จุดเปลี่ยน..ประกันสู่ยุค‘ดิจิทัลอินชัวรันส์’

 จุดเปลี่ยน..ประกันสู่ยุค‘ดิจิทัลอินชัวรันส์’

จากสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงยุทธศาสตร์ของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค“ไทยแลนด์ 4.0”

มุ่งเน้นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมทั้งการใช้ศักยภาพทางดิจิทัล เป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมประกันภัยต้องปรับตัวและก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงบริทบแวดล้อมต่างๆที่เกิดขึ้น

"ความท้าทาย" สำคัญ คือ "ความพร้อม" การเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลของ แต่ละบริษัท "แตกต่าง" กันขึ้นกับ "ศักยภาพ" ของแต่ละบริษัท หากเตรียมตัว “ไม่พร้อม" จะทำให้เกิดความ " เสียเปรียบ" ได้

สำหรับรูปร่างหน้าตา“ดิจิทัลอินชัวรันส์”เป็นอย่างไรนั้น หลายคนอาจนึกภาพไม่ออก ไม่ว่าทำอะไรได้บ้าง ดังนั้น จึงได้รวบรวมของนวัตกรรมใหม่ของแต่ละบริษัท ที่โหนกระแสดังกล่าวอย่างคึกคักตลอดเดือนก.ย.นี้ ทั้งประกาศยุทธศาสตร์และเปิดตัวอย่างทางการในปี 2559 หลังจากในช่วง3-5 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มปรับตัวและพัฒนาด้านดิจิทัลมาระยะหนึ่งแล้ว

แต่เมื่อมาถึงยุคนี้ที่คนไทยเปิดรับมากขึ้น“สาระ ล่ำซำ”ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทยบอกเลยว่าเป็น“ยุคประกันตื่นเต้นสุดๆ”พร้อมฉายภาพเอาไว้ชัดว่า ตอนนี้คนไทยเปิดรับมากขึ้นในรูปแบบการขายประกัน one to one และพฤติกรรมของคนไทยก็เปลี่ยนมาไปมาใช้ช่องทางดิจิทัลเข้าถึงประกันมากขึ้น ทั้งหาข้อมูลและค้นหาแบบประกันที่เหมาะกับความต้องการส่วนตัว

อีกทั้งบริษัทประกันเองก็มองหาเทคโนโลยีใหม่มาใช้สนับสนุนกระบวนการขายตั้งแต่ก่อนขาย ระหว่างการขายและดูแลหลังการขาย และอย่างธุรกิจประกันวินาศภัย เริ่มมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาผสมผสาน อย่างไบโอเทคและไบโอเทคมาใช้เพื่อให้คนไทยซื้อประกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ฝั่งธุรกิจประกันชีวิต 2บิ๊กบนถนนรัชดา ทั้ง บมจ.ไทยประกันชีวิตและ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ถึงออกมาประกาศยุทธศาสตร์ดิจิทัลอินชัวรันส์ ในเวลาไล่เลี่ยกันในช่วงก.ย.นี้

“อังกูร ศรีกัลยาณบุตร”รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Marketing Officer ไทยประกันชีวิต บอกว่าอนาคตไทยประกันชีวิต มีแนวคิดนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายเช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ วิธีการออกกำลังกาย วิธีการดูแลรักษาสุขภาพ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับบริการและช่วยเหลือลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งแชทและโทรศัพท์ เสมือนเป็นเลขาส่วนตัว

ขณะที่อีกฝั่งถนน บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ตั้งเป้าหมายผู้นำดิจิทัลอินชัวรันส์ โดยนำระบบดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนการทำงานทุกขั้นตอน เพื่อสอดรับกับนโยบาย customer centric และปี2559 ประกาศยุทธศาสตร์ “ MTL Digital Way” เริ่มตั้งแต่ก่อนขาย ระหว่างการขายและดูแลหลังการขาย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้เริ่มพัฒนาระบบดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนเพิ่มประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี หลังจากที่ผ่านมาบริษัทได้สนับสนุนงบลงทุนพัฒนาระบบหลักไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท

“ณาตยา สุขุม”ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บอกว่า เบื้องต้นรูปแบบกรมธรรม์ที่ขายผ่านระบบดิจิทัลยังมีข้อจำกัดในแง่ฐานข้อมูลและกฎเกณฑ์ ทำให้ต้องเริ่มต้น ด้วยกรมธรรม์แบบง่ายและไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่เชื่อว่าในอนาคตหากปลดล็อกข้อจำกัดดังกล่าวได้และพฤติกรรมผู้บริโภคใช้ดิจิทัลมากขึ้น ได้ก็มีโอกาสที่จะขายกรมธรรม์รูปแบบหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นเช่นเดียวกับต่างประเทศและมีโอกาสที่จะเห็นเบี้ยผ่านช่องทางดิจิทัลโตเป็น 2 หลัก

อย่างไรก็ตาม ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ฝั่งธุรกิจประกันวินาศภัย ต้องปรับตัวมากกว่า“อานนท์ วังวสุ”นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ยอมรับว่าช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ สำหรับประกันวินาศภัยเป็นช่วงที่ “ยากลำบาก” เพราะการลงทุนด้านดิจิทัล มีต้นทุนประมาณ 20-50ล้านบาท ถือเป็นต้นทุนมหาศาลสำหรับบางบริษัท โดยเฉพาะ “รายเล็ก”ที่ลงทุนไปแล้วอาจใช้งานไม่คุ้มค่า และไม่ใช่เรื่องง่ายจะทำ หรือทำแล้วอาจไม่รอดก็ได้

ขณะเดียวกันแม้ระบบมีความพร้อมแต่ฝั่งผู้ใช้หรือผู้เอาประกันยังไม่พร้อม ก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่แพง เช่นปัจจุบันหลายบริษัทต่างพัฒนาแอพพลิเคชั่นเคลมสินไหมออกมาใช้ ชื่อแตกต่างกันไป เช่น ไอเคลม ,เทเลเคลม หรือสมาร์ทเคลมเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สามารถถ่ายรูปส่งผ่านแอพลิเคชั่นเคลมมายังบริษัทเพื่อดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหม แต่สุดท้ายก็ยังพบว่าผู้เอาประกันยังต้องการ “คน” โดยโทรเรียกเจ้าหน้าที่สินไหมมาที่เกิดเหตุอยู่ดี

อย่างไรก็ดีในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ ทางสมาคมฯ พร้อมใจพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นระบบกลาง เพื่อเข้ามาช่วยเหลือให้แต่ละบริษัทได้นำไปใช้ร่วมกัน เพื่อลดต้นทุน และสร้างการแข่งขันที่อย่างเท่าเทียม เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลกลางประวัติผู้ขับขี่รถที่มีอัตราการเคลมสูงผิดปกติคาดว่าจะเริ่มได้ต้นปี2560 เป็นต้น

ดังนั้น บทสรุปของ“การเข้าสู่ยุคดิจิทัล” จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ต้องอาศัยนโยบายของรัฐใจการสนับสนุนและความร่วมมือจากทั้งฝ่ายองค์กรกำกับดูแลและภาคอุตสาหกรรมขณะเดียวกันต้องไม่ลืมจะต้องเตรียมรองรับ“ความเสี่ยง” จากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นภัยใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกยุคดิจิทัล เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยด้วยเช่นกัน