หนังสือไม่มีวันตาย

หนังสือไม่มีวันตาย

ว่ากันว่า สื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือ กำลังจะตาย แล้วผู้ชายที่มีตัวหนังสือละมุ่นละไมคนนี้คิดเห็นอย่างไร

กี่ร้อยกี่พันครั้งที่มีการโค้ดว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” และคนที่เอามาพูดหรือเขียน มีทั้งคนที่ห่วงใย และคนที่ประชดประชันแดกดัน แต่จะมีสักกี่คนที่มองเรื่องการอ่านอย่างลึกซึ้ง

เหตุใดคนไทยจึงไม่ค่อยอ่านหนังสือ... 

“ตอนนี้เราพูดถึงอีบุ๊ค นั่นสำหรับประเทศที่เจริญแล้ว แต่คนไทยจำนวนมากของประเทศ ยังไม่รู้จักอีบุ๊ค” มกุฏ อรฤดี กล่าว และคาดคะเนว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ คือคนไทยจำนวนมากที่ไม่สนใจอีบุ๊ค

กว่า 40 ปีที่มกุฏ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์-นวนิยายและเรื่องสั้น ปี 2555) เจ้าของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมาย อาทิ ผีเสื้อและดอกไม้ เด็กชายจากดาวอื่น และปีกแห่งความฝัน ฯลฯ ไม่ได้คิดแค่ธุรกิจหนังสือ ยังเพียรพยายามทำให้ทุกคนในประเทศนี้มีโอกาสอ่านหนังสือ

มกุฏ ไม่ได้พูดอย่างเดียว แต่ลงมือทำ ผ่านโครงการที่เขาพอจะทำได้ และพยายามผลักดันเรื่องสถาบันหนังสือแห่งชาติ นอกจากนี้ยังริเริ่มและสอนวิชาบรรณาธิการศึกษา ในมหาวิทยาลัยสองแห่ง รวมถึงเป็นคุณตาที่ผลักดันให้เด็กๆ เขียนบันทึก จนมีนักเขียนเด็กที่เขียนให้เด็กวัยเดียวกันอ่าน อาทิ บันทึกส่วนตัว ซายูริ ,เรไรรายวัน ฯลฯ 

แม้ใครจะมองเป็นโครงการเล็กๆ น่ารัก แต่เขาบอกว่า

“ยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์มาก” 

ทำไมคุณมองว่า คนอ่านอีบุ๊คในประเทศเรายังมีไม่มาก

 ลองถามสำนักพิมพ์ที่ทำอีบุ๊คคู่ขนานกับหนังสือว่า ขายได้เท่าไหร่ ผมถามเจ้าหน้าที่นิตยสารสกุลไทยก่อนปิดกิจการว่า เคยทำอีบุ๊คหรือเปล่า เขาบอกว่าทำ มีคนซื้อผ่านอีบุ๊คไม่ถึงพันคน  ทั้งๆ ที่เขาทำเนื้อหาผ่านออนไลน์ ก็ยังต้องปิดตัว นั่นหมายความว่า การอ่านของคนไทยทั้งจากกระดาษและออนไลน์ล้มเหลว ถ้าเช่นนั้นใครจะกู้สถานการณ์ เพราะเราฝันกันว่า ทุกคนจะอ่านอีบุ๊ค ผมคิดว่าประเทศไทยยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดถึงอีบุ๊ค ในมิติของการอ่าน ผมคงต้องพูดถึงหนังสือสำหรับชาวบ้านทั่วไปก่อน ผมไม่ห่วงคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ และคนที่มีโอกาส 

คนที่อ่านอีบุ๊ค...ใช่คนทั้งประเทศไหม ทั้งๆ ที่เรามีสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่ไม่เคยสำรวจวิจัยเลยว่า คนไทยทั้งประเทศอ่านจากอีบุ๊คหรืออ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วอ่านอะไรบ้าง อ่านแล้วเกื้อกูลต่อชีวิตและอาชีพอย่างไร ได้ความรู้มากน้อยเพียงใด ไม่ใช่มาคุยกันว่า คนประเทศนี้อ่านหนังสือกี่เล่ม แต่เป้าหมายคือ เราจะใช้การอ่านพัฒนาชาติยังไง

ปรากฎการณ์นิตยสารที่ค่อยๆ หายไปจากแผง คุณคิดเห็นอย่างไร

สกุลไทยกว่าจะตัดสินใจปิดตัวใช้เวลาสี่ปี ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสกุลไทย ผมดูโครงสร้างแล้วเห็นว่า นิตยสารเขามีประโยชน์ต่อชาวบ้าน ครึ่งหนึ่งเป็นนวนิยาย อีกครึ่งเป็นสาระทั้งเรื่องภาษา การเมือง กฎหมาย สาธารณสุข ฯลฯ เป็นวิชาความรู้ในรูปต่างๆ เป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านอ่านอย่างง่ายที่สุด อย่างน้อยๆ ในหนึ่งสัปดาห์คนเข้าร้านทำผม ถ้าอ่านสัก 8 หน้า คงดีกว่าไม่อ่านเลย เหมือนนิตยสารคู่สร้างคู่สม ขายดีเพราะเป็นเรื่องง่ายๆ เกี่ยวกับชีวิตคน เนื่องจากคนไทยจำนวนมากต้องการอ่านหนังสือระดับพื้นฐาน ผมมองว่าเราต้องทำหนังสือแทรกความรู้ง่ายๆ แบบนี้แหละ ถึงจะอยู่รอด และเมื่อผมพูดว่าให้รัฐบาลช่วยนิตยสารที่มีประโยชน์ต่อคนในชาติ คนก็บอกว่า ช่วยนิตยสารฉบับนี้ก็ต้องช่วยฉบับอื่นด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องหนังสือและการอ่านของชาติ

นิตยสารแบบนี้เป็นเครื่องมือกระจายความรู้ให้ชาวบ้านด้วยวิธีทางอ้อม เพราะห้องสมุดประเทศไทยล้มเหลว ทั้งที่ควรมีหอสมุดแห่งชาติดูแล แต่ไม่มีอำนาจจัดการ ห้องสมุดทั่วประเทศก็ดูแลกันเอง ในที่สุดรัฐบาลก็บอกว่า ให้กศน.ดูแล ระบบจัดการของกศน.กับห้องสมุดสากล คนละเรื่องกัน เราไปดูห้องสมุดชุมชนในต่างจังหวัดสิ เรามีหนังสือเพิ่มพูนความรู้ในการประกอบอาชีพที่จะเพิ่มศักยภาพของคนสักกี่เล่ม 

อยากให้วิเคราะห์สถานการณ์สื่อกระดาษ (หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ)สักนิด ? 

หนังสือยังจำเป็น ไม่ตายหรอก ส่วนนิตยสารอาจจะตาย ในอนาคตจะมีสื่อสิ่งพิมพ์แจกฟรีมากขึ้น  พวกฟรีก็อปปี้ ผมมองว่าเกิดๆ ดับๆ มีออกใหม่ ไม่ดีก็จากไป แล้วก็ออกใหม่ได้อีก ส่วนหนังสือพิมพ์ ถ้ามีการจัดการที่ดี ยังอยู่ได้ ผมไปต่างจังหวัดยังเห็นชาวบ้านที่ไม่มีสตางค์อ่านหนังสือพิมพ์ พวกเขาไปนั่งอ่านตามร้านกาแฟ สื่อประเภทนี้ยังจำเป็นต่อสังคม แต่ถ้าสื่อเหล่านี้เจ๊ง ก็ต้องเจ๊ง 

ทุกคนบอกว่าสื่อกระดาษจะตายหมด เพราะออนไลน์ แต่สำหรับผมศึกษาเรื่องหนังสือและการอ่านมาตลอดชีวิต ผมคิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะปล่อยให้สื่อกระดาษตาย ผมมองในมิติคนไทยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยังเข้าไม่ถึงหนังสือ คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้จักอีบุ๊ค อยู่ดีๆ คุณเอาระบบของประเทศที่เจริญแล้วมาให้คนของเรา ซึ่งคนจำนวนหนึ่งไม่เคยอ่านหนังสือเลยทั้งชีวิต และมีคนจำนวนมากไม่มีสตางค์ซื้อหนังสือ แล้วจะจัดการยังไง ผมยังนึกไม่ออก

ขณะที่คนฟากหนึ่งพูดถึงโลกของออนไลน์ แต่คนอีกฟากยังอ่านหนังสือไม่ออก และไม่มีหนังสือให้อ่าน ทำไมคุณใส่ใจกับคนกลุ่มหลังมากกว่า 

เมื่อเปิด AEC เพื่อนบ้านเข้ามาเต็มประเทศ คนที่อ่านหนังสือไม่ออก ก็สู้คนพวกนี้ไม่ได้ สังเกตได้จากจังหวัดที่มีชาวต่างชาติมาเที่ยวเยอะๆ ภูเก็ต พังงา กระบี่ พยาบาลมาจากฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ในระดับที่ใช้ภาษาอังกฤษ และในระดับอื่น เพื่อมาทำงานในเมืองไทย

คนส่วนใหญ่คิดไปว่า ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล คงอ่านเหมือนเรา เราคิดไปเอง เราไม่เคยสำรวจเลยว่า แท้จริงแล้วชาวบ้านหาความรู้จากไหน  เรากำลังจะเปิดประตู AEC ให้เพื่อนบ้านมาทำมาหากินในบ้านเรา แต่ปรากฎว่าคนของเราไม่มีความรู้พื้นฐานเท่าคนพม่า เท่าคนขายโรตี ฯลฯ

ข้อมูลชุดไหนที่ทำให้คุณคิดว่า ความรู้พื้นฐานของคนไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ 

เราเคยทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งปี 2553 โครงการหนังสือหมุนเวียนในโรงเรียนชั้นประถมขนาดเล็กในจังหวัดชลบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา ปรากฎว่า ข้อสอบที่เด็กชั้นประถม 3-6 ตอบ น่าตกใจมาก เด็กไม่รู้ความหมาย ไม่เข้าใจคำและศัพท์ เราไม่เคยสนใจเรื่องความรู้ของชาวบ้าน ผมทำเรื่องมาตลอด 40 ปี ผมเสนอให้รัฐบาลตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ จัดการเรื่องความรู้ให้ประชาชน คุณเคยได้ยินไหมว่า เด็กจบประถม 6 อ่านหนังสือไม่ออก อีกสิบปีข้างหน้าเขาจะพัฒนาตัวเองอย่างไร แล้วเราจะให้พวกเขาอ่านอีบุ๊คจากสมาร์ทโฟนได้อย่างไร เราคิดว่าชาวบ้านที่กรีดยาง ออกเรือหาปลา ปลูกผัก กรรมกรรับจ้าง น่าจะเป็นแบบเรา หนังสือเขายังไม่อ่านเลย เขาคิดว่าหนังสือช่วยอะไรเขาไม่ได้ ทำมาหากินดีกว่า 

ตอนทีผมไปทำงานที่กระบี่ มีโอกาสคุยกับกรรมการแบกหามคนหนึ่ง จบประถม 6 ไม่เคยอ่านหนังสือเลย จนอายุ 40 เริ่มอ่านหนังสือ ต่อมาพบว่า สิ่งที่เขาทำวิเศษมาก เขาเห็นว่า ชุมชนเขาต่างคนต่างอยู่ เขาก็เลยคิดเรื่องความร่วมมือกันในชุมชนตั้งกองทุนหมู่บ้าน เก็บเงินวันละบาท ช่วยเหลือกันเวลาเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล หลังจากนั้น เขาเริ่มอ่านหนังสือ 3 ปีผ่านไป เขาดูแลกองทุนหมู่บ้านและดูแลกิจการของตัวเอง เงินผ่านมือปีละ10 ล้านบาท เขายืนยันทุกครั้งที่มีคนสัมภาษณ์ว่า ชีวิตดีขึ้น เพราะอ่านหนังสือ

ถ้าอย่างนั้น ควรทำอย่างไรให้ทุกคนมีโอกาสอ่านหนังสืออย่างเท่าเทียมกัน 

สิ่งที่คนทำธุรกิจด้านนี้คิดก็คือ คนที่มีปัญญาซื้อหนังสือ คือ คนมีการศึกษา เราพูดถึงนวนิยายแปล หนังสือฮาวทู หรืออะไรไม่รู้ ซึ่งไกลเกินกว่าที่ชาวบ้านจะรู้จัก แต่ถ้าคุณลองถือหนังสือเล่มหนึ่งแล้วไปบอกชาวประมงว่า คุณอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วคุณจะจับปลาเพิ่มขึ้นสิบเท่า ถามว่าเขาจะอ่านไหม

เมื่อก่อนเราเคยมีกรมวิชาการ ศูนย์พัฒนาหนังสือแห่งชาติ แล้วเลิกไป ขณะนี้รัฐบาลไม่มีอะไรเลย เพื่อพัฒนาเรื่องหนังสือและการอ่าน  เราถนัดแต่เบิกเงินทำกิจกรรม ไม่เคยตั้งคำถามว่า หลังจากทำกิจกรรมได้ผลอะไรบ้าง ถ้ารัฐบาลไม่คิดเรื่องความรู้ประชาชาติ ผมว่าอันตราย เวลาบริหารประเทศ ก็จะบริหารแบบที่เข้าใจคนเดียว อย่างงบประมาณลงสู่หมู่บ้าน 8,000 หมู่บ้าน ปีเดียวสูญไป 8,000 ล้านบาท ไม่ได้อะไรกลับมาเลย

