The Inside Line : ขอบเขตของคำว่าโด๊ป

The Inside Line : ขอบเขตของคำว่าโด๊ป

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการจักรยานต้องเจอมรสุมใหญ่

 เมื่อเว็บไซต์ Fancy Bears ได้เจาะระบบเว็บไซต์ของ วาดา แล้วปล่อยข้อมูลการขอใช้สารต้องห้าม (Therapeutic Use Exemption หรือ TUE) ของนักกีฬาชื่อดังหลายคน ตั้งแต่แชมป์ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ อย่าง คริส ฟรูม, แบรดลีย์ วิกกินส์, แชมป์สนามคลาสสิคอย่าง เฟเบียน แคนเชอลารา, และแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกเสือภูเขา นีโน ชูร์เตอร์ 

Fancy Bears กล่าวต่อว่าหลักฐานเหล่านี้เป็นข้อมูลการโด๊ป แต่จริงๆ แล้ว TUE นั้น ว่ากันตามกฏไม่จัดเป็นการโด๊ป แต่เป็นพื้นที่สีเทาที่นักปั่นและทีมหาทางใช้สารเพิ่มประสิทธิภาพ โดยอ้างอาการเจ็บป่วยบังหน้าได้เช่นกัน

ตามหลักการ การขอใช้ TUE จะขอต่อเมื่อนักปั่นมีอาการเจ็บป่วย และจำเป็นต้องใช้สารต้องห้ามในการรักษา ข้อมูลเหล่านี้มักไม่ออกสู่สาธารณะ เพราะข้อมูลระหว่างแพทย์และคนไข้ จัดเป็นความลับทางวิชาชีพ

แล้วมันเป็นปัญหายังไง?

คุณอาจสงสัยว่าถ้าป่วย แล้วขอใช้ยาอย่างถูกต้องตามกฏ ก็ไม่น่าจะเป็นการโกงอะไร อย่างแรก ต้องเข้าใจบริบทก่อนว่า นักจักรยานอาชีพขอใช้สารต้องห้ามไปทำไม

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ Cycling Weekly พบว่านักปั่นอาชีพในสหราชอาณาจักรกว่า 20% เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่ง และจำเป็นต้องใช้ยาพ่น เหตุผลที่นักกีฬาเอนดูรานซ์ เป็นภูมิแพ้ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพราะต้องสูดรับอากาศเข้ามากกว่าคนปกติ จำนวนอากาศที่เข้าไปมาก โอกาสที่สารกระตุ้นโรคภูมิแพ้ (triggers) จะเข้าไป ก็มากเช่นกัน 

ปัญหาอยู่ที่ สารระงับอาการภูมิแพ้ส่วนใหญ่ อยู่ในรายชื่อสารต้องห้ามของ วาดา เพราะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของนักกีฬา 

ความย้อนแย้งมันเลยอยู่ตรงนี้ครับ สารที่นักปั่นขอใช้ มีทั้ง prednisolone, triamcinolone และ cortisone โดยเฉพาะ cortisone ที่เมื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อโดยตรงจะช่วยลดอากาศอักเสบของกล้ามเนื้อ ช่วยเผาผลาญไขมัน และเร่งการสร้างฮอร์โมนบางประเภท ซึ่งมีผลยาวต่อเนื่องหลายวันไปจนถึงเป็นสัปดาห์ 

คำถามเลยอยู่ที่ “ปริมาณ” การใช้สารดังกล่าว ต้องจ่ายยาเท่าไรเพื่อเพียงแค่ “รักษา” เพราะถ้าจ่ายมากเกิน มันจะช่วยให้นักจักรยานปั่นได้ดีเกินขอบเขตความสามารถ 

ข้อมูล TUE ที่รั่วออกมา มีผลกับอดีตแชมป์ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ อย่าง แบรดลีย์ วิกกินส์ เป็นพิเศษ ​เพราะเขาเคยเขียนในหนังสืออัตชีวประวัติ ว่าไม่เคยฉีดยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพร่างกาย แต่ข้อมูลที่รั่ว ระบุว่าเขาเคยขอใช้ TUE 6 ครั้ง เพื่อรักษาอาการภูมิแพ้ และมี 3 ครั้งที่ขอก่อน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ 2011 และ 2012 ที่เขาได้แชมป์ รวมถึงก่อนแข่ง จิโร ดิตาเลีย ในปี 2013 ด้วย 

วิกกินส์ สามารถใช้ยาที่มี corticosteroids ผ่านการทาหรือทานก็ได้ แต่มันไม่มีผลไวเท่าการฉีด เจโรน ซวาร์ท แพทย์ที่เคยทำงานร่วมกับ Sky กล่าวว่าตัวยาที่ฉีดให้ วิกกินส์ ไม่ใช่ยารักษาเบื้องต้น และเขา “ลำบากใจ” ที่จะจ่ายยาดังกล่าวให้นักกีฬาที่อาจได้รับประโยชน์โดยตรง แถมยังเป็นการขอใช้ก่อนการแข่งสนามที่ใหญ่ที่สุดในปีอีกด้วย 

นั่นหมายความว่า วิกกินส์ พูดไม่ตรงกับความจริง วิธีการและช่วงเวลาที่ขอใช้ ก็ดูจะจงใจเกินไป

กรณีของ คริส ฟรูม ไม่ได้มีปัญหาเท่าไร เพราะเปิดเผยไว้นานแล้วว่า เคยขอ TUE สองครั้งในปี 2013 และ 2014 ข้อมูลที่ออกมาก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง

ไม่ใช่แค่ทีม Sky ที่ขอใช้ TUE ทีมอื่นๆก็ขอเช่นกัน แต่ไม่มีใครขอในช่วงเวลาเหมาะเจาะก่อนสนามใหญ่เหมือน วิกกินส์ 

แง่ร้าย เขาอาจจงใจขอใช้สารต้องห้ามภายในกรอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุดเท่าที่กฏอนุญาต แต่ถ้ามองในแง่บวก นักกีฬาก็อาจมีอาการเจ็บป่วยจริงและต้องใช้ยารักษา 

คำถามที่ควรถามคือ ถ้ามีอาการป่วยจริง เขาควรนอนอยู่บ้านรอให้หายป่วย หรือขอใช้สารต้องห้ามเพื่อให้ลงแข่งได้? นโยบายของทีม Sky ระบุไว้ว่าให้นักปั่นพัก แทนการขอใช้ TUE แต่ในเคสของ ฟรูม และ วิกกินส์ ก็ไม่ได้ทำอย่างที่ประกาศไว้ นั่นคือ Sky ไม่ได้โปร่งใสอย่างที่เราเข้าใจ

ทางหนึ่งที่อาจช่วยลดข้อครหา อาจจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลการขอใช้ TUE ให้เป็นข้อมูลสาธารณะ เพราะที่แน่ๆในตอนนี้ ข้อมูลที่เป็นความลับ มันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น 

....................................

เทียนไท สังขพันธานนท์