คลังเร่งรัฐวิสาหกิจลงทุน 6 แสนล้าน

คลังเร่งรัฐวิสาหกิจลงทุน 6 แสนล้าน

คลังเร่งรัฐวิสาหกิจลงทุนปีหน้า 6 แสนลบ.เพิ่มขึ้นเท่าตัว พร้อมตั้งเป้าเบิกจ่ายให้ได้ 95% หวังกระตุ้นให้เอกชนลงทุนตาม เชื่อดันจีดีพีโตเกิน 4%

การลงทุนภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระดับ 3.5-4% ท่ามกลางการส่งออกที่ทรุด และสัญญาณการบริโภคภายในประเทศที่เริ่มแผ่วขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็ยังไม่เกิดขึ้น ภาครัฐจึงต้องเร่งการลงทุนของรัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพื่อสร้างความมั่นใจภาคเอกชนให้ลงทุนตาม

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปีหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีแผนจะลงทุนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 6 แสนล้านบาท จากการลงทุนในปีนี้ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเร่งนำโครงการลงทุนในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้ามาลงทุนในปีหน้าเลย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเติบโตในภาวะที่เอกชนยังไม่ยอมลงทุน

นอกจากนี้ยังมีการตั้งเป้าเบิกจ่ายงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 95% และจะไม่ยอมให้รัฐวิสาหกิจมาขอปรับลดเป้าการเบิกจ่ายงบลงทุนลงในช่วงท้ายปีงบประมาณเหมือนที่ผ่านมา สำหรับการเบิกจ่ายในปีนี้ยอมรับว่ารัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าเป้า โดยเบิกจ่ายได้เพียง 50% เท่านั้น

ดันรสก.นำร่องดึงเอกชนลงทุนตาม

“ทุกวันนี้ เอกชนยังไม่ลงทุนมากอย่างที่คิด ถ้าเอกชนลงทุนเมื่อไหร่ จีพีดีจะโตกว่า 4% ทันที ซึ่งหากเอกชนไม่ทำ รัฐวิสาหกิจควรเป็นคนลงทุนกระตุ้นให้เขาเดินตาม แห่งไหนที่มีแผนลงทุนในปีต่อๆ ไป ให้ขยับมาลงทุนก่อนในปีหน้า ถ้ารัฐวิสาหกิจลงทุน เอกชนลงแน่ จะเป็นตัวพลิกดันเศรษฐกิจที่กำลังลำบากให้กลับมาดีขึ้น” นายอภิศักดิ์กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาเสริมสร้างความรู้และธรรมาภิบาลของกรรมการรัฐวิสาหกิจ วานนี้ (30 ก.ย.)

เพิ่มเคพีไอรสก.ประสิทธิภาพบริหาร

นอกจากเรื่องการลงทุนแล้ว รัฐวิสาหกิจจะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยประธานกรรมการ กรรมการและซีอีโอ ควรบริหารรัฐวิสาหกิจในรูปแบบเดียวกับกิจการเอกชน มีการวางแผนงานและยุทธศาสตร์ในระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า พร้อมกำหนดเคพีไอให้สะท้อนแผนงานและวิสัยทัศน์ที่วางไว้ ซึ่งเป้าหมายการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจจะต้องมีเป้าหมายในการช่วยเหลือสังคมด้วย โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้ผู้ด้อยโอกาสมีโอกาสเข้าถึงบริการต่างๆได้มากขึ้น

“ประชาชนคิดเสมอว่ารัฐวิสาหกิจมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล และประสิทธิภาพ แนวคิดเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้น ก็เพราะต้องการให้มีการบริหารแบบเอกชน ซึ่งหากรัฐวิสาหกิจปรับตัวได้ มีแนวคิดการบริหารแบบเอกชน ก็ไม่จำเป็นต้องแปรรูป ซึ่งบทบาทกรรมการสำคัญ ต้องแอคทีฟดูแลองค์กรที่เรานั่งเป็นกรรมการอยู่”

งบลงทุนส่วนใหญ่ในกลุ่มปตท.

