สภาพแวดล้อมศก.ไทยแกร่ง ขึ้นอันดับ13ของโลก

สภาพแวดล้อมศก.ไทยแกร่ง ขึ้นอันดับ13ของโลก

"เวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรั่ม" รายงานดัชนีขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก เผย "สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจไทย"แกร่ง ขึ้นอันดับ 13 ของโลก

ผลการสำรวจโดยเวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรั่ม หรือ WEF(World Economic Forum) พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 34 จาก138ประเทศทั่วโลกมีคะแนนอยู่ที่ 4.6 จากคะแนนเต็มที่ 7 คะแนน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้ไทยมีอันดับลดลง 2 อันดับจากปีที่ผ่านมา อยู่ที่อันดับ 32 โดยประเทศสเปน และชิลี ขยับอันดับขึ้นแซงประเทศไทย

หากเปรียบเทียบความสามารถทางการแข่งขันขอประเทศไทยกับปีที่ผ่านมา พบว่า อันดับที่ส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหาภาคของไทยมีอันดับดีขึ้น จากอันดับที่ 27 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 13 ของโลก สะท้อนจากการจัดทำงบประมาณสมดุลของภาครัฐ จากที่เคยดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ ทำให้สัดส่วนการออมของประเทศต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพี สูงขึ้น และสัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อจีดีพีลดต่ำลง

ขณะเดียวกันภาคธุรกิจมองว่า ปัญหาในการทำธุรกิจในเรื่องการคอร์รัปชันลดลง และศักยภาพของรัฐบาลดีขึ้น นอกจากนี้ในด้านนวัตกรรม (Innovation)ที่ได้รับคะแนนเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่ได้รับอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับ 57 มาอยู่ที่อันดับ54

ขณะที่ประเทศที่ได้อันดับ 1 ถึง 10 คือ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ฮ่องกง และฟินแลนด์ ตามลำดับ โดย 3 อันดับแรกยังครองแชมป์ตามเดิม

ด้านภาพรวมขีดความสามารถทางการแข่งขันกลุ่มประเทศในเอเซีย ประเทศไทยอยู่อันดับที่10 ไม่เปลี่ยนแปลง อันดับหนึ่งคือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มASEAN + 3พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 6 รองจาก สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และ จีน

ดัชนีชี้วัดของไทยที่โดดเด่น คือ ความน่าดึงดูดใจของทรัพย์สินทางธรรมชาติ (Attractiveness of Natural Assets)ที่ได้รับอันดับหนึ่ง การให้ความสำคัญของรัฐบาลที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเดินทาง ได้รับอันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสร้างความโดดเด่นให้กับธุรกิจท่องเที่ยวของไทย และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Extent of Virtual Social Networks Use)ที่ได้รับอันดับที่ 2 เป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เช่นกัน

รวมถึงในแง่ของความแข็งแกร่งของธนาคาร และ การเข้าถึงตลาดทุนภายในประเทศ (Local Capital Market Access)ได้รับอันดับ 3 รองจากประเทศ สิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น รวมถึงปัจจัยทางการด้านการตลาด (Extent of Marketing)และ ประสิทธิผลในการใช้การตลาดและแบรนด์ดิ้ง (Effectiveness of Marketing and Branding)ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้รับอันดับที่ 3

ทั้งสองประเด็นข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในASEAN+3 นับว่าเป็นการสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยด้านความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจ ทั้งทางด้านการเงินและการตลาดในเวที ASEAN+3 ได้เป็นอย่างดี โดยภาพรวมในกลุ่มอาเซียนอันดับลดลงทุกประเทศ ยกเว้น กัมพูชา และสิงคโปร์ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ยังอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้กับดักปานกลาง ที่เน้นเรื่องของการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่เน้นเรื่องของนวัตกรรม

รายงานของเวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรั่ม ยังมีข้อเสนอแนะต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย โดยหากประเทศไทยต้องการก้าวพ้นประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-Income Trap) ไทยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรมเป็นพิเศษ และให้ความสำคัญกับทักษะของบุคลากรที่จำเป็นสำหรับอนาคตการพัฒนาของภาคธุรกิจและความสามารถทางด้านนวัตกรรม รองรับต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0