'เอดีบี' ปรับเพิ่ม 'จีดีพี' ไทยปีนี้โต 3.2%

'เอดีบี' ปรับเพิ่ม 'จีดีพี' ไทยปีนี้โต 3.2%

“เอดีบี” ปรับเพิ่ม “จีดีพี” ไทยปีนี้โต 3.2% หลังเศรษฐกิจครึ่งปีแรกโตกว่าคาด อานิสงส์เบิกจ่ายภาครัฐ มองการบริโภคเอกชนขยายตัวดีสุดรอบ 3 ปี

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คงคาดการณ์การเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียสำหรับปีนี้และปีหน้าที่ 5.7% ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจจีนและอินเดียขยายตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวที่ล่าช้าในสหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น จะถ่วงรั้งเอเชีย ส่วนเศรษฐกิจไทยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตในปีนี้เป็น 3.2% จากเดิม 3% เนื่องจากเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกเติบโตดีกว่าที่เคยประเมินไว้

นางสาวลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย เอดีบี กล่าวว่า จากการที่เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดหมาย จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2559 เป็น 3.2% และคาดว่าในปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.5% จากอานิสงส์ของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน

เบิกจ่ายภาครัฐดึงศก.โต

การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ นำโดยแผนลงทุนมูลค่า 5.4 พันล้านดอลลาร์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2565 และในครึ่งปีหลังยังมีการลงทุนต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 3.4% เป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการบริโภคที่กระเตื้องขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวถึง 11.8% ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การบริโภคภาครัฐเพิ่มขึ้น 5% นับเป็นอัตราการขยายตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2555

บริโภคไทยฟื้นรอบ 3 ปี

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.1% หลังจากหดตัวต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี โดยได้รับอานิสงส์ จากการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ส่งผลให้การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวถึง 2.2% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.1% ถึงแม้เป็นอัตราที่ไม่สูงนัก แต่เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3ปี ส่วนส่งออกปีนี้ คาดว่า ยังจะติดลบเล็กน้อย -1 ถึง -2%

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 เอดีบี คาดว่า จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ระดับ 3.5% ภายใต้สมมุติฐาน สถานการณ์การเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีการเลือกตั้ง เศรษฐกิจโลกไม่ผันผวนรุนแรง โดยมีแรงหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และแนวโน้มการขยายตัวของภาคเอกชน ส่วนการส่งออกปีหน้า คาดว่า จะไม่ติดลบอีกโดยจะขยายตัว 0-1%

คง‘จีดีพี’เอเชียโต5.7%

นอกจากนี้ เอดีบี คงคาดการณ์การเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียสำหรับปีนี้และปีหน้าที่ 5.7% ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจจีนและอินเดียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวที่ล่าช้าในสหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น จะถ่วงรั้งเอเชีย ทั้งยังมีประเด็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินในประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะความเสี่ยงของการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย อันจะทำให้เงินทุนไหลออก และอาจกระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจมหภาคในเอเชีย

“หนี้สินภาคเอกชนในหลายประเทศของเอเชียกำลังเพิ่มขึ้น สิ่งนี้อาจกลายเป็นประเด็นขึ้นมา หากประเทศต่างๆ เผชิญปัญหา หรือมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับสูง” เอดีบีระบุ

เอดีบีปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้และปีหน้าขึ้น 0.1% เป็น 6.6% สำหรับปีนี้ และ 6.4% สำหรับปีหน้า ด้วยเหตุผลว่าจีนดำเนินมาตรการกระตุ้นทั้งทางการคลังและการเงิน สำหรับอินเดียถูกคงคาดการณ์ไว้ที่ระดับเดิมคือ 7.4% ปีนี้ และ 7.8% ปีหน้า ได้แรงหนุนจากการบริโภคที่แข็งแกร่งและความคึกคักด้านการลงทุน

สำหรับคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียอาคเนย์นั้น คงเดิมที่ 4.5% สำหรับปีนี้ และเอดีบีระบุว่าได้แรงหนุนจากความเข้มแข็งช่วงครึ่งปีแรกของเศรษฐกิจไทยกับฟิลิปปินส์ แต่ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียอาคเนย์ปีหน้าลงเหลือ 4.6% จากคาดการณ์เดือนมี.ค.ที่ 4.8%

ในกรณีของเงินเฟ้อนั้น ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เฉลี่ยเป็น 2.6% จาก 2.5% ในปีนี้ และ 2.9% จาก 2.7% ปีหน้า ด้วยเหตุผลว่าราคาน้ำมันโลกและราคาอาหารสูงขึ้น

นำเข้าฟื้นสัญญาณลงทุนเริ่มมา

นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกสินค้าตามพิธีการศุลกากรของไทยฟื้นกลับมาเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนเมื่อเทียบกับปีก่อน ตลาดส่งออกหลักเป็นส่วนใหญ่มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นทั้งในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม และอาหารแปรรูป การนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้ายังแข็งแกร่ง สะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีของการส่งออกในระยะสั้น ถึงแม้ว่าการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจะขึ้นอยู่กับการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลก

อีกปัจจัยบวกหนึ่งคือการฟื้นตัวของการนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาณการฟื้นตัวครั้งแรกของการลงทุนภาคเอกชนที่แข็งแกร่งขึ้น หากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะมีความลังเลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น แม้ว่าเราจะคิดว่าธปท.สามารถที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีกครั้งจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระดับต่ำและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเชื่องช้าในภาพรวม

การฟื้นตัวของการส่งออกในเดือนส.ค.ถือเป็นข่าวที่ดีไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้เห็นการขยายตัวของการส่งออกในหลายตลาดหลักของไทย และข้อมูลส่งออกไม่ได้ถูกบิดเบือนจากการส่งออกที่ผันผวนของทองคำ โดยภาพรวม แนวโน้มการหดตัวของการส่งออกในปีนี้น่าจะไม่แตกต่างไปมากจากการคาดการณ์ของเราและธปท.ที่ 1.9% และ 2.5% ตามลำดับ

ธปท.เกาะติดภาคส่งออก

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยังต้องติดตามตัวเลขการส่งออกอย่างต่อเนื่อง แม้กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา แต่ต้องไปดูในรายละเอียดว่า มาจากปัจจัยใดบ้าง ขณะที่ตลาดต่างประเทศยังมีความผันผวนอยู่

“เป็นข่าวดีที่ตัวเลขการส่งออกเดือนส.ค. เป็นบวกในระดับที่สูง แต่ก็ต้องดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ต้องดูต่อเนื่อง ไม่ใช่เดือนเดียว เพราะมองไปข้างนอก ตลาดต่างประเทศก็ยังต้องระมัดระวังอยู่” นายวิรไท กล่าว

โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ เผยการส่งออกของไทยเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 6.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 เดือน โดยมีปัจจัยหลักจากการส่งออกรถยนต์ที่เติบโตสูง ทั้งประเมินการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะปรับตัวดีขึ้น และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือน ต.ค.-ธ.ค. ทำให้การส่งออกทั้งปีนี้ จะดีกว่าที่หลายหน่วยงานได้คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 2%