"หนังสือเล่มไม่ตาย..!"

"หนังสือเล่มไม่ตาย..!"

กระแสสื่อสิ่งพิมพ์ “ปิดตัว” ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในยุคที่ผู้บริโภคหันมาเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น

สำหรับสถานการณ์“หนังสือเล่ม”จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ยืนยันว่า“หนังสือเล่มไม่ตาย” แต่ต้องปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจ

การสำรวจพฤติกรรมเชิงคุณภาพผู้อ่านล่าสุดวันที่16-18ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มนักอ่าน “ไม่ได้” มีอัตราการอ่านหนังสือเปลี่ยนแปลงไปมากนัก ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ แต่อาจลดจำนวนการซื้อลงในภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ส่วนใหญ่จะเริ่มอ่านหนังสือ“นิยาย” ปัจจุบันครองสัดส่วนตลาดราว30%จากนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอ่านหนังสือประเภทอื่นๆเพิ่มขึ้น ช่องทางออนไลน์และโซเชียล มีเดีย ทำให้มีกลุ่มผู้อ่านมากขึ้น และเป็นคนละกลุ่มกับที่ชื่นชอบการเข้าร้านหนังสือ

ปัจจัยการดึงดูดนักอ่าน ของทั้งสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ ให้มีผู้อ่านมากขึ้น คือการจัดทำระบบฐานข้อมูลและบริหารฐานข้อมูลลูกค้าอย่างจริงจัง เพื่อนำเสนอ “ข้อมูลและกิจกรรมการตลาด” ที่ตรงใจนักอ่าน

อีกทั้งต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางหนังสือของร้าน ให้ตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ สร้างCommunity Engagement ในกลุ่มนักอ่าน ทั้งการจัดพื้นที่ให้นั่งอ่านหนังสือและคาเฟ่ในร้าน การจัดกิจกรรมระหว่างกลุ่มนักอ่าน รวมทั้งการปรับรูปแบบร้านให้เป็น ลักษณะกึ่งโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ รองรับเทรนด์กลุ่มคนรุ่นใหม่

ในกลุ่มสำนักพิมพ์กว่า500แห่ง ได้ปรับตัวตามทิศทางตลาดเช่นกัน โดยแต่ละแห่งลดจำนวนการผลิตหรือยอดพิมพ์หนังสือลง จากเดิมอยู่ที่ครั้งละ3,000-5,000เล่มต่อครั้ง เหลือราว700-1,500เล่มต่อครั้งให้สอดคล้องกับกำลังซื้อปัจจุบัน

ทั้งยังใช้ช่องทางการจำหน่ายหนังสือ การจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ หรืองานแฟร์ใหญ่ ปีละ2ครั้ง กระตุ้นยอดขายระหว่างปี พบว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มาซื้อหนังสือในงานแฟร์แต่ละครั้ง ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดรวมคนเข้าร้านหนังสือ ที่ยังเป็น“แฟนประจำ” มาซื้อหนังสือออกใหม่ต่อเนื่อง

งานบุ๊ค เอ็กซ์โป ระหว่างวันที่13-24ต.ค.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดว่าจะมีผู้ร่วมงาน2ล้านคน ทำยอดขาย500ล้านบาท เท่ากับครั้งที่ผ่านมา

แต่ยอมรับว่าอุตสาหกรรมหนังสือเล่ม อยู่ในภาวะ“ทรงตัว”ที่มูลค่า12,000ล้านบาท มาตั้งแต่ปี2553แม้จะไม่โต แต่มั่นใจว่า“หนังสือไม่ตาย”แน่นอน!