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้อนุมัติงบลงทุนรัฐวิสาหกิจรวมบริษัทลูกในปีงบประมาณ 2560 แล้ววงเงินรวม 5.2 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีการอนุมัติเพิ่มเติมอีกประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท เฉพาะงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอย่างเดียว 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าทุกปีที่รัฐวิสาหกิจมีการลงทุนเพียง 2-3 แสนล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และบริษัทลูก เช่นบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

สำหรับการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2559 นั้น ขณะนี้ได้เร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ผ่านกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เป็นตัวแทนกระทรวงการคลัง หรือ แอคทีฟแชร์โฮลเดอร์ พร้อมเร่งรัดผ่านซีอีโอของรัฐวิสาหกิจ โดยให้รายงานการเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นรายเดือน โดยรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ลงทุนได้ตามเป้า แต่ที่ล่าช้ากว่าแผนและเป็นการลงทุนโครงการใหญ่คือ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีก็เดินทางไปตรวจเยี่ยม และเร่งรัดการลงทุนแล้วทั้ง2 แห่ง

ทั้งนี้ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจทั้ง 55 แห่ง มีสินทรัพย์รวมกัน 13 ล้านล้านบาท มีรายได้รวม 5 ล้านล้านบาท กำไรสุทธิ 3 แสนล้านบาท และมีงบลงทุนต่อปีประมาณ 3 แสนล้านบาท

นายกหนุน รสก.5ปีลงทุน 10% ของงบรวม

ขณะเดียวกัน วานนี้ ที่ รร.เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบนโยบายในการสัมมนาเสริมสร้างความรู้และธรรมาภิบาลของกรรมการรัฐวิสาหกิจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจทั้ง 55 แห่ง มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศและให้บริการประชาชน ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจมีทรัพย์สินรวมกันถึง 13 ล้านล้านบาท ขณะที่มีการลงทุนรวมกันในแต่ละปีคิดเป็นการลงทุนประมาณ 50% ของการลงทุนภาครัฐ ดังนั้นหากจะสามารถผลักดันเป้าหมายการลงทุนในภาพรวมของประเทศให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปีตามแผนสศช. รัฐวิสาหกิจทุกแห่งจำเป็นต้องเร่งรัดการลงทุน โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีข้างหน้าซึ่งตรงกับระยะแรกของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐวิสาหกิจจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะลงทุนในเรื่องอะไรแล้วมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯและแผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างไร

จี้ทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี

ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องไปเร่งดำเนินการคือการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี รวมทั้งแผนแม่บท รวมทั้งแผนย่อยของการลงทุนในโครงการต่างๆออกมาให้มีความชัดเจน และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ทั้งในแง่สร้างความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนต่างๆของรัฐวิสาหกิจทำได้ง่ายขึ้น และโครงการอาจถูกคัดค้านน้อยลง

นอกจากนั้น การจัดทำแผนของรัฐวิสาหกิจเป็นข้อมูลสำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ได้มีข้อมูลว่าจะต้องดำเนินการลงทุนในเรื่องใดบ้าง ขณะเดียวกันก็ทำให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงเปลี่ยนแปลงโครงการได้ยากเนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีการวางแผนการลงทุนไว้แล้ว การทำงานของพนักงานก็เกิดความมั่นใจ ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปีหน้า

“ในอนาคตการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แต่ก็ต้องดูในส่วนของภาระหนี้สินด้วย ตอนนี้ระดับหนี้สาธารณะก็อยู่ในระดับที่เหมาะสมคือ 40 % วิธีไม่ให้เพิ่มขึ้นก็คือรัฐวิสาหกิจต้องมีกำไรมากขึ้น ขณะที่รัฐหน่วยงานไหนที่ขาดทุนก็ต้องทำให้ลดลง ซึ่งคือต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพราะหากขาดทุนอยู่ก็เหมือนรัฐล้วงกระเป๋าซ้ายไปจ่ายกระเป๋าขวา ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลกระเป๋าแห้งได้ ต่อไปการลงทุนต้องเอาเอกชนเข้ามาช่วยลงทุน เพื่อลดภาระของรัฐ”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการทำงานของรัฐวิสาหกิจถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่มีภาวะขาดทุน ผู้บริหารต้องทำให้พนักงานร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ โดย คนร. เข้าไปทำงานร่วมกับผู้บริหาร และกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแนวทางการปรับปรุงการทำงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันวัฒนธรรมองค์กรที่รัฐวิสาหกิจควรจะมีคือเรื่องของการสร้างธรรมาภิบาลในองค์กรเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจปีนี้ด้วยว่าจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3% ซึ่งถือว่าน่าพอใจในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่จะดูแค่เพียงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อย่างเดียวไม่ได้เพราะประชาชนและเกษตรกรที่มีรายได้น้อยยังไม่ได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของจีดีพี อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ดำเนินการต่อเนื่อง มีมาตรการในการดูแลประชาชนต่อเนื่อง

“เศรษฐกิจโลกยังไม่ดี โชคดีด้วยฝีมือของฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาล แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ประชาชนใช้จ่ายมากขึ้นเรากำลังเติมข้างล่างด้วยมาตรการที่เข้าไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ต้องมองกันแบบนี้ไม่ใช่มองว่าเศรษฐกิจโลกไม่ดีแล้วไม่เชื่อมั่น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว