จับตาโอเปกถกรัสเซียคืนนี้ชี้ทิศทางน้ำมัน

จับตาโอเปกถกรัสเซียคืนนี้ชี้ทิศทางน้ำมัน

สนพ. จับตาการประชุมระหว่างโอเปกและรัสเซียคืนนี้ คาดหากตกลงกันไม่ได้จะทำให้ราคาน้ำมันดิบลดเหลือ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลตามที่ สนพ. คาดไว้ และราคาขายปลีกในประเทศคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจนถึงสิ้นปี แต่ระยะสั้นต้องจับตาการหารือระหว่างกลุ่มผู้ค้าน้ำมันหลายรายใหญ่ (โอเปก) และประเทศรัสเซียในคืนนี้ ถ้าหาก 2 ฝ่ายยังตกลงเรื่องกำลังการผลิตไม่ได้ก็คาดว่าราคาน้ำมันดูไบจะลดลงจาก 43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน เหลือ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในระยะสั้น


ในระยะปานกลางต้องจับตาเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพราะถ้าประธานาธิบดีคนใหม่มีนโยบายต่างประเทศที่สร้างความขัดแย้งก็จะมีผลทางจิตวิทยาให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น
สำหรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ในตลาดโลก (CP) ปัจจุบันอยู่ที่ 340 ดอลลาร์สหรัฐ่อตัน เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 305 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่ยังระบุไม่ได้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะปรับขึ้นราคาขายปลีกแอลพีจีจาก 20.29 บาทต่อกิโลกรัมหรือไม่ เพราะต้องรอราคาเฉลี่ยทั้งเดือน ก.ย. ก่อน

นายทวารัฐ กล่าวถึงการใช้พลังงาน 9 เดือนแรก ของปี 2559 ว่า การใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP)
โดยมีความต้องการใช้พลังงานอยู่ที่ 2,105 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน แบ่งเป็นการใช้น้ำมัน เพิ่มขึ้น 4.8% จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แม้จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีความต้องการใช้ในระดับสูง เช่นเดียวกับการใช้ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 7.4% จากการใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ด้านการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้น 22.2% เนื่องจากโรงไฟฟ้าหงสา หน่วยที่ 3 ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบ

ด้านการใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงสุด 43% ของการใช้พลังงานขั้นต้นทั้งหมด มีการใช้ลดลง 2.6% เนื่องจากในช่วงต้นปีแหล่งก๊าซธรรมชาติของเมียนมาหยุดจ่ายก๊าซเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์ และแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย (เจดีเอ) หยุดซ่อมบำรุงในเดือน ส.ค. ทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติในระบบลดลง

โดยการใช้น้ำมันสำเร็จรูปคาดว่าอยู่ที่ระดับ 137 ล้านลิตรต่อวัน โดยการใช้น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปสำคัญ มีการใช้เพิ่มขึ้น 12.1% และ 4.1% ตามลำดับ ขณะที่การใช้ก๊าวแอลพีจีอยู่ที่ระดับ 503 พันตันต่อเดือน ลดลง 10.8%

สำหรับปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าอยู่ที่ระดับ 4,726 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันลดลง 1.0% โดยเป็นการลดลงเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า ลดลง 1.3% เนื่องจากในช่วงที่เมียนมาหยุดจ่ายก๊าซ โรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้าแทน การใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงแยกก๊าซ ลดลง 1.4% และการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ลดลง 8.6%

ในส่วนของปริมาณการใช้ไฟฟ้า ช่วง 9 เดือนแรกคาดว่ามีการใช้ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 137,424 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 4.9% โดยเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภาคส่วน ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) รอบปัจจุบัน เดือน ก.ย. – ธ.ค. อยู่ที่อัตรา -33.29 สตางค์ต่อหน่วย คงที่เท่ากับช่วงก่อนหน้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ไฟฟ้า และรองรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นในต้นปีหน้า