแต่ละครั้งผู้ว่าจ้างกับฟรีแลนซ์เขาจะพูดคุยตกลงราคากันโดยการแชทผ่านเว็บของเรา โดยทางฟรีแลนซ์จะเป็นคนตั้งราคา พอตกลงกันได้ และฟรีแลนซ์ทำงานเสร็จส่งงานปุ๊บเมื่อผู้ว่าจ้างอนุมัติผ่าน ฟรีแลนซ์จะได้รับเงิน 83% จากราคาที่ได้ตั้งไว้ เช่นถ้าตั้งไว้ 1 พันบาท ฟรีแลนซ์จะได้ 830 บาท ส่วน170 บาทที่ได้มาทางฟาสต์เวิร์คจะเอาไปพัฒนาระบบ ไปทำการตลาดเพื่อหาผู้ว่าจ้างให้มากขึ้นอีก ยิ่งมีการจ้างงานมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสามารถหาผู้ว่าจ้างได้มากขึ้น”

ตั๊บบอกถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า ภายในปีนี้ฟาสต์เวิร์คต้องการผู้ว่าจ้างจำนวน 1-2 หมื่นราย ในหมายเหตุที่ไม่ซ้ำเดิม (ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2 พันราย)


“ผมว่าเป็นไปได้ เพราะหลังจากที่เราได้เข้าโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท ก็ช่วยได้เยอะ คือมีทั้งเงินทุน มีทั้ง Mentor และให้อะไรหลายต่อหลายอย่าง จนทำให้เราโตถึง 4 เท่าภายใน 8 อาทิตย์ ยอดการว่าจ้างเราโตเยอะมาก ดังนั้นการจะโตขึ้นอีก 10 เท่าก็ไม่น่ายาก”


ใหม่ ยังมองว่า ด้วยเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่ที่เดี๋ยวนี้ใคร ๆก็สนใจหันมาทำธุรกิจของตัวเอง แต่การเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวคนเดียว ย่อมต้องขาดแคลนทรัพยากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเก่งมีความรู้


“ฟรีแลนซ์หรือคนทำงานอิสระ จะเป็นคำตอบทำให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตได้ ธุรกิจเล็ก ๆไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงาน แต่จ้างฟรีแลนซ์เป็นจ็อบ ๆแทน มันเป็นเทรนด์ของโลกเลยก็ว่าได้ เดี๋ยวนี้มีช่องทางธุรกิจเยอะ โดยเฉพาะธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตถ้าไม่อยากเสียเงินเยอะก็จ้างเอาท์ซอร์ส กลายเป็นว่าฟาสต์เวิร์คกระโจนมาในจังหวะที่กระแสฟรีแลนซ์ และสตาร์ทอัพ รวมไปถึงแชร์ริ่งอีโคโนมี และ กิ๊กอีโคโนมี (เศรษฐกิจแบบรับจ้างทำงานชั่วคราว) กำลังมาพอดี”



ลองเร็ว เรียนรู้เร็ว


อาจกลัวไม่สมกับชื่อ ทุกจังหวะของทีมงานฟาสต์เวิร์คทุกคนจึงเต็มไปความรวดเร็ว ทำอะไรเร็วกว่าคนอื่นแทบจะทั้งหมด สองหนุ่มบอกว่าส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์ที่เคยทำงานที่นิวยอร์ก มหานครระดับโลกที่ทุกอย่างก้าวไกลไปเร็วทิ้งห่างประเทศไทยหลายเท่า


“ด้วยเทคโนโลยี คนที่มีความรู้ ทำให้สตาร์ทอัพที่นิวยอร์กแอดวานซ์ไปมาก พวกเราก็เรียนรู้มาจากเขา เรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ การเทสต์แล้วก็เลิร์น เทสต์แล้วก็เลิร์น ถ้าไม่รู้ก็ลองโยนออกไปก่อนเพื่อดูว่ามีผลตอบกลับมาอย่างไร แล้วก็ไปเรียนรู้จากมัน” ตั๊บกล่าว


ด้านใหม่ มองว่า ต้องคิดให้น้อย (แต่อย่ามัวแต่คิด) แต่ควรลงมือทำเลยจะดีกว่า ดูว่าผลที่เกิดขึ้นใช่อย่างที่คิดหรือไม่ อย่างไร


“ ถ้าไม่ลองทำอะไรสักอย่าง เราก็จะวนอยู่ในอ่าง โดยเฉพาะบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้น ต้องลองทำอะไรเยอะ ๆไว้ก่อน เพื่อเราจะได้เลือกเส้นทางที่มีทางรอดมากที่สุด ”