“อ่าวสยาม” จากสุสานสู่อุทยานทางทะเล

“อ่าวสยาม” จากสุสานสู่อุทยานทางทะเล

ไม่ใช่ “สิปาดัน” แต่ที่นี่คือ “อ่าวสยาม” สมบัติอันล้ำค่า และ “ว่าที่” อุทยานแห่งชาติน้องใหม่ของประเทศไทย

เคยนึกสงสัยบ้างมั้ยว่า ทำไมสถานที่สวยๆ แหล่งท่องเที่ยวดีๆ มักอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแทบทั้งหมด แถมเวลาจะไปเที่ยวก็มีกฎเยอะแยะมากมาย บางคนเลยถอดใจเพราะมัน “ไม่ง่าย” ที่จะได้สัมผัส


ไม่แปลกที่จะเป็นแบบนั้น เพราะการเข้าถึงอะไรง่ายๆ นำมาซึ่งความเสียหายเสื่อมโทรม หากไม่ดูแลรักษาไว้ในขอบเขตที่ปลอดภัย อาจจะไม่มีอะไรดีๆ หลงเหลือไว้ให้ลูกหลานได้เชยชมกันในวันข้างหน้า


เช่นเดียวกับ “อ่าวสยาม” หรืออ่าวไทยบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่อยู่ในระหว่างการเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ ซึ่งนอกจากทรัพยากรบนบกที่ครบถ้วนไปด้วยพันธุ์ไม้ รวมถึงสวนป่ายางนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทรัพยากรใต้ทะเลก็มีความหลากหลาย จนใครๆ ยกให้เป็น “สวนดอกไม้ใต้น้ำ” ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวไทยเลยทีเดียว


แต่...กว่าจะมาเป็นอุทยานแห่งชาติอ่าวสยามที่สวยสะพรั่งดั่งเพชรเม็ดงามของประเทศไทย พื้นที่บริเวณนี้เคยมีสภาพคล้าย “สุสานแห่งอ่าวไทย” ที่โหดร้ายมาก่อน


ฟื้นสุสานเป็นสวนสวรรค์


“นั่งอยู่สักชั่วโมงมีเสียงระเบิดสัก 10 ครั้งได้ คนจับปลาด้วยระเบิด เขาใช้เรือหางยาวมา โยนระเบิดปุ๊บปลาตาย เขาก็ใช้สวิงตัก ซึ่งเป็นภาพปกติของคนที่นี่” ปรีดา เจริญพักตร์ เล่าเนิบๆ ขณะกำลังย้อนถึงสภาพอ่าวไทยบริเวณอ่าวบางสะพานและเกาะทะลุเมื่อราว 40 ปีก่อน


จะว่าไป เรื่องที่ปรีดาเล่าก็สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอ่าวไทยได้พอสมควร เพราะพื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมจนถึงขั้นมีเรือเป็นร้อยๆ ลำพร้อมใจกันเดินเครื่องเข้ามา อดีต “คนปล้นปลา” อย่างปรีดาก็เช่นกัน


“มีอยู่วันหนึ่งผมลากอวนแล้วมันได้ 3 เบส (3,000 กิโลกรัม) ผมก็โทรเรียกเพื่อน พอวิทยุออกไปปรากฏว่าเรือมาเป็นร้อยลำเลย หลังเกาะทะลุนี่มืดฟ้ามัวดิน น้ำขุ่นเลย ระหว่างที่น้ำขุ่น แล้วเรือมันมากันเป็นร้อยๆ ลำ ควันโขมง โอ้โห แล้วประเทศไทยจะเหลืออะไร”


หลังสะดุดกับภาพที่เห็นตรงหน้า ปรีดาจึงเปลี่ยนโหมดตัวเองจาก “นักเลงปลา” มาเป็น “ปู่โสมอาสา” ที่เฝ้าดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลบริเวณอ่าวสยามทั้งหมด โดยเฉพาะเกาะทะลุ ที่ปรีดายอมขายเรือลากปลาแล้วมาซื้อที่ดินบนเกาะต่อจากผู้ครอบครองเดิม เพื่อกันไม่ให้เกาะทะลุของไทยกลายไปเป็นของชาวต่างชาติ


ปรีดาเริ่มพาตัวเองเข้าสู่เส้นทางของการอนุรักษ์ ทุกๆ เช้าเขาและภรรยาจะเดินวนอยู่แถวชายหาด เจอสัตว์อะไรเกยตื้นก็พาลงทะเล ทั้งหอยมือเสือ ปลิงทะเล ปลาทะเล รวมถึงกิ่งปะการังที่ถูกคลื่นซัดกิ่งขึ้นมา เขาก็หาวิธีพามันลงไปปลูกในทะเลจนได้


