'สมคิด'จี้'ร.ฟ.ท.' ตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์ระยะยาว

'สมคิด'จี้'ร.ฟ.ท.' ตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์ระยะยาว

"สมคิด" จี้ "ร.ฟ.ท." ตั้งคณะทำงานร่างยุทธศาสตร์ระยะยาว ก้าวสู่ "การรถไฟ4.0" ย้ำชัดต้องเริ่มต้นกางแผนพัฒนาที่ดินในมือ 6 แสนล้านให้มีรายได้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายคณะกรรมการ และผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ร.ฟ.ท.ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะทางการเงินมีสินทรัพย์มากกว่า 6 แสนล้านบาท โดยเฉพาะที่ดินแต่พบว่านำไปใช้ประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพน้อยมาก ขณะที่หนี้สินสะสมในปัจจุบันมีจำนวนสะสมอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท

ดังนั้นนโยบายหลังจากนี้ต้องการให้ ร.ฟ.ท.วางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 10-15 ปีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อให้เห็นแนวทางดำเนินงานในอนาคต วางรูปแบบของการบริหารสินทรัพย์เพราะเมื่อเทียบระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สินแล้วนับว่าเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่น่ากังวล

ประเด็นของการร่างแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะเกิดขึ้น ต้องการให้โฟกัสความสำคัญ 2 ส่วน คือ วางแผนบริหารเส้นทางเดินรถให้มีประสิทธิภาพยกระดับรายได้จากส่วนนี้ และ 2. การเพิ่มรายได้จากสินทรัพย์ในมือที่ดินรวมมูลค่า 6 แสนล้านบาทจะต้องเพิ่มรายได้เข้ามาหนุนการดำเนินงานของ ร.ฟ.ท.

ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้มีการจัดตั้งหน่วยงานภายในองค์กรเข้ามาพิจารณาสินทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่ดินของ ร.ฟ.ท.ที่มีอยู่หลังจากนี้จะต้องกำหนดอัตราราคาค่าเช่า และวางรูปแบบการร่วมทุนที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างชัดเจน

“เมื่อเทียบสินทรัพย์กับหนี้สินแล้วไม่น่ากังวลสำคัญการดำเนินงานของ ร.ฟ.ท. แต่ที่ผ่านมาไม่ได้นำสินทรัพย์มาพัฒนาให้เกิดผลชัดเจน ดังนั้นหลังจากนี้จะต้องมีแผนชัดว่าอีกกี่ปีจะนำรายได้มาจากส่วนไหนบ้าง โดยที่ดินในมือทั้งหมดจะต้องไม่มีการขายเด็ดขาด ร.ฟ.ท.จะต้องเข้าไปพัฒนาเอง หรือเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน เพราะหากทำเช่นนี้แล้วก็จะก้าวขึ้นเป็น ร.ฟ.ท. 4.0 ได้ เป็นหน่วยงานที่รู้เทคโนโลยี และ สคร.ก็จะเข้ามาช่วยอบรมบุคลากรให้เข้าใจถึงการปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้การพัฒนาที่ดินยังหมายถึงการจัดทำบ้านให้คนจนเป็นงานด้านซีเอสอาร์โดยให้ ร.ฟ.ท.ไปพิจารณาแล้ว”

นายสมคิด ยังกล่าวอีกว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ครั้งนี้ซึ่งจะเป็นผลบวกกับแผนงานที่เห็นชัดขึ้นของ ร.ฟ.ท. อีกทั้งยังเป็นส่วนช่วยของการวางงบประมาณแต่ละปี ทำให้ ร.ฟ.ท.สามารถควบคุมงบการเงินขององค์กร และเป็นองค์กรที่แข็งแรง มีงบการเงินที่สมดุล ซึ่งหมายถึงการมีรายรับมากกว่ารายจ่ายได้

ดังนั้นขั้นตอนแรก ร.ฟ.ท.จะต้องรู้ว่าแหล่งรายได้ที่จะนำเข้ามาเสริมการดำเนินงานคืออะไร โดยเรื่องนี้ต้องเร่งทำให้เสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ และผลที่ตามมาก็จะทำให้องค์กรเห็นภาพทั้งแผนบริหารทรัพย์สิน และแผนบริหารบุคลากร

สั่งประกวดราคารถไฟทางคู่7เส้นทางในปีนี้

ขณะที่โครงการลงทุนของ ร.ฟ.ท.ในปี 2559 จะต้องพัฒนาทางคู่จำนวน 7 เส้นทาง ปัจจุบันได้เริ่มต้นก่อสร้างไปแล้วจำนวน 2 เส้นทาง คือช่วงชุมทางถนนจิระ- ขอนแก่น และช่วงแก่งคอย-ฉะเชิงเทรา

ดังนั้นช่วงเวลาที่เหลือไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะต้องเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ทั้งหมดผ่านขั้นตอนครม.และเปิดประกวดราคาให้ได้ ก่อนจะเริ่มต้นโครงการในระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1.4 พันกิโลเมตร (กม.) วงเงินรวมประมาณ 2.9 แสนล้านบาท และทำให้เห็นว่าจุดมุ่งหมายหลักการทำงานของ ร.ฟ.ท.นอกจากจะพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ที่รัฐบาลมอบนโยบายอยู่ในขณะนี้

สิ่งสำคัญคือการพัฒนาระบบรางรถไฟทางคู่ให้เกิดขึ้นครอบคลุมภายในประเทศมากที่สุด

เร่งรถไฟความเร็วสูงเสนอครม.

นายสมคิด กล่าวว่าร.ฟ.ท.จะต้องเร่งรัดโครงการก่อสร้างทางสายใหม่ 2 เส้นทาง ระยะทางรวม 673 กม. นำเสนอ ครม.เห็นชอบให้แล้วเสร็จ คือ สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงของ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ขณะที่โครงการร่วมทุนที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นไฮสปีดเทรน ช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ตอนนี้ได้กำชับว่าจะต้องนำเสนอเข้า ครม.ให้ได้ภายในปีนี้ เพราะเป็นโครงการสำคัญที่จะสนับสนุนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกทั้งปัจจุบันยังได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)พิจารณาตัวสถานีเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองด้วย

นายสมคิด ยังกล่าวอีกว่า ร.ฟ.ท.จะต้องมีการปรับเงื่อนไขประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการร่วมทุนต่างๆ เพื่อให้เปิดกว้างการแข่งขันของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น โดยจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูงานในส่วนนี้โดยตรงพร้อมทั้งเปิดให้องค์กรต้านคอร์รัปชันสามารถเข้ามาดูขั้นตอนการประมูลได้เพื่อสร้างความโปร่งใส โดยส่วนนี้จะเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว และจะนำมาจัดใช้สำหรับการเปิดประมูลโครงการล่าสุดที่ ครม.เห็นชอบและจะเปิดประกวดราคาเร็วๆ นี้ คือ ช่วงประจวบฯ-ชุมพร และช่วงมาบกะเบา-จิระ

ร.ฟ.ท.มั่นใจเปิดประมูล7เส้นทางปีนี้

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ในระยะแรก 7 เส้นทางซึ่งอยู่ภายใต้แผนปี 2559 จะมีการเร่งรัดดำเนินการเปิดประมูลให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ มูลค่ารวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท คือ สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม.วงเงินประมาณ 7.7 หมื่น ล้านบาทและสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงบ้านไผ่-นครพนมระยะทาง 347 กม.วงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาทจะเร่งรัดนำเสนอ ครม.ให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2560 ก่อนจะสานต่อพัฒนาโครงการทางคู่ระยะที่สองอีก 7 เส้นทางในปี 2560 เพื่อให้แนวทางรถไฟเชื่อมโยงกับการคมนาคมอื่นๆ

ใช้ทีโออาร์ใหม่-สัญญาคุณธรรม

อย่างไรก็ดี สำหรับความคืบหน้าขั้นตอนประมูลรถไฟทางคู่ 7 เส้นทางระยะแรกนั้น ปัจจุบัน ครม.ได้เห็นชอบโครงการเพิ่มเติมจำนวน 2 เส้นทาง ประกอบไปด้วย ช่วงประจวบฯ-ชุมพร วงเงิน 1.72 หมื่นล้านบาท และช่วงมาบกะเบา-จิระ มูลค่า 2.98 หมื่นล้านบาท สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) เห็นชอบเปิดประกวดราคา คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ ก่อนจะเปิดขายซอง และเริ่มประมูลในช่วงเดือน พ.ย.ที่จะถึง

นายวุฒิชาติ กล่าวว่าทั้งสองโครงการข้างต้นจะเป็นงานส่วนแรกที่ ร.ฟ.ท.จัดใช้ทีโออาร์ใหม่ที่เปิดกว้างและเป็นไปตามสัญญาคุณธรรมมีความโปร่งใส