‘เอ็กซิมแบงก์’ลุยปล่อยกู้ลงทุนนอก

‘เอ็กซิมแบงก์’ลุยปล่อยกู้ลงทุนนอก

“เอ็กซิมแบงก์” มั่นใจปีนี้ปล่อยกู้ตามเป้า 1.8 หมื่นล้าน แม้ส่งออกยังไม่ฟื้น เร่งปรับกลยุทธ์หันเจาะกลุ่มสินเชื่อเพื่อลงทุนในต่างประเทศ

 เน้นกลุ่มซีแอลเอ็มวี พร้อมเปิดตัวสินเชื่อส่งออกทันใจ ดอกเบี้ยต่ำ 3.5% หวังช่วยผู้ส่งออกมีทุนหมุนเวียนรับออเดอร์ช่วงสิ้นปี

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยว่า มั่นใจว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท แม้ว่าภาคการค้าและการส่งออกโดยรวมจะไม่ค่อยดี เนื่องจากธนาคารได้ปรับตัวเจาะกลุ่มสินเชื่อเพื่อการลงทุนมากขึ้น โดยสินเชื่อปล่อยใหม่ ณ สิ้นเดือน ส.ค.ธนาคารทำได้แล้วกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับสินเชื่อเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ ล่าสุดของเอ็กซิมแบงก์ คิดเป็น 75% ของสินเชื่อคงค้างทั้งระบบที่มีอยู่ 7.5 หมื่นล้านบาท โดยมีการเติบโตในระดับ10% เป็นการเติบโตที่สูงกว่าการเติบโตของสินเชื่อปกติที่มีการเติบโตประมาณ 3-5% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 5.1% ตั้งเป้าไว้ว่าปลายปีนี้จะลดเอ็นพีแอลให้เหลือต่ำกว่า 5%

“ปีนี้เป็นปีแรกที่การค้าโลกเติบโตต่ำกว่าการเติบโตของจีดีพีโลก เนื่องจากในแต่ละประเทศได้ปรับตัวหันมากบริโภคภายในประเทศกันมากขึ้น ธนาคารเองก็ต้องปรับตัว โดยมุ่งไปเจาะกลุ่มสินเชื่อเพื่อการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ปลายปีนี้ธนาคารจะไปเปิดสำนักงานตัวแทนที่พม่า และปีหน้าจะเปิดอีก 3 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม”

เขากล่าวต่อว่า ธนาคารได้ออกสินเชื่อใหม่ คือ สินเชื่อส่งออกทันใจ (EXIM Instant Credit) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3.5% ต่อปี พร้อมบริการรับซื้อตั๋วส่งออกอนุมัติเร็วภายใน 7 วันทำการ จากเดิมใช้เวลาอนุมัติ 30 วัน และมีวงเงินสูงสุด 500,000 บาทต่อราย

เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีให้ส่งออกได้มากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ส่งออกไทยจะได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและของขวัญในช่วงเทศกาลตั้งแต่ปลายปีจนถึงต้นปีหน้า

เพราะแม้ว่าภาคการส่งออกของไทยจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ผู้ส่งออกยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอก เช่น การขาดสภาพคล่อง เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ ธนาคารจึงมีนโยบายพัฒนาบริการที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีของไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีความพร้อมในการขยายธุรกิจได้มากขึ้น

“ผู้ส่งออก เอสเอ็มอี เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การส่งออกขยายตัวมากขึ้น ธนาคารจึงได้พัฒนาบริการสินเชื่อ ควบคู่ไปกับเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ส่งออกเอสเอ็มอี โดยเน้นความรวดเร็วและความสะดวกในการเข้าถึงบริการของเอสเอ็มอี โดยสินเชื่อส่งออกทันใจเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในไตรมาสสุดท้าย”