ไม่เพียงเท่านั้นเขายังฟื้นฟูแนวปะการังที่เกิดวิกฤตการณ์สูญเสียมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และบริษัท วินีไทย จำกัด(มหาชน) จนอ่าวสยามกลายเป็นป่าปะการัง ส่วนโครงการจัดการทรัพยากรชุมชนอ่าวบางสะพานที่ปรีดาปลุกปั้นขึ้นก็ช่วยสร้างจิตสำนึกให้กับชาวประมงในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง จนเกาะทะลุและอ่าวบางสะพานกลับมามีทรัพยากรทางทะเลที่สมบูรณ์สวยงามอีกครั้ง


ในทะเลก็รักษ์ บนบกก็ดูแลไม่ขาดเหมือนกัน ปรีดาบอกว่า ราวปี 2534-2535 เขาก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ขึ้นเพื่อรักษาพื้นที่ป่าบริเวณเขาแม่รำพึงซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน


“ปี 2534-2535 เราเริ่มปลูกป่าบนยอดเขา เขาแม่รำพึงเมื่อก่อนเป็นเขาหัวโล้น ผมก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ พอถึงวันสำคัญก็พากันขึ้นไปปลูกป่าที่แม่รำพึง สภาพป่าเมื่อก่อนไม่มีอะไรเลย มีต้นไม้เล็กๆ ตอนนี้ต้นไม้ใหญ่เป็นหมื่นๆ ต้น” ปรีดา บอก


“อ่าวสยาม” อัญมณีล้ำค่า


จากสุสานกลายมาเป็นสวนสวรรค์ในที่สุด และนี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวในทะเลไทย


ภัทร อินทรไพโรจน์ หัวหน้าวนอุทยานป่ากลางอ่าว และวนอุทยานเขาแม่รำพึง รวมถึง “ว่าที่” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม กล่าวว่า ช่วงเกาะทะลุมีความสวยงาม มีป่าปะการังที่อุดมสมบูรณ์ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง วนอุทยานป่ากลางอ่าวและวนอุทยานแม่รำพึง คือหน่วยงานที่ใกล้ที่สุด กรมอุทยานฯ จึงมีความคิดที่จะรวมเกาะทะลุ เกาะสิงห์ เกาะสังข์ เป็นอุทยานแห่งชาติอ่าวสยามร่วมกัน


“ที่ผ่านมามีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่มีการแบ่งโซน ปะการังที่อุดมสมบูรณ์ก็โดนทำลาย ทั้งการทิ้งสมอ การเอานักท่องเที่ยวไปลงไว้ นักท่องเที่ยวที่ไม่มีความรู้มากพอ พอเหนื่อยแล้วบางทีเขาก็ยืนบนปะการังเลย ปะการังก็เสียหาย เราไม่ได้โทษเขานะ เขาไม่มีความรู้ แล้วไกด์ก็ดูแลไม่ทั่วถึง เพราะเอามาที 50-60 คน เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอุทยานแล้วก็จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลให้ความรู้อย่างถูกต้องก่อน รวมถึงจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว แล้วจัดโซนท่องเที่ยว เพื่อให้ปะการังได้มีการฟื้นฟูตัวเอง”


สำหรับอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยามกินบริเวณพื้นที่วนอุทยานป่ากลางอ่าว 1,200 ไร่ วนอุทยานเขาแม่รำพึง 1,450 ไร่ เกาะทะลุ เกาะสิงห์และพื้นที่โดยรอบรัศมี 1 กิโลเมตร เกาะสังข์และพื้นที่โดยรอบ 500 เมตร พื้นที่ทะเลริมชายฝั่ง รวมๆ แล้วประมาณ 20,047 ไร่


“เกาะทะลุเป็นพื้นที่ที่มีเอกชนถือครองที่ดินอยู่ด้วย เขามีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ก็มีการนำชี้รังวัด ซึ่งพื้นที่ที่เป็นเอกสารสิทธิ์ก็ไม่เกี่ยวกับอุทยาน ที่เหลือที่เป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็เป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ


ต่อไปเมื่อประกาศอุทยานแห่งชาติแล้วก็สามารถท่องเที่ยวได้เหมือนเดิม ติดต่อเกาะทะลุได้โดยตรง ซึ่งเกาะจะรายงานการเข้าออกของนักท่องเที่ยวกับอุทยาน บริษัทท่องเที่ยวอื่นๆ ก็เหมือนกัน ต้องแจ้งอุทยานด้วย”


หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้การดำเนินการประกาศอุทยานแห่งชาติอยู่ในขั้นของการเตรียมรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่า ภายในปีนี้จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้อย่างแน่นอน


