เผยพฤติกรรมการอ่านคนไทยเพิ่มขึ้น 66 นาทีต่อวัน

เผยพฤติกรรมการอ่านคนไทยเพิ่มขึ้น 66 นาทีต่อวัน

เผยพฤติกรรมการอ่านคนไทยเพิ่มขึ้น 66 นาทีต่อวัน ชี้ส่วนใหญ่อ่านจากอินเทอร์เน็ตและหนังสือพิมพ์ แจงเด็กชนบทต้องการอ่านหนังสือแต่ขาดโอกาสเข้าถึง

ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย(PUBAT) จัดแถลงข่าว มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 (Book Expo Thailand 2016)วันที่ 13-24 ต.ค.2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีนายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมPUBAT กล่าวว่า ในฐานะองค์กรที่พยายามเพิ่มจำนวนผู้อ่านหนังสือให้มากขึ้น จึงมีภารกิจสำคัญในการจัดงานดังกล่าวขึ้น โดยปีนี้เป็นการจัดงานภายใต้แนวคิด เสนอหน้า ซึ่งไม่ใช่เป็นความหมายด้านลบ แต่เป็นการนำเสนอเบื้องหลังในการจัดทำหนังสือมาสู่เบื้องหน้า เพราะหนังสือดีอย่างไรถ้าหน้าปกไม่สวย หนังสือก็ไม่น่าสนใจ

 ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้ นอกจากได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์ 406 ราย รวมทั้งสิ้น 934 บูธ และมีกิจกรรมพันธมิตรทั้งจากสมาคมนักเขียน สมาคมนักแปล มาเสวนา พูดคุยเรื่องหนังสือ เช่น เสวนาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จากหน้าปกถึงเนื้อใน อะไรคือลิขสิทธิ์ ,เสวนา บรรณาธิการระดับเทพ เป็นต้นแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการเสนอหน้า กว่าจะผ่านออกมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม ผ่าน 6 สาขาอาชีพสำคัญในการสร้างสรรค์หนังสือ     ได้แก่ นักเขียน บรรณาธิการ นักออกแบบกราฟฟิก นักแปล นักพิสูจน์อักษร และนักออกแบบภาพประกอบ โดยมีการจำลองกระบวนการผลิตจริงๆ รวมถึงคัดสรรหนังสือสวย 99 เล่ม แบ่งเป็นปกสวย 80 เล่ม และบุ๊คดีไซต์ 19 เล่ม โดยหนังสือสวยทั้งหมดนอกจากแสดงภายในงานนี้แล้ว ปีหน้าจะไปนำเสนอที่ต่างประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม งานมหกรรมหนังสือ ฯ เหมือนเรือนหนังสือขนาดใหญ่ที่มีบรรยากาศแตกต่างจากร้านหนังสือได้ และมีหนังสือหายากที่หลายคนตามหาอยู่ ดังนั้น งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 21 ปีนี้ จะมีหนังสือดี ราคาถูกที่สุดเท่าที่ขายหนังสือมาขายอย่างแน่นอน คาดว่าจะเจอหนังสือที่ถูกที่สุดเท่าที่ขายหนังสือมา และเชื่อมั่นว่างานนี้ จะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนเหมือนปีที่ผ่านมา โดยมียอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

“พฤติกรรมการอ่านของคนไทย ปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่อ่านอยู่คนละ 37 นาทีต่อวัน ก็เพิ่มเป็น 66 นาทีต่อวัน โดยหนังสือเล่มเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการอ่านเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่จะอ่านจากอินเทอร์เน็ต กับหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเทียบกับ ต่างประเทศยังถือว่าคนไทยอ่านน้อยกว่า โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและลาวที่มีนโยบายส่งเสริม การอ่านอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากสำหรับประเทศไทย และจากการศึกษา ยังพบอีกว่าเด็กในชนบทของไทย มีความต้องการอยากอ่านหนังสือมาก แต่กลับไม่มีโอกาสเข้าถึง เพราะห้องสมุดไม่มีหนังสือ หรือรัฐบาลไม่ได้สร้างโอกาส ไม่ได้ตั้งงบ เพื่อการจัดซื้อหนังสือที่มากพอ หนังสือที่เข้าห้องสมุดส่วนใหญ่ จะเป็นหนังสือเก่าที่ได้รับบริจาค ทำให้การเข้าถึงหนังสือของเด็กในชนบทยังน้อยอยู่ ส่งผลให้เด็กไม่ค่อยมีคุณภาพ”นายจรัญกล่าว

