เจาะยุทธศาสตร์‘สมาร์ทซิตี้’ ถอดแบบเกาหลีโมเดล

เจาะยุทธศาสตร์‘สมาร์ทซิตี้’ ถอดแบบเกาหลีโมเดล

หนึ่งในงานท้าทายของกระทรวงน้องใหม่ “ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”คือการสานต่อเมกะโปรเจคเมืองต้นแบบอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ ให้เป็นจริง

จากก่อนหน้านี้ ไอซีทีได้เลือก “ภูเก็ต และเชียงใหม่” เป็นจังหวัดนำร่อง ดึงโมเดลจากเกาหลีใต้มาพัฒนาและสร้างโครงข่ายพื้นฐานให้ครอบคลุม


ย้อนหลังไปเมื่อครั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำทีมเศรษฐกิจไปโรดโชว์เกาหลีใต้ พร้อมลงนามบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือ Letter of Intend ในโอกาสความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยดึงโมเดลของจังหวัดปูซานมาใช้กับภูเก็ต และจังหวัดซองนัมมาใช้กับเชียงใหม่ เมื่อ 21 มี.ค.2559

ทั้งนี้ ปูซานได้พัฒนาเป็นสมาร์ท ซิตี้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีภูมิศาสตร์ตรงกับภูเก็ต เนื่องจากเป็นเมืองท่าเรือ ลักษณะเป็นเกาะและเป็นดิจิทัลฮับในประเทศอีกเมืองหนึ่งของเกาหลีใต้

ส่วนไทยวางงบประมาณเฟสแรก200 ล้านบาท เพื่อปูรากฐานสมาร์ทซิตี้ให้แก่ภูเก็ต กำหนดเป้าหมายดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2559 โดยเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสื่อสารโทรคมนาคม และการพัฒนาสภาพแวดล้อม เพื่อพร้อมอำนวยความสะดวกมุ่งให้ประชากรภูเก็ตและนักท่องเที่ยวมีคุณภาพชีวิตที่ดีปลอดภัย ภายใต้เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับบริการของภาครัฐและเอกชน


นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้เกิดความสะดวกสบาย มั่นคงและปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากบริการของภาครัฐ ทั้งมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุม ทั่วถึงช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ การนำระบบอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (ไอโอที) มาบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของเมือง การควบคุมตู้ไฟจราจรใช้กล้องซีซีทีวีเชื่อมต่อระบบสาธารณูปโภคให้ถึงกันวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัย

ซิสโก้ชี้จุดอ่อนสกัด
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนของซิสโก้ มองว่า อุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ในไทย คือ ขาดความชัดเจนในการดำเนินงาน หรือขาดเจ้าภาพในแต่ละเมือง ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ บางส่วนยังวาดภาพบทบาทของเมืองที่อุดมคติจนเกินไป ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจว่า สมาร์ท ซิตี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องทำให้แข็งแกร่งมากพอที่จะต่อยอดสู่แอพพลิเคชั่นอื่นๆ

ตลอดจนการปรับตัวสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานสำคัญที่สิ่งของรอบตัวจะต้องสื่อสารกันได้ ดังนั้นเทคโนโลยีต้องรองรับด้วย ยกตัวอย่างหลายประเทศที่ทำสมาร์ท ซิตี้ จะเปิดให้ใช้ฟรีไลเซ่น สำหรับใช้เทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลระยะไกลโดยใช้พลังงานต่ำ (Low Power Wide Area) เพื่อให้ไอโอทีสื่อสารข้อมูลกันได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนต่ำลง เพราะทุกวันนี้การส่งข้อมูลไอโอทีผ่านซิมหรือ 3จี/4จี ยังเป็นต้นทุนสูงเกินไป

“หลายเดือนที่ผ่านมาเราลองเสนอแนะการเปิดใช้ฟรีไลเซ่นสำหรับการส่งคลื่นความถี่ที่ใช้พลังงานต่ำสำหรับไอโอทีที่ปัจจุบันเปิดให้แต่อาร์เอฟไอดีเท่านั้นให้หน่วยงาน กสทช.ลองพิจารณา แต่ก็ยังไม่คืบหน้า ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องใช้เวลา ขณะที่สิงคโปร์ เริ่มทำโครงการทดสอบแล้ว”
รัฐต้องปลดล็อก

อย่างไรก็ตาม คอนเซปท์หลักของการเป็นสมาร์ท ซิตี้มีหัวใจสำคัญ คือ ตอบโจทย์ด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ (Living) และยกระดับความปลอดภัยของเมืองด้วยเทคโนโลยี (Safety) ส่วนความอัจฉริยะด้านอื่นๆ จะเป็นตัวเสริมจุดเด่นของสมาร์ท ซิติี้ ที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง เช่น ภูเก็ต ที่มีเป้าหมายเป็นเมดิคอล ทัวริสต์ ฮับ ก็จะต้องพัฒนาโซลูชั่นที่เน้นการเพิ่มความสะดวกและอัจฉริยะที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวเพื่อการรักษา หรือในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี จะเน้นการสร้างสมาร์ท ซิตี้ ที่รองรับการเป็นแมนูแฟคเจอริ่ง 4.0

แต่โครงการจะสำเร็จได้หรือไม่ มีกุญแจสำคัญคือ “ภาครัฐ” จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนที่ชัดเจน ทั้งการสร้างและช่วยเหลือด้านกำหนดนโยบายให้เอื้อต่อการลงทุน เพราะหากมีกฎระเบียบมากเกินไป หรือการลงทุนที่มองแล้วไม่คุ้มทุน ขาดบิซิเนส โมเดลใหม่ๆ ก็จะกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้สมาร์ท ซิตี้ สำเร็จได้ยาก

ทั้งยังต้องทำให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน เช่น รัฐอาจเปิดกว้างให้จัดเก็บภาษีท่องเที่ยว เพื่อนำมาเป็นทุนสนับสนุนสมาร์ท ซิตี้ ของเมืองในระยะยาวได้

นอกจากนี้ “เอกชน” ก็เป็นกงล้อสำคัญ เพราะหลายอย่างที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าภาครัฐไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตัวเองจากข้อจำกัดงบประมาณและทรัพยากรที่ไม่ต่อเนื่อง จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งบริษัทมองว่าโมเดลที่ดีคือ การทำงานร่วมกันแบบพับลิก ไพรเวท พาร์ทเนอร์(พีพีพี) เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ราบรื่น 

“ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนจำเป็นมากสำหรับสมาร์ท ซิตี้ เพราะเมืองไม่ใช่พื้นที่ของรัฐอย่างเดียว แต่ยังมีพื้นที่ของเอกชน ของประชาชน ซึ่งถ้ามีเป้าหมายในทิศทางเดียวกันโอกาสเกิดก็มีมาก”

ไทยขั้นเตาะแตะ
ผู้บริหารซิสโก้ ยังมองว่า นโยบายสมาร์ท ซิติี้ ของไทยที่ผลักดันในภูเก็ตและเชียงใหม่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ยังเป็นขั้นของ “เออร์ลี่ อดอปเตอร์” สำหรับการปูพื้นฐานไปสู่สมาร์ท ซิติี้ ที่นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อแล้ว “การสร้างการรับรู้ (Awareness)” ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก รวมถึงการสร้างตัวอย่างให้จับต้องได้

การลงทุนติดตั้งไวไฟ ก็ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ต้องทำให้ดีก่อนจะไปพัฒนาด้านอื่น เพราะสมาร์ท ซิตี้ จะเกิดได้ทุกอย่างจะต้องเชื่อมต่อกันได้ ทั้งคนและสิ่งของ ซึ่งก็คือทำให้เมืองเป็น “คอนเนค ซิตี้” ให้ได้ก่อน

นายวัตสัน ระบุว่า สมาร์ท ซิตี้ ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานรองรับความเป็นเมืองอัจฉริยะที่ชัดเจนมีเพียงเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นด้วยหน่วยงานบางแห่งเท่านั้น ซึ่งในประเทศใกล้เคียงไทยที่เดินหน้าสมาร์ท ซิตี้ ไปแล้วชัดเจนที่สุดคือ สิงคโปร์ภายใต้โครงการ “สมาร์ท เนชั่น” ที่จะเน้นหลักๆ 3 ด้านคือ การคมนาคม, ดูแลผู้สูงอายุ และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมผ่านเทคโนโลยี

“ที่เห็นๆ คือ การทดสอบเทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น แท็กซี่ไร้คนขับ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุด้วยการติดระบบแจ้งเตือนเกี่ยวกับสุขภาพ และการดูแลของลูกหลาย รวมถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเหตุ หรือเป็นหูเป็นตาให้เมืองผ่านมือถือเป็นต้น”

ร่วมลงมือสร้างเครือข่าย
บทบาทของซิสโก้ในโครงการสมาร์ท ซิตี้ในไทย จะเน้นการสร้างเครือข่าย และสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่การสร้างเครือข่ายบุคลากรที่ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรที่มีความรู้ด้านสมาร์ท ซิตี้ และการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เช่น เป็นตัวกลางเชื่อมโยงซิป้า ภูเก็ต กับศูนย์นวัตกรรมความเป็นเลิศที่เกาหลี

ล่าสุด ปีนี้ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ลงทุน “ซิตี้ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” เป็นคลาวด์ แอพพลิเคชั่นสำหรับรับ-ส่งข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆ เพื่อดูแลสภาพแวดล้อมของเมือง เช่น ตรวจค่ามลพิษทางอากาศ วัดแสง เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็ใช้ประสบการณ์จากการเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันสมาร์ท ซิตี้ ในหลายๆ ประเทศเข้ามาเสนอแนะให้ไทย เช่น ความร่วมมือกับรัฐบาลเกาหลีที่เมืองซองโด และอินเดีย ที่รัฐบาลตั้งเป้าชัดเจนมากที่จะทำให้เกิดสมาร์ท ซิตี้ได้ 100 เมืองภายในปี 2020 รวมถึงการทำสมาร์ท ซิตี้ ในเมืองบาเซโลน่า และปารีส ที่ผู้บริหารประเทศลงมาผลักดันด้วยตัวเอง