ชาวใต้ในอีสานร่วมจัดงาน 'ชิงเปรต'คนร่วมคึกคัก

ชาวใต้ในอีสานร่วมจัดงาน 'ชิงเปรต'คนร่วมคึกคัก

ลูกหลานชาวใต้ในจ.กาฬสินธุ์ และพุทธศาสนิกชน ร่วมงานเทศกาลบุญเดือนสิบ

 หรือประเพณีชิงเปรต ที่จัดขึ้นภายในวัดประชานิยม อ.เมืองกาฬสินธุ์ บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก มีผู้ร่วมประเพณีกว่า 300 คน ด้านนายกสมาคมชาวใต้ฯ เผยเป็นประเพณีวิถีชาวใต้ในถิ่นอีสานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยหวังให้ลูกหลานได้เห็น และยึดปฏิบัติประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทยทางภาคใต้ ไว้ไม่ให้สูญหาย 

วันที่ 1 ต.ค. 2559 ที่วัดประชานิยม อ.เมืองกาฬสินธุ์ นายวิศวชาติ สุวรรณราช ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส งานเทศกาลบุญเดือนสิบ ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการสมาคมชาวใต้จ.กาฬสินธุ์ และลูกหลานชาวใต้ในจ.กาฬสินธุ์ กว่า 300 คน ร่วมจัดขึ้น โดยเทศกาลบุญเดือนสิบ หรือประเพณีชิงเปรต ในถิ่นอีสาน ประจำปี 2559 

บรรยากาศคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า โดยนำขนมลา ขนมพอง ขนมกง ขนมดีซำ ขนมบ้า และอาหารมงคลวางที่ลานเปรต ก่อนจะถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ ชมการแสดงรำมโนราห์ ก่อนจะเข้าสู่พิธีชิงเปรต ที่ผู้เข้าร่วมพิธีใช้เวลาชิงเปรต ไม่ถึง 10 นาที ของมงคลในลานเปรตก็เกลี้ยงหายไปในพริบตา นับเป็นประเพณีที่หาดูได้ยากในถิ่นอีสาน 

นายจำเริญ แก้วเพ็งกรอ นายกสมาคมชาวใต้ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เทศกาลบุญเดือนสิบ หรือชิงเปรต ที่จ.กาฬสินธุ์ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และแต่ละปีงานเทศกาลบุญเดือนสิบที่จัดขึ้น จะยึดถือแนวปฏิบัติตามจารีตประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัดเปรียบเสมือนอยู่ถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน เพราะตระหนักดีว่าเป็นประเพณีวัฒนธรรม ที่ได้ถือปฏิบัติมาอย่างเหนียวแน่นมานาน ทั้งเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีโบราณ แม้จะพลัดถิ่นฐานจากบ้านเกิดมาอาศัยอยู่ในถิ่นอีสาน ก็ยังถือเป็นสิ่งที่จะต้องทำกันทุก ๆ ปี

ซึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงการทำอาหารประจำถิ่นของตนเองมาร่วมทำบุญ และร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นการแสดงพลังความสัมพันธ์ และความสามัคคีของชาวใต้ในอีสานที่ยังแน่นแฟ้นอยู่เสมอ โดยปีนี้มีชาวใต้จากทั้ง 18 อำเภอมาร่วมอย่างพร้อมเพรียง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดงานและพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อหวังให้ลูกหลานกลุ่มนี้ได้สืบทอดประเพณีวัฒนธรรม ที่ปฏิบัติกันมาได้สืบทอดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น