พูดภาษาอังกฤษง่ายๆ กับ 'Globish'

พูดภาษาอังกฤษง่ายๆ กับ 'Globish'

ปัญหาไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษจะต้องหมดไปในยุคของ Internet of Things ด้วยความคิดนี้เลยกลายเป็นที่มาของสตาร์ทอัพที่ชื่อ “Globish”

“ธกานต์ อานันโทไทย” ( CEO) และ “ชื่นชีวัน วงษ์เสรี” (COO) ซึ่งเป็น Co-Founder ต่างก็มองเห็นและต้องการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน


ชื่นชีวัน เล่าว่า โดยแบ็คกราวน์ของธกานต์เคยเป็นอดีตประธานองค์กรแลกเปลี่ยนนักศึกษาระดับโลก AIESEC และทำงานอีกหลายโครงการทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับ “มาซาฮิโระ ซากาตะ” ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยเป็นเวลายาวนานและมีความคิดที่ตอบแทนแผ่นดิน เขาเลยชวนธกานต์ ทำธุรกิจเพื่อสังคมโดยการเปิดสอนภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนายกระดับศักยภาพให้กับคนไทย ซึ่งธกานต์เองได้รู้จักกับเธอผ่านการเข้าร่วมโครงการ Social Enterprise หรือ SE เดียวกัน ก็เลยชวนเธอมาทำด้วย


ต่อมาธกานต์กับเธอได้ขอนำเอาแนวคิดดังกล่าวออกมาทำกันเอง และได้พัฒนาสู่หลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งมีความโดดเด่นอยู่ตรงที่ เน้นการสนทนาแบบ “ตัวต่อตัว” หมายถึงผู้สอน ( Globish จะไม่เรียกว่าผู้สอนแต่เรียกว่าโค้ช ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ) กับผู้เรียนจะได้เห็นกันแบบ “เรียลไทม์” ผ่านวิดีโอคอลล์และสามารถ “ตอบโต้กันได้ทั้งสองทาง” ต้องบอกว่า รูปแบบการเรียนดังกล่าวถือว่าได้รับความนิยมสูงมากในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้


และหากจะเกิดประสิทธิภาพ ผู้เรีสามารถพูดภาษาอังกฤษได้โดยไม่เขินอายอีกต่อไป ผู้เรียนควรเจียดเวลามาเรียนกับโค้ชวันละ 25 นาที- 1 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลาทั้งหมด 6 เดือน (คอนเซ็ปต์ดังกล่าวมาจากประเทศออสเตรเลีย)


ทำไมภาษาอังกฤษจึงสำคัญ ชื่นชีวันบอกว่าเธอกับธกานต์มองว่า เพราะมันเป็นเรื่องของการ “เข้าถึงโอกาส” ที่มากมายหลากหลาย


ธกานต์เคยได้พูดไว้ในรายการ "เสือติดปีก" ก็คือ "ผมเคยประธานองค์กรนักศึกษาระดับโลกมาก่อน และเคยพานักศึกษาไทยเดินทางไปประชุมผู้นำสุดยอดที่ประเทศต่างๆ และทั้งๆที่ความจริงเด็กไทยเราเก่งมากแต่เวลาต้องประชุม ต้องขึ้นเวที หรือต้องจับกลุ่มแสดงความเห็น กลับไม่สามารถแสดงความเก่งได้เลย"


และมั่นใจว่า Globish จะช่วยขจัดปัญหาที่เคยเกิดขึ้นนี้ได้ และน่าจะช่วยให้คนไทย “Make New Friends” ได้ไม่ยาก และพอลอนซ์โปรดักส์ออกมาก็พบว่าฟีดแบ็คดีเป็นไปตามคาด ทั้งนี้คงเป็นเพราะทำให้คนได้มีโอกาสได้พูดภาษาอังกฤษแบบไม่ต้องเกร็งเสียที ทำนองว่า “หาแบบนี้มาตลอดไม่เคยเจอ” รวมถึงมีราคาก็ไม่สูงมากนัก (ราคา120-165 บาท/ 25นาที)