น.ส.ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ กรรมการสมาคมฯ กล่าวว่าสำหรับงาน วิจัย พฤติกรรมผู้บริโภคในการเข้าร้านหนังสือ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพในรูปแบบของกลุ่มสนทนา โดยมีจุดประสงค์หลักในการที่จะดึงดูดความสนใจให้ผู้บริโภคเข้าร้านหนังสือมากขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจถึงพฤติกรรมการอ่านหนังสือและการเข้าร้านหนังสือของนักอ่านยุคใหม่ โดยจากงานวิจัย พบว่าผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มนักอ่านตัวยงนั้น ไม่ได้มีอัตราการอ่านหนังสือที่เปลี่ยนไปมากนัก แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของประเภทหนังสือที่อ่านแทน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มอ่านหนังสือประเภทนวนิยายก่อน หลังจากนั้นจะมีการปลี่ยนแปลงไปอ่านประเภทอื่น ตามสภาพเศรษฐกิจและช่วงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการเข้ามาของช่องทางออนไลน์และโซเซียล มีเดีย ที่ทำให้นักอ่านมีช่องทางในการอ่านมากขึ้น

นอกจากนั้น เมื่อแบ่งกลุ่มผู้สนทนา เป็นกลุ่มคนที่เข้าร้านหนังสือประจำ และคนไม่ได้เข้าร้านหนังสือประจำ พบว่า งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ไม่มีผลต่อการเข้าร้านหนังสือ โดยกลุ่มผู้สนทนาทั้ง 2 กลุ่ม ยังคงไปซื้อหนังสือในร้านหนังสือเช่นเดิมและถ้ามีการเปิดตัวหนังสือที่ตนเองสนใจ แต่จะมีงานงานมหกรรมหนังสือระดับชาติเกิดขึ้นอีก 2-4 สัปดาห์ ผู้อ่านหนังสือก็ตัดสินใจซื้อหนังสือทันที

 ส่วนประเภทหนังสือที่ซื้อนั้น ผู้อ่านจะซื้อหนังสือแตกต่างจากร้านหนังสือ ทั้งนี้ กลุ่มคนที่เข้าร้านหนังสือประจำ จะไม่เชื่อการจัดอันดับหนังสือขายดีในร้านหนังสือ และจะไม่มีการศึกษาหาข้อมูลมาก่อน แต่กลุ่มคนที่ไม่เข้าร้านหนังสือประจำจะมีการศึกษา ค้นหาหนังสือที่ตนเองสนใจ และเชื่อการจัดอันดับในร้านหนังสือ 

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยชี้ชัดว่าตอนนี้คนไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลงตามที่สื่อโซเซียลระบุ ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวจะมีการวิจัยเชิงลึกเรื่อง e-book หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีผลการเข้าร้านหนังสือ โดยจะเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ สอบถามความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมงาน และจะนำเสนอผลงานวิจัยในงานมหกรรมหนังสือระดับชาตินี้

“การจะดึงดูดใหัผู้บริโภคมาที่ร้านหนังสือมากขึ้น ควรเริ่มการจัดทำระบบฐานข้อมูลลูกค้า รวมถึงบริหารฐานข้อมูลของลูกค้าอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้นำข้อมูลของผู้บริโภคมาวิเคราะห์และจัดเตรียมประเภทหนังสือรวมถึงกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางของร้าน ให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยควรเน้นไปที่การสร้าง community engagement ของกลุ่มนักอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดโซนให้อ่านหนังสือพร้อมทั้งคาเฟ่ภายในร้าน จัดกิจกรรมระหว่างกลุ่มนักอ่าน หรือปรับรูปแบบของร้านให้มีลักษณะเป็นกึ่ง co-working space เพื่อรองรับเทรนด์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และควรมีการส่งเสริมการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นในภาพรวม อาจเน้นเจาะไปที่หนังสือบางประเภทที่เข้าถึงกลุ่มคนใหม่ได้ง่าย เช่น นิยายและวรรณกรรม ที่มักจะเป้นประเภทหนังสือที่คนจะเริ่มอ่านเป็นเล่มแรกก่อนที่จะเปลี่ยนไปอ่านประเภทอื่นๆ”น.ส.ทิพย์สุดา กล่าว