“ชื่ออ่าวสยามมาจาก 2 ประเด็น คือ แผนที่ปัจจุบันบางเล่มเขาจะเขียนระบุไว้ว่า ที่นี่คือ อ่าวสยาม แล้วฝรั่งก็รู้จักในนามอ่าวสยาม กับอีกอันหนึ่งคือที่นี่เป็นทรัพยากรที่บรรพบุรุษไทยในอดีตอนุรักษ์ไว้สืบทอดกันมา เราใช้ชื่อนี้เพื่อระลึกนึกถึงบรรพบุรุษ เป็นการให้เกียรติบรรพบุรุษ”


เสน่หาทะเล(อ่าว)ไทย


ถามถึงจุดเด่นที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้องใหม่ บอกว่า ความอุดมสมบูรณ์ของป่าปะการังคือพระเอกคนสำคัญ แต่นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุผลดีๆ อีกหลายอย่างที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางมายังอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม


“อยู่ใกล้กรุงเทพฯ มาก และก็อยู่ใกล้ฝั่งมากๆ ด้วย นั่งเรือจากฝั่งแค่ 15 นาทีก็ถึง แล้วทั้งอุทยานสามารถท่องเที่ยวได้ภายในวันเดียว นอกจากทะเลสมบูรณ์ที่ป่ากลางอ่าว ซึ่งจะเป็นสถานที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ก็มีป่ายางนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นต้นยางธรรมชาติอายุกว่าร้อยปีที่มีมากถึง 6,000 ต้น ขนาดโดยรอบลำต้นใหญ่ประมาณ 500 เซนติเมตรเลย”


ภัทร ว่า อ่าวสยามเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาทูที่สำคัญของอ่าวไทย และที่น่าแปลกใจที่สุดคือ เกาะทะลุซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม เป็นสถานที่ที่มีเต่าในบัญชีไซเตสขึ้นมาวางไข่ทุกปีด้วย


“ที่นี่เป็นแหล่งที่เต่ากระขึ้นมาวางไข่ทุกปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม แต่เมื่อเป็นอุทยานแห่งชาติแล้วก็จะส่งมอบให้อุทยานแห่งชาติดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีมูลนิธิเป็นผู้สนับสนุน” ภัทร ว่า


สำหรับ “เต่ากระ” เป็นสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 1 และจัดอยู่ใน Appendix 1 ของอนุสัญญาไซเตส ในอดีตพบชุกชุมในอ่าวไทยและอันดามัน ปัจจุบันพบขึ้นไข่ที่เกาะทะลุเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย


“เท่าที่พบการวางไข่ของเต่ากระ ตอนนี้ที่เกาะทะลุเยอะที่สุด ที่อื่นๆ ส่วนมากจะเป็นเต่าตนุ" พันจ่าเอกธงชัย ชูคันหอม เจ้าหน้าที่จากกองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ที่มาช่วยดูแลเรื่องการเพาะฟักเต่ากระบนเกาะทะลุ ยืนยัน และว่า เกาะทะลุมีการบันทึกเรื่องเต่ากระไว้อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2552 พบการขึ้นวางไข่ทุกปีจนถึงปัจจุบัน การอนุรักษ์เต่าหายากบนเกาะทะลุจึงถือเป็นการสนองพระราชดำริตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


“ตอนนี้มีอุทยานและกองทัพเรือมาร่วมสนองพระราชดำริ เราจะเป็นศูนย์วิจัย เรียนรู้ และฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเลบริเวณอ่าวไทย ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้คือทรัพยากรแผ่นดิน จากปลาทูปีละเป็นแสนล้าน ถ้าเกิดไม่มีการทำลาย มีการอนุรักษ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ได้อีกเป็นเท่าตัว ปลาโอ ปลาอินทรีย์ หมึกกล้วย หมึกกระดอง สัตว์เศรษฐกิจทุกอย่างที่เป็นทรัพยากรแผ่นดินอีกหลายแสนล้านจะกลับมา และเมื่อเราฟื้นฟูอ่าวสยามให้มีทรัพยากรสมบูรณ์ ชาวบ้านทั้งประเทศก็จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แบบนี้มีความสุขกว่ากันเยอะ” ปรีดา เจริญพักตร์ กล่าวส่งท้าย


เรียกได้ว่า “อ่าวสยาม” เป็นโมเดลใหม่ในการสร้างพื้นที่อนุรักษ์จากความว่างเปล่า ความเสื่อมโทรมที่เคยมีถูกพลิกฟื้นโดยเอกชนที่เป็นหัวแรงใหญ่ และสุดท้ายกลายมาเป็นพื้นที่สงวนเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนภายใต้การดูแลของ “อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม”