ส่งเรื่องให้ 'ดีเอสไอ' หลังพบพิรุธเอกสารที่ดินสนามกอล์ฟฉาว

ส่งเรื่องให้ 'ดีเอสไอ' หลังพบพิรุธเอกสารที่ดินสนามกอล์ฟฉาว

ส.ป.ก.กาญจนบุรี ชงเรื่องให้ "ดีเอสไอ" หลังพบพิรุธเอกสารที่ดินสนามกอล์ฟ1.7พันไร่

บ่ายวันนี้ (26 ก.ย. 59) ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) กาญจนบุรี ถ.แม่กลอง ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นายวัชรินทร์ วากะมะนนท์ ส.ป.ก.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการตามมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

กรณีที่ดินที่ไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ 500 ไร่ขึ้นไป โดยใช้หลักเกณฑ์ฯ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การตรวจหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินของผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประกาศ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2559 โดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในส่วนของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี (ส.ป.ก.กาญจนบุรี) ได้ดำเนินตามมาตรการที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ส่งประกาศ เรื่องกำหนดพื้นที่เป้าหมายการดำเนินการกับผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ไทรโยค ด่านมะขามเตี้ย พนมทวน และอำเภอเลาขวัญ จำนวน 16 แปลง รวมพื้นที่ 17,566.01 ไร่ โดยติดประกาศเพื่อให้ผู้ถือครองที่ดินยื่นคำร้อง พร้อมพยานหลักฐานแสดงสิทธิของตนตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือกฎหมายอื่น โดย ส.ป.ก.กาญจนบุรี ได้ดำเนินการติดประกาศพื้นที่เป้าหมายแปลงแรกตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 มาเป็นลำดับนั้น

แต่เนื่องจากผลจากการเริ่มปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.กาญจนบุรี ในการดำเนินการ ติดประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ 44/2559 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 เรื่อง กำหนดพื้นที่เป้าหมายการดำเนินการกับผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยมิชอบกฎหมาย ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 สั่ง ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ให้ ส.ป.ก. กำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป เพื่อดำเนินการกับผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการกับผู้ครอบครองแปลงที่ดินหมายเลขที่ No16 เนื้อที่ประมาณ 1,739.37 ไร่ ของสนามกอล์ฟ ไมด้า กอล์ฟคลับ ที่ดินตั้งอยู่ หมู่ 7 ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นั้น

จากการตรวจสอบหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินปรากฏผลดังนี้ 1. ตามประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องกำหนดพื้นที่เป้าหมายการดำเนินการกับผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ ขึ้นไปโดยมิชอบกฎหมายลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 แปลงเลขที่ No 16 ซึ่งจะครอบคลุมบริเวณพื้นที่ในแผนที่ จำนวน 3 ระวาง ดังนี้ (1) ระวางที่ 4837II3648 (2) ระวางที่ 4837II3650 และ(3) ระวางที่ 4837II3850

ทั้งนี้บริเวณที่ประกาศพื้นที่เป้าหมายดังกล่าว จะมีการครอบครองที่ดินของบริษัทไมด้า โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (เดิมชื่อบริษัทเดอะไลอ้อนฮิลล์กอล์ฟแอนด์คันทรีคลับ จำกัด) รวมอยู่ในบริเวณพื้นที่ประกาศด้วย ที่ดินบริเวณดังกล่าวก่อนประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเดิมเป็นที่ดินในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวน และอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2481 เพื่อใช้ในราชการทหาร

ต่อมา กองทัพบกโดยความยินยอมของกระทรวงการคลัง ได้ส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ ส.ป.ก. เพื่อนำไปปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอไทรโยค และอำเภอเมืองกาญจนบุรี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2520 และมีผู้ครอบครองที่ดินไม่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินและครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้มีประกาศดังกล่าว จากการยื่นคำร้องของผู้คัดค้านได้แสดงเอกสารตามประมวลกฎหมายที่ดินคือ น.ส.3 ก, น.ส.3 ข, ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่(ภบท.5),สัญญาซื้อขายที่ดินรวมถึงบริษัทไมด้าโฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด ได้ยื่นคำร้องแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณแปลงที่ดิน No 16 ที่ประกาศดังกล่าว โดยแจ้งว่ามีหลักฐานเอกสารสิทธิคือ น.ส.3 ก,น.ส.3 ข, ภบท.5

2.ส.ป.ก.กาญจนบุรี ได้ตรวจสอบเอกสารและลงตรวจสอบพื้นที่ เพื่อให้ผู้ยื่นคำขอแสดงสิทธิในที่ดิน นำชี้แนวเขตที่ดินโดยบริษัท ไมด้าโฮเทล แอนด์ รีสอร์ทจำกัด ได้มอบอำนาจผู้แทนนำชี้แนวเขตที่ดินตามหลักฐาน ภบท.5 ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ข, น.ส.3 ก) ได้ยืนยันตามระวางแผนที่ของกรมที่ดินที่ได้มีการสำรวจรังวัดที่ดิน เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน ตามผลการเดินสำรวจของศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ทั้งหมด

