คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งวันละ14ชม.

คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งวันละ14ชม.

กรมอนามัย เผยคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งถึงวันละ 14 ชั่วโมง เตือนส่งผลเสียต่อร่างกายตั้งแต่ระดับเซลล์ แนะลุกจากเก้าอี้ทำงานทุก 1 ชั่วโมง

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพการทำงานและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนทั่วโลกมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือการอยู่ในท่านั่ง ท่านอน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเก้าอี้ทำงาน การนั่งประชุม การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และการนั่งหรือนอน ดูโทรทัศน์ และใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งการสำรวจพฤติกรรมคนไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ล่าสุดพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งไม่รวมการนอนหลับ วันละ 14 ชั่วโมง นอกจากนี้ ผลการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งส่งผลร้ายต่อระบบการทำงานของร่างกายตั้งแต่การทำงานในระดับเซลล์ เช่น การหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลเสียไป การเผาผลาญน้ำตาล ไขมัน และพลังงานของร่างกายลดลง นำไปสู่โรคหัวใจ หลอดเลือด และสมอง ที่เป็นวิกฤติสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศไทย

ด้านนพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า คนไทยควรมีพฤติกรรมเนือยนิ่งให้น้อยที่สุด โดยลุกยืน เดินไปดื่มน้ำหรือเข้าห้องน้ำ หลังจากนั่งเก้าอี้ทำงานทุก 1 ชั่วโมง หรือการยืนทำงาน เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินหรือปั่นจักรยานมาทำงาน หรือการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน แทนรถส่วนตัว หรือจอดรถให้ไกลจากอาคารมากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเปิดคลิป Active Meeting การยืดเหยียด 3 นาที ที่จัดทำโดยกรมอนามัย และ สสส. ทางเว็บไซต์ยูทูปเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อระหว่างพักครึ่งการประชุม ซึ่งทุกคนสามารถทำได้

น.ส.อรณา จันทรศิริ นักวิจัยกิจกรรมทางกาย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติในปัจจุบัน มีการจัดรูปแบบการยืนประชุม โดยจัดเก้าอี้ให้น้อยลง และมีโต๊ะยืนให้ บริเวณด้านข้างและหลังห้องประชุม นอกจากนี้ยังมีการลุกยืนปรบมือให้กับวิทยากรเมื่อบรรยายเสร็จสิ้น แม้กระทั่งการประชุมคู่ขนานในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกขององค์การอนามัยโลกครั้งล่าสุด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจากทั่วทั้งโลกเข้าร่วม ก็มีการลุกยืนปรบมือหลังผู้แทนแต่ละประเทศนำเสนอเสร็จ ซึ่งเท่ากับว่าผู้เข้าร่วมประชุมต้องลุกยืนทุก 5 นาที ตลอดระยะเวลาการประชุม 90 นาที แสดงให้เห็นว่าการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งสามารถทำได้ง่าย