เพราะเราไม่มีคนในรัฐบาลดูแลจัดการว่า เราจะทำหนังสือให้เหมาะกับภูมิศาสตร์ประชากรของการอ่านอย่างไร ผมมีสำนักพิมพ์ ผมก็ทำไม่ได้ ประเทศนี้มีคนกว่า 60 ล้าน คนต้องการอ่านหนังสือแบบนี้ประมาณ 40 ล้านคน ผมไม่มีความรู้เรื่องเกษตร เรื่องการจับปลา หรือการขับแท็กซี่ ผมสอนคนขับแท็กซี่ไม่ได้ เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ในอินเดีย ตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ สิ่งที่สถาบันทำก็คือ ไปหาต้นฉบับความรู้จากที่ต่างๆ แล้วจัดพิมพ์ รัฐให้เงินสนับสนุน แจกจ่ายไปที่ต่างๆ ซึ่งสำนักพิมพ์และนักเขียนก็อยู่ได้  ในฝรั่งเศสพยายามแก้ปัญหาเรื่องอ่าน มีกฎหมาย ห้ามลดราคาหนังสือใหม่ ถ้าเราปล่อยให้ร้านค้าใหญ่ลดราคา ร้านค้าเล็กๆ จะตาย  ถ้าสำนักพิมพ์เล็กๆตาย ต่อมาที่ตายคือ นักเขียน

คิดยังไงที่มีการสรุปแบบเหมารวมว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด 

เราจะพูดว่า คนไทยไม่อ่านหนังสือ คงไม่ได้ ถ้ารัฐบาลบอกว่า การอ่านหนังสือต้องเริ่มจากห้องสมุด แล้วจะเอาหนังสืออะไรไว้ในห้องสมุด แล้วใครล่ะเป็นคนทำหนังสือ ถ้าอย่างนั้นคนทำหนังสือมีความรู้พอหรือเปล่า มีสำนึกรับผิดชอบต่อคนอ่านหรือเปล่า สิบปีที่แล้วผมจึงเสนอให้มีวิชาหนังสือในมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาคนทำหนังสือทำด้วยใจรัก แต่เราแทบจะไม่มีความรู้เลยว่า เรื่องไหนทำแล้วเสียหายหรือดีต่อสังคม

จำได้ว่า ตอนผมอายุ 10 ปี ผมซื้อศรีธนญชัยมาอ่าน ตอนนั้นผมอยู่โรงเรียนประจำ บาทหลวงมีกฎว่า หนังสือทุกเล่มที่ซื้อมา ต้องตรวจสอบก่อน ปรากฎว่าศรีธนญชัยถูกเซ็นเซอร์ไปครึ่งเล่ม เพราะเนื้อหาไม่เหมาะสำหรับเด็กวัยนี้ นี่คือวิชาหนึ่งสำหรับคนทำหนังสือ เนื่องศรีธนญชัยเป็นคนฉลาดแกมโกง ซึ่งวิธีการตรวจสอบหนังสือแบบนี้ เป็นแนวคิดฝรั่งที่อ่านหนังสือมานาน เขาก็สอนผมให้เห็นว่า หนังสือบางเล่มไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน 

อะไรทำให้คุณหันมาสนับสนุนเด็กๆ เขียนหนังสือ 

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผมตั้งคำถามว่าทำไมคนชนบทไม่มีหนังสืออ่าน ไม่มีห้องสมุด คนมากมายตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กไทยไม่อ่านหนังสือ ท้ายที่สุดผมได้คำตอบว่า การทำให้คนอ่านหนังสือมีหลายวิธี ให้เด็กเขียนก็เป็นวิธีหนึ่ง เขียนแล้วก็ต้องอยากอ่าน  เราได้ผลงานของเด็กๆ มาจำนวนหนึ่ง เป็นผลสำเร็จที่ไม่มีใครคาดถึง 44 ปีที่ประกวดหนังสือ ไม่เคยมีเด็กได้รางวัลการเขียนหนังสือเลย เป็นครั้งแรกที่ซายูริ เด็ก 7 ขวบได้รางวัลที่แข่งกับผู้ใหญ่ และมีเด็กสองสามคนที่ผมกำลังจะทำหนังสือให้ รวมทั้งเด็กตาบอด  เหล่านี้คือทรัพยากรที่เรามี แต่เราจัดการไม่เป็น 

คนส่วนใหญ่มองว่า เป็นโครงการเล็กๆน่ารัก แล้วทำไมคุณมองว่า เป็นโครงการที่ยิ่งใหญ่ ? 

นักวิชาการชาวฝรั่งเศส หลังจากได้เห็นหนังสือของซายูริ และโครงการที่เราทำ เขาบอกว่า นี่คือ นวัตกรรมในการสร้างนักเขียน และเป็นระบบใหม่ที่ชาติต่างๆ ไม่เคยคิดที่จะให้เกียรติเด็กผลิตหนังสือเอง ทั้งๆ ที่เด็กมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ตรงกัน จะเข้าใจกันมากกว่า

เราได้ข้อสรุปว่า ถ้าอยากให้เด็กอ่านหนังสือ เราใช้วิธีเก่าไม่ได้ ซื้อหนังสือแล้วโยนให้เด็ก วิธีนั้นไม่สำเร็จ เราแจกสมุดบันทึกและดินสอ ไม่กี่เดือนเขาจะขอหนังสือ หรือในวิชาบรรณาธิการศึกษา พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์" เจ้าของผลงานไดอารีผู้พิการทางสายตาเรื่อง “จนกว่าเด็กปิดตาจะโต” มาลงเรียนวิชานี้ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ การบ้านที่ผมให้คือ ต้องเขียนบันทึกประจำวัน ผมเห็นต้นฉบับของเธอดีกว่าทุกคน เธอวาดรูปด้วย เมื่อก่อนไม่มีใครเชื่อว่า คนตาบอดจะวาดรูปได้ เธอวาดจากคำบอกเล่าหรือการสัมผัสสิ่งของ และต่อมาให้ฝึกเขียนลายมือ ไม่มีใครเชื่ออีกว่า คนตาบอดจะเขียนลายมือได้ เพราะไม่เคยมีใครพยายามให้คนตาบอดเขียนลายมือ ตอนนี้เธอเขียนได้เหมือนคนตาดี สิ่งเหล่านี้อยู่ในห่วงของการจัดการความรู้ที่ผมคิด

ธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ทุกรูปแบบกำลังถดถอย คุณคิดว่า มันจะตายไหม

ไม่ตายหรอกครับ ในประเทศที่เจริญแล้ว คงไม่ปล่อยให้หนังสือตาย เวลาเราพูดว่า คนรู้มีอยู่ทั่วไป เราจะหาความรู้ที่ไหนก็ได้ เราพูดโดยเอาตัวเองเป็นหลัก ผมถามว่า ตาสีตาสาที่อยู่กลางทุ่งนา จะเอาความรู้มาจากไหน ผมพยายามทำเรื่องระบบหนังสือหมุนเวียนในมัสยิด กระตุ้นให้อยากอ่านหนังสือ หรือโครงการครอบครัวหนังสือ ชวนพ่อแม่ที่สนใจด้านนี้มาพร้อมกับลูก แล้วสอนวิธีการทำหนังสือ เราทำมาสองรุ่นแล้ว ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เมื่อเราสอนให้เขาเห็นความงามของหนังสือ เมื่อพวกเขาโตขึ้นก็อยากเป็นนักทำหนังสือ 

ช่วงวัย 60 กว่าๆ คุณยังมีความฝันเรีื่องอะไรอีก

ตอนนี้ผมมีความฝันเดียว ผมหวังตั้งแต่อายุ 13 อยากให้คนไทยมีโอกาสอ่านหนังสือเท่าๆ กัน เพราะตอนผมเป็นเด็ก ผมอยู่ชนบท ผมไม่มีหนังสืออ่าน ชาวบ้านคนอื่นๆ ก็เหมือนผม อยากอ่านหนังสือแต่ไม่มีโอกาส คนเรามีความรู้ไม่เท่ากัน แต่โอกาสในการหาความรู้ ก็ควรจะเท่ากัน 

กรุงเทพธุรกิจ

เนชั่นสุดสัปดาห์

ช่างภาพ

SAVE NATION

Nation Radio Network

Convergent

Wire Photo

Wire News

ศูนย์ภาพและวิดิโอ ( Photo Center )

คมชัดลึก

สำนักข่าวเนชั่น ( NNA )

Media Export

Nation TV

Now26 TV

Social Content