ชื่นชีวัน ยอมรับว่าเคยตั้งราคาที่ถูกกว่านี้ แต่ก็พบกับความท้าทายที่ว่า “เมื่อธุรกิจการศึกษาตั้งราคาถูกเกินไป ที่สุดกลับทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ”


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา Globish มีคนเข้ามาลงทะเบียนเรียนแล้วทั้งสิ้น 400 คน ในจำนวนนี้ที่แอคทีฟจริงๆ มีอยู่ 50 คน โดย 80% เป็นลูกค้าที่คนทั่วไป แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงานอายุระหว่า 25-35 ปี


"ที่พวกเขาอยากมาเรียนเพราะต้องการจะพัฒนาตัวเอง แม้ว่าเขาจะเรียนภาษาอังกฤษมามาก เก่งแกรมม่า เก่งคำศัพท์ แต่กลับพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เขาพูดกับเจ้านายฝรั่งไม่ได้ ที่สุดก็จะเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งไม่ได้"


ขณะที่อีก 20% เป็นลูกค้าองค์กร ซึ่งเวลานี้ก็มีบางองค์กรธุรกิจว่าจ้างให้ Globish จัดคอร์สการพูดภาษาอังกฤษสำหรับพนักงานที่ทำหน้าที่บริการประจำจุดขายที่เป็นสนามบินต่างๆ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ


“ที่เราต้องการก็คือ ลูกค้าระหว่างคนทั่วไปกับองค์กรมีสัดส่วนอยู่ที่ 60: 40 ซึ่งตอนนี้ก็พยายามให้ทีมงานวิ่งเข้าไปติดต่อกับองค์กรต่างๆ”


คำถามก็คือ มีวิธีสแกนคัดเลือกครู หรือที่ Globish เรียกว่าโค้ช ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจอย่างไร ชื่นชีวัน บอกว่าแรกสุดก็ไปรีครูทครูชาวฟิลิปปินส์มาทำหน้าที่สอน แต่เมื่อผู้เรียนได้เห็นหน้าว่าเป็นคนเอเชียด้วยกันกลับเกิดอาการยี้ขึ้นทันที


"ช่วงแรกๆ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำตรงกับความต้องการของคนไทยหรือไม่ พอเห็นว่าเขายี้ เราก็ไปหาครูฝรั่งเข้ามาเสริมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่เอาเข้าจริงแล้ว คนเอเชียด้วยกันเองจะสอนได้ดีกว่าเพราะเขามีความเข้าใจถึงความต้องการของคนเรียนมากกว่า ขณะที่ฝรั่งเขาจะไม่สนใจ และมักพูดเร็วจนฟังไม่ทัน"


เธอบอกว่า หลักการพิจารณาคัดเลือกครูสอนพูดภาษาอังกฤษของ Globish ไม่ได้ดูแค่ว่าต้องเก่ง คือพูดถูกหลักแกรมม่า สำเนียงดีเลิศเท่านั้น แต่จะมองไปถึงความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจ จนทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจกระทั่งเอาชนะความยากเพื่อที่จะพูดภาษาอังกฤษได้เก่งขึ้น


โดยหลักการแล้ว วิธีการคัดกรองโค้ช จะเริ่มจากให้ทางผู้เป็นโค้ชส่งประวัติการศึกษาและการทำงานเข้ามา จากนั้นก็จะมีการสัมภาษณ์แล้วให้เขาได้ทดลองสอนกับทางทีมงานเพื่อดูความสามารถและให้คะแนน จากนั้นเพื่อให้แน่ใจก็จะให้ทดลองสอนกับนักเรียนอีกรอบหนึ่งด้วย ซึ่งปัจจุบัน Globish มีจำนวนโค้ชประมาณ 200 คน โดยเป็นชาวต่างชาติทั้งจากยุโรป เอเชีย และอเมริกา


อย่างไรก็ดี ในการเรียนการสอนจริงๆ ทาง Globish จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เข้ามาเยี่ยมชมคลาสก่อน และทีมงานจะช่วยวัดระดับผู้เรียนแต่ละคนว่าความสามารถในภาษาอังกฤษอยู่เลเวลไหนอย่างไร จากนั้นก็จะจับคู่หาโค้ชที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้เรียนแต่ละคน


ปัจจุบัน Globish มีหลักสูตรการเรียนการสอน 3 คอร์สหลักๆ ได้แก่ 1.Build Up เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นที่มีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษไม่แน่น เป็นการเรียนภาษาอังกฤษพื้นฐานที่มีบทเรียนประกอบ 2.Warm Up เป็นการเรียนที่ได้ฝึกพูดโต้ตอบกับโค้ชในสถานการณ์สมมุติต่างๆ เป็นคอร์สที่เหมาะสำหรับทุกเลเวล และ3. Hands Up สำหรับคนที่พูดภาษาอังกฤษเก่งระดับหนึ่ง ไม่เน้นบทเรียนแต่เน้นการพูดให้คล่อง ผู้เรียนสามารถเลือกหัวข้อสนทนาที่สนใจได้โดยแจ้งกับโค้ชโดยตรง


ชื่นชีวัน ตั้งเป้าไว้ว่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า (หรือปีพ.ศ. 2562) Globish จะต้องมีผู้เข้าเรียนวันละ 2 พันคลาส พร้อมกับเปิดเผยถึงแผนการสเกลว่า ในไม่ช้าจะขยายธุรกิจไปที่ประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย เพราะมีความพร้อมทั้งเรื่องของจำนวนคนและระบบอินเตอร์เน็ตที่พร้อม ทั้งยังบอกว่ามีความสนใจประเทศเมียนมาร์อยู่ไม่น้อย ทว่าก็ต้องรอคอยความพร้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอินเตอร์เน็ต


ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่เธอบอกว่าสนใจก็คือ กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม เพราะมองว่าน่าจะเป็น Strategic Partner ที่ช่วยต่อยอดให้ Globish มีความแข็งแกร่งและเติบใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว


เมื่อถามถึงคีย์ซัคเซส เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจนี้มีคู่แข่งในตลาดเป็นจำนวนมาก พวกเขาบอกว่าต้องชูจุดแข็งและความโดดเด่นเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษรูปใหม่ที่ทุกคนเรียนได้เร็ว เรียนลัด และยังสนุกอีกด้วย ซึ่งผู้เล่นรายอื่นๆในตลาดมักจะเน้นไม่ให้มีการฝึกไปเลย ก็จะเน้นให้เรียนไปเลย

25 นาทีก็เก่งได้


ทำไมต้องเรียน 25 นาที เหตุผลคือเป็นระยะเวลาที่สมองจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด ที่ Globish ไม่ได้เน้นให้มีการเรียนนานๆ แต่จะเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนบ่อยๆ เพื่อทำให้ภาษาอังกฤษเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน


ถามว่าอังกฤษแนวใหม่ที่แต่ละครั้งเรียนแค่ 25 นาที จะทำให้คนพูดได้และคลายความประหม่าจริงหรือ? คำตอบก็คือ คนไทยอาจยังยึดติดกับภาพเดิมๆ คือภาษาอังกฤษออนไลน์หมายถึงการเรียนผ่านวิดีโอ เป็นอีเลิร์นนิ่ง มีคนสอนพูดภาษาอังกฤษแล้วให้พูดตาม ขณะที่ Globish ช่วยทำให้เกิดเรียนและการสนทนากันจริงๆ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของผู้เรียนขอให้มีเพียงแค่แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนเท่านั้น


ในความเห็นของผู้ก่อตั้ง Globish ก็คือ ในความเป็นจริงแล้วที่คนที่อายไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ มักเป็นคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดคุยกับฝรั่งหรือชาวต่างชาติ

เรื่องนี้เปรียบเหมือนการขี่จักรยาน กว่าจะขี่เป็นได้ต้องฝึกกันบ่อยๆ ภาษาอังกฤษก็เช่นกันลำพังแค่มีความรู้ หรืออ่านแค่ตำรา ก็คงไม่สามารถพูดได้