‘โพลีนเพาเวอร์’ หวังครั้งใหม่ ‘เลี่ยวไพรัตน์’

‘โพลีนเพาเวอร์’ หวังครั้งใหม่ ‘เลี่ยวไพรัตน์’

การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของ "ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์" ทำให้มีการคาดการณ์ว่ากลุ่ม "เลี่ยวไพรัตน์" มีมูลค่าเพิ่ม

บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) TPIPP บริษัทในเครือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) TPIPL ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน รวมถึงธุรกิจสถานีบริการเอ็นจีวีพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 2,500 ล้านหุ้น ( พาร์ 1 บาท )ส่งผลให้ทีพีไอโพลีน มีสัดส่วนลดลงจาก 100% เหลือ 70% สำหรับผู้ถือหุ้นทีพีไอโพลีน จะได้สิทธิ์จองซื้อหุ้นโพลีนเพาเวอร์ในอัตรา 161.52 หุ้นทีพีไอโพลีน ต่อ 1 หุ้นโพลีนเพาเวอร์ ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอบริษัทจะนำไปลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้โพลีน เพาเวอร์ มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มจากปัจจุบัน 150 เมกะวัตต์เป็น 440เมกะวัตต์และนำเงินบางส่วนไปใช้คืนเงินกู้ให้ทีพีไอโพลีน 5 พันล้านบาท

เมื่อโพลีนเพาเวอร์เข้าตลาดหุ้น และระดมทุนก้อนโต กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จะน่าเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งหลักๆคือ ทีพีไอโพลีน และกลุ่มตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

หากย้อนอดีตกลับจะพบว่าตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ มีความโดดเด่นทางด้านการเมืองและธุรกิจ และถือว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งอย่างทุลักทุเล และยาวนาน จนทำให้ต้องสูญเสียความเป็นเจ้าของ บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด(มหาชน)TPI เพราะต้องผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลาย และการปรับโครงสร้างใหม่จนกลายมาเป็นบริษัทไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน)IRPC

สิ่งที่คาดว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นโพลีน เพาเวอร์จะได้รับจากการรไอพีโอ คือ การรับรู้มูลค่าหุ้นที่ถือครองเพิ่มขึ้น ส่วนต่างกำไรหุ้น และเงินสดโพลีนเพาเวอร์จะนำมาชำระคืนหนี้ให้กับทีพีไอโพลีน นอกจากนี้จะเห็นว่าราคาหุ้นทีพีไอโพลีนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 13% มาร์เก็ตแคปจากระดับ 4.5 พันล้านบาทเป็น 4.8 พันล้าน 

บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า แนวโน้มกำไรทีพีไอโพลีนจะเติบโตตามโพลีนเพาเวอร์ โดยทีพีไอโพลีน จะมีการเปลี่ยนวิธีบันทึกมูลค่าที่ดิน อาคาร อุปกรณ์กลับไปที่ราคาทุน เพื่อไม่ต้องรับรู้ค่าเสื่อมราคาที่สูงเหมือนปัจจุบันแล้วจะนำส่วนเกินมูลค่าหุ้นจากการขายหุ้นไอพีโอราคาที่สูงกว่าพาร์ มาชดเชยส่วนเกินทุนจากการตีราคาทรัพย์สินที่จะหายไป 1.9 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ฐานกำไรปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 อีก 1.4 พันล้านบาท จากค่าเสื่อมราคาที่ลดลง ขณะที่ผลประกอบการปี 2560-62 จะเติบโตก้าวกระโดดตามโพลีนเพาเวอร์ หลังโรงไฟฟ้าขยะ 70เมกะวัตต์เริ่มเปิดไตรมาส1ปี2560  ขณะที่ ธุรกิจปูนซีเมนต์รับประโยชน์เต็มที่จากการลงทุนโครสร้างพื้นฐานภาครัฐ และคาดว่าปริมาณการใช้ปูนในประเทศเติบโตปีละ 5% ปี 2560-63 ทำให้รับประโยชน์จากโรงปูนที่ 4 กำลังการผลิต 4.5 ล้านตัน ซึ่งมีการเพิ่มสัดส่วนการขายในประเทศ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจาก 18% เป็น 22% ่

บล.ทิสโก้คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 3ปีนี้จะทรงตัว จาก่ธุรกิจก่อสร้าง และฤดูกาลอ่อนแอเป็นปัจจัยที่กดดัน แต่คาดว่าผลประกอบการจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส4ปีนี้ เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้า และการปรับปรุงมูลค่าตามบัญชีใหม่

จากข้อมูลดังกล่าว อาจประเมินได้ว่ารายได้กลุ่มโรงไฟฟ้าที่มาจากโพลีนเพาเวอร์ น่าจะเป็นตัวผลักดันอนาคตทีพีไอโพลีนให้กับมาเติบโตอีกครั้ง ซึ่งน่าจะถือได้ว่า กลุ่มตระกูลเลี่ยวไพรัตน์มีความหวังรอบใหม่อีกครั้ง