อีก2วัน สธ.ฟันธง! ทารกหัวเล็ก2ราย เคยติดเชื้อซิกาหรือไม่

อีก2วัน สธ.ฟันธง! ทารกหัวเล็ก2ราย เคยติดเชื้อซิกาหรือไม่

ผลเลือดชี้แม่-ทารกหัวเล็ก 2 คู่เคยติดเชื้อ หลังตรวจเจอภูมิ ยังไม่ฟันธงติดเชื้อตัวไหน ซิกา-ไข้เลือดออก-เยื่อหุ้มสมองอักเสบ รอผลตรวจจำเพาะอีก

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันผลเชื้อซิกาทารกศีรษะเล็ก ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบกรณีทารกศีรษะเล็กจำนวน 4 ราย โดยพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ซึ่งมีอายุครรภ์ประมาณ 36-37 สัปดาห์ ยังไม่คลอด แต่มีแนวโน้มกังวลว่า ทารกในครรภ์อาจศีรษะเล็ก เพราะวัดเส้นรอบศีรษะได้ประมาณ 31 เซนติเมตร แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่าขนาดนี้ผิดปกติหรือไม่ผิดปกติ ทางผู้เชี่ยวชาญกำลังพิจารณา และจะส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการของกรมควบคุมโรค ที่มีศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 30 กันยายนนี้ เช่นเดียวกับทารกที่คลอดออกมาศีรษะเล็กอีก 3 ราย ก็ยังอยู่ระหว่างรอผลยืนยัน

“อย่ากังวลเรื่องเชื้อซิกาจนเกินไป เพราะจริงๆ แล้วไม่ใช่เด็กทุกคนจะเกิดมาศีรษะเล็กเพราะซิกา เนื่องจากยังมีหัดเยอรมันที่มีความรุนแรงมากกว่า ซึ่งเมื่อเป็นแล้วต้องยุติการตั้งครรภ์อย่างเดียว แต่กรณีซิกา เมื่อพบว่ามีอาการศีรษะเล็กก็ต่อเมื่ออายุครรภ์มากแล้ว ถึง 8 เดือน ซึ่งไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงสำคัญที่สุด โดยอย่าถูกยุงกัดเป็นดี ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคซิกา ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา” นพ.ณรงค์ กล่าว

ด้านนพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าผลการตรวจเลือดคู่แม่ และทารกจำนวน 4 คู่ เพื่อวิเคราะห์ว่าการที่ทารกศีรษะเล็กเกิดจากไวรัสซิกาหรือไม่ ว่า ผลการตรวจไม่พบเชื้อไวรัสซิกาในแม่ และทารกทั้ง 4 คู่ แต่กรมวิทย์ฯ ก็มีการตรวจภูมิคุ้มกันเพิ่มเติม 2 ชนิดเพื่อหาดูว่าเคยมีการติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ คือ 1.ตรวจหาภูมิคุ้มกันขั้นต้นที่จำเพาะต่อการติดเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไอจีเอ็ม (IgM) เพื่อหาการติดเชื้อในกลุ่มฟลาวิไวรัส (Flavivirus) 3 ตัว คือ ซิกา ไข้เลือดออก และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นภูมิที่เกิดหลังการติดเชื้อ 1 สัปดาห์ และอยู่ในร่างกาย 1 -1.5 เดือน และ 2. ตรวจหาภูมิคุ้มกันระยะยาว หรือไอจีจี (IgG) ที่อาจเกิดจากการที่เคยติดเชื้อในกลุ่มฟลาวิไวรัสผ่านรกมาสู่ทารก มาก่อน โดยอาจจะเคยติดเมื่อ 4-5 เดือนย้อนหลัง หรือนานกว่านั้น

“ในการตรวจไอจีเอ็มปรากฏว่าทั้ง 4 คู่แม่และทารกไม่พบว่ามีภูมิต่อไวรัสซิกา ไข้เลือดออก และไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเลย แต่ปัญหาคือในการตรวจไอจีจี ปรากฏว่า 2 คู่มีภูมิคุ้มกันไอจีจีขึ้น จึงเท่ากับว่าเคยมีการติดเชื้อในกลุ่มฟลาวิไวรัสมาก่อน แต่ปัญหาคือจะเป็นเชื้อตัวไหนระหว่างซิกา หรือไข้เลือดออก หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งตรงนี้จะใช้เวลาในการตรวจอีก 2 วัน เพื่อหาว่าคนนี้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อตัวใดกันแน่ หากมีภูมิต่อตัวไหน แสดงว่าตัวนั้นคือผู้ร้าย ส่วนอีก 2 คู่ไม่มีภูมิคุ้มกันขึ้นแสดงว่าไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ” นพ.อภิชัย กล่าว แ