'กรมชลประทาน' เร่งทำคันล้อมจำกัดพื้นที่น้ำท่วม

'กรมชลประทาน' เร่งทำคันล้อมจำกัดพื้นที่น้ำท่วม

"มหาดไทย" ประชุมผู้ว่าฯทั่วประเทศ กำชับมาตรการช่วยเหลือ "น้ำท่วม" ยอมรับ 3 จังหวัดน่าเป็นห่วง ด้านกรมชลฯ เร่งทำคันล้อมจำกัดพื้นที่น้ำท่วม

วานนี้ (30 ก.ย.) นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อสั่งการให้ทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมการประชุม

นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ขอชี้แจงว่า น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติ จากมวลน้ำภาคเหนือ และน้ำฝนที่ตกลงมา ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รัฐบาลจำเป็นต้องระบายน้ำเข้าไปในบางพื้นที่ ส่วนพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวช่วงเดือน ต.ค. หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว ก็จะทำการระบายน้ำเข้าไปเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูกาลต่อไป

มท.ยอมรับ3จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วม

สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ยอมรับว่า มีอยู่ 3 จังหวัดที่น่าห่วง คือ ชัยนาท อยุธยา และอ่างทอง แต่ยืนยันว่าสถานการณ์จะไม่หนักเท่าปี 2554 เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก อย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ยังสามารถรับน้ำได้ 30-40% ขณะที่น้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นน้ำที่เกิดจากฝนตกต่อเนื่อง และระบายไม่ทัน ไม่ใช่ผลกระทบที่ระบายจากพื้นที่อื่น

ด้านนายสุเทพ กล่าวว่าสถานการณ์น้ำในขณะนี้ แยกเป็นส่วนเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไป ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อย มีการระบายน้ำเป็นปกติที่จะนำมาใช้ในพื้นที่ตอนบน ดังนั้นน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา เป็นฝนที่ตกตามพื้นที่ต่างๆ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ส่วนน้ำในพื้นที่ตอนล่างเป็นน้ำฝนที่ตกขังอยู่ในพื้นที่ การระบายน้ำในปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถควบคุมไม่ให้ไหลบ่าออกไปนอกสองฝั่งได้

สร้างคันกั้นน้ำจำกัดพื้นที่น้ำท่วม

นอกจากนี้กรมชลฯได้สร้างคันกั้นน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำไหลออกไปแบบสะเปะสะปะ ยืนยันว่าน้ำจะอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น

นายระพี ผ่องบุพกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการน้ำภายใต้การสั่งการของกรมชลประทาน เพราะฉะนั้นกรมชลฯ ต้องยอมเปิดปากบอกผู้ว่าฯ ว่าพื้นที่ไหนน่าห่วงอย่างไร เพราะกรมชลฯรู้หมด แต่ไม่กล้าบอก เพราะผู้ว่าฯ นายอำเภอต้องไปเคลียร์กับประชาชน ต้องเฉลี่ยทุกข์สุขของประชาชนแต่ละพื้นที่ เช่น บางครั้งจำเป็นต้องปิดประตูน้ำไว้ก่อน ในแบบสลับไปมา แต่ประชาชนอาจมาเห็นคันกั้นน้ำปิดในขณะที่น้ำท่วมตัวเองอยู่

กทม.ระดมสูบน้ำ-กระสอบทราย

นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่าหากมีปริมาณฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้เตือนไว้ ก็ยังเป็นห่วงในพื้นที่เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา ดอนเมือง หลักสี่ และสายไหม ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่กลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม หรือวางกระสอบทราย เพื่อช่วยเหลือประชาชน

นอกจากนี้ปริมาณน้ำในคลองในพื้นที่ชั้นในและฝั่งธนบุรี อยู่ในเกณฑ์ที่ยังควบคุมได้ ยกเว้นคลองที่อยู่พื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังไม่ปลอดภัย

ส่วนที่ประชาชนเป็นห่วงว่าพื้นที่กรุงเทพฯจะมีน้ำท่วมเช่นเดียวกับในปี 2554 นั้น ยืนยันว่าไม่เกิดขึ้นแน่นอนเพราะตัวเลขของปริมาณน้ำในจังหวัดต่างๆ ไม่เหมือนกับปี 2554 อีกทั้งในปีนี้กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด ตนจึงคิดว่าไม่ต้องกังวลว่าจะมีน้ำท่วมดังกล่าวเกิดขึ้น

พิษณุโลกหน่วงน้ำช่วยลุ่มเจ้าพระยา

ด้านนายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้น้ำจากแม่น้ำยมที่เออล่นตลิ่งตั้งแต่กลางเดือนก.ย. ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในเขต อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย อ.พรหมพิราม อ.เมือง และ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก มีน้ำเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ประมาณ 71,000 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำที่จังหวัดพิษณุโลก-สุโขทัย หน่วงไว้ให้แก่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ประมาณ 120 ล้าน ลบ ม.

นอกจากนี้ยังมีแก้มลิงในเขตอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก อีก 3 บึง 15 ล้าน ลบ.ม.รวมขณะนี้น้ำจากแม่น้ำยมที่ท่วมในพิษณุโลกและสุโขทัย มีน้ำอยู่ประมาณ 135 ล้าน ลบ ม. เป็นการหน่วงน้ำช่วยพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

ส่วนที่ จ.พิจิตร น้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ที่ไหลมาจากอำเภอชนแดน ยังไหลเข้าลงมาท่วมพื้นที่ ในพื้นที่อ.บางมูลนาก ซึ่งเป็นที่ราบต่ำ เพื่อรอระบายลงแม่น้ำน่าน อย่างต่อเนื่องล่าสุดมวลน้ำได้ไหลลงมาตามลำคลองบุษบง จนล้นไหลเข้าท่วมบ้านเรือน ประชาชน ในตำบลภูมิ จำนวน 5 หมู่บ้าน 400 หลังคาเรือน ระดับน้ำท่วมสูง 50- 60 เซนติเมตร ชาวบ้านต้องนำสัตว์เลี้ยง ออกจากคอกที่ถูกน้ำท่วม ไปเลี้ยงไว้บนที่สูง

อำเภอบางมูลนาก และองค์กรปกครองส่วนตำบล ได้ออกสำรวจความเสียหาย และให้การช่วยเหลือ พร้อมเปิดทางน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมขังไหลลงสู่พื้นที่ด้านล่าง คาดว่าน้ำจะลดลง ใน 2-3 วันนี้