ส่วนของบุคคลอื่นที่ได้ยื่นขอแสดงสิทธิในที่ดิน บางรายได้มีการนำชี้แนวเขตที่ดินได้สภาพการทำประโยชน์มีสิ่งปลูกสร้างที่พักอาศัย บางรายมีการทำประโยชน์ ส่วนใหญ่สภาพที่ดินปล่อยรกไม่ได้ทำประโยชน์แต่อย่างใด อีกทั้งบางรายไม่สามารถนำชี้ตำแหน่งที่ดินได้โดยได้มอบอำนาจให้ผู้อื่นนำชี้ตำแหน่งที่ดินแทน โดยได้มอบให้พนักงานใน บริษัทไมด้าโฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด เป็นผู้นำชี้ตำแหน่งที่ดิน ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ แสดงให้เห็นถึงการเข้าดูแลบริเวณที่ดินดังกล่าวแทน และรู้ตำแหน่งที่ดินดี ซึ่งผู้ยื่นคำร้องขอแสดงสิทธิในที่ดินไม่ได้เข้ามาครอบครองดูแลทำประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด

3. ตามที่ ส.ป.ก.กาญจนบุรี ได้มีคำสั่งเรียกให้หน่วยงานของรัฐ คือ สำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ตรวจสอบและส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการครอบครองที่ดิน หรือใช้ประโยชน์ในที่ดินพื้นที่เป้าหมายภายในวันที่ 9 กันยายน 2559 แต่ได้ส่งมอบเอกสารได้เพียงบางส่วน ส.ป.ก.กาญจนบุรี จึงได้เร่งรัด สำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ให้ส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 กันยายน 2559 จนถึงปัจจุบันได้ส่งมอบเอกสารได้เพียงบางส่วนไม่แล้วเสร็จตามกำหนด จึงทำให้ขาดเอกสารหลักฐานบางส่วนมาประกอบการพิจารณา อีกทั้งสำนักงานที่ดินจังหวัดไม่ได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานเดิมที่ใช้ในการยื่นขอออกเอกสารสิทธิ เช่น ส.ค.1 มาให้พิจารณาแต่อย่างใด

4. ตามที่ ได้มีประกาศพื้นที่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเดิมก่อนที่จะประกาศเขตปฏิรูปที่ดินบริเวณที่ดินดังกล่าว อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดินฯ พ.ศ. 2481 ทั้งนี้ หากที่ดิน น.ส.3 ก, น.ส.3 ข ทั้งหมดออกสืบเนื่องมาจาก ส.ค.1 จะต้องมีการพิสูจน์สอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ได้มีการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาก่อนประกาศการหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐ ปี พ.ศ.2481 เนื่องจากการแจ้งการครอบครองเป็นการแจ้งของราษฎรฝ่ายเดียว ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2497 – 31 พฤษภาคม 2498 ซึ่งแจ้งการครอบครองภายหลังการหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐ และมีพยานบุคคลมานำสืบเพื่อให้เห็นว่าพยานหลักฐานนั้นมีส่วนสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่ามีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนเป็นที่ดินของรัฐเป็นคำกล่าวอ้างฝ่ายเดียวจึงไม่อาจรับฟังให้เป็นที่ยุติได้ว่ามีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐประกอบกับที่ดินในเขตพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดินฯ พ.ศ.2481 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ได้มีหนังสือที่ ทส 0203/180 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 เรื่องตอบข้อหารือแนวทางปฏิบัติตามมาตรการของ กบร.
เรื่องการพิสูจน์สิทธิฯ แจ้งจังหวัดกาญจนบุรี สรุปได้ดังนี้

1) ฝ่ายบริหารได้วางระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2545 เพื่อแก้ไขปัญหาการโต้แย้งสิทธิการครอบครองที่ดินระหว่างประชาชนกับรัฐที่เกิดขึ้นในเขตที่ดินของรัฐทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากมาตรการของ กบร.เรื่องการพิสูจน์สิทธิฯ ที่ให้สิทธิในที่ดินแก่ผู้ที่สามารถพิสูจน์สิทธิได้ว่าได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อนการสงวนเป็นที่ดินของรัฐ

2) การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินในเขตที่ดินของรัฐที่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายในขณะนั้นว่าได้ดำเนินการโดยถูกต้องหรือไม่หากคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายจะได้ดำเนินการให้มีการเพิกถอนหรือแก้ไขตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ถ้าเป็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลแต่ประการใด

3) การสอบสวนสิทธิครอบครองในที่ดินของรัฐ ของคณะกรรมการและนายอำเภอก่อนมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว มิได้มีหลักเกณฑ์หรือวิธีการตามที่ กบร.กำหนดไว้ในมาตรการแต่อย่างใดจึงไม่ถือว่าที่ดินในเขตที่ดินของรัฐที่ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ผ่านการพิสูจน์สิทธิตามมาตรการของ กบร. มาก่อนแล้วแต่ประการใด

4) การแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 เป็นการแจ้งของราษฎรฝ่ายเดียวเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ทำการตรวจสอบที่ดินตามที่แจ้งการครอบครองแต่ประการใด ดังนั้นจึงมีโอกาสแจ้งการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นจำนวนมาก เช่น แจ้งการครอบครองทับที่ดินของรัฐ แจ้งการครอบครองไม่ตรงตามเนื้อที่ที่ดินที่ครอบครองทำประโยชน์ที่แท้จริง ที่ดินไม่ตรงตามตำแหน่งที่ดินที่แจ้ง หรือที่ดินที่แจ้งการครอบครองไม่ได้ทำประโยชน์ขณะที่แจ้งเป็นต้น

และการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตที่ดินของรัฐโดยอาศัยหลักฐานการแจ้งการครอบครองส่วนมากจะถูกต้องด้วยกระบวนการตามกฎหมายทุกขั้นตอน แต่ก็เป็นส่วนมากที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่ได้ตรวจสอบว่าที่ดินที่มีผู้มาขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยเหตุผลบางประการ เช่น ส.ค. 1 ที่ระบุว่าได้มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนพระราชกฤษฎีกาหวงห้าม พ.ศ.2481 นั้น ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ทราบได้

นอกจากจะใช้วิธีการอ่านภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายไว้ครั้งแรกหลังการสงวนหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อตรวจดูร่องรอยการทำประโยชน์ตามมาตรการของ กบร. หากปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ในภาพถ่ายทางอากาศในตำแหน่งที่ดินเดียวกัน ถือว่ามีการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนการสงวนเป็นที่ดินของรัฐ

ดังนั้น ที่ดินในเขตพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามฯ พ.ศ. 2481 ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรีบางส่วน หรือในเขตที่ดินของรัฐอื่นใดที่มี น.ส.3 น .ส.3 ก โฉนดที่ดิน หรือเอกสารสิทธิในที่ดินใดๆ เช่น ส.ค.1 ทั้งที่ผ่านและยังไม่ผ่านการตรวจสอบสิทธิโดยคณะกรรมการร่วมทหารพลเรือนหรือนายอำเภอ
ตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในหลักการจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิตามมาตรการของ กบร.

5. จากการตรวจสอบระวางแผนที่ของกรมที่ดินทราบว่า บริเวณที่ดินดังกล่าวได้มีการนำ น.ส.3 ก, น.ส.3 ข ดังกล่าวไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินรวมถึงที่ดินของ บริษัทไมด้าโฮเทล แอนด์ รีสอร์ทจำกัด (เดิมชื่อบริษัทเดอะไลอ้อนฮิลล์กอล์ฟแอนด์คันทรีคลับจำกัด)ได้นำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน คือน.ส.3 ข,น.ส.3 ก ไปดำเนินการเดินสำรวจรังวัดออกโฉนดที่ดิน ปัจจุบันยังไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ เพื่อให้การตรวจสอบเป็นอย่างรอบคอบและถูกต้องจึงต้องอาศัยภาพถ่ายทางอากาศ กรมแผนที่ทหาร ที่ถ่ายภาพพื้นที่นั้นไว้ครั้งแรก

หลังจากการเป็นที่ดินของรัฐหากปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ในภาพถ่ายทางอากาศจึงจะเชื่อตามหลักฐานอื่น ซึ่งมุ่งหมายที่จะทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยการใช้ผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศมาเป็นหลักฐานในการพิจารณา โดยถือตามหลักการว่า ถ้าข้อเท็จจริงเป็นไปตามกล่าวอ้างคือมีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการเป็นการที่ดินของรัฐ ก็ย่อมปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ในภาพถ่ายทางอากาศนั้น ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารอื่นที่กล่าวอ้างอีกครั้ง ด้วยความรอบคอบและเป็นการจำกัดการใช้ดุลพินิจของ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้อยู่ในกรอบของการใช้พยานเอกสารภาพถ่ายทางอากาศ

ที่ปรากฏผลการอ่านแปลภาพโดยถือว่า ภาพถ่ายทางอากาศมีฐานะเป็นพยานเอกสาร ที่มีความชัดเจนหากไม่ปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ย่อมถือว่าไม่มีการครอบครองทำประโยชน์ตามการกล่าวอ้างและข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้เป็นอันยุติเด็ดขาด จึงไม่อาจที่จะรับฟังพยานหลักฐานอื่นว่าที่ดินแปลงนั้นมีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐได้ด้วยการนำข้อเท็จจริงของพยานวัตถุ เช่น ต้นไม้ บ้านเรือน หรือพยานแวดล้อมอื่นประวัติชุมชน สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกถึงการมีชุมชน ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและลักษณะการประกอบอาชีพของราษฎรในยุคโบราณมาประกอบการพิจารณาได้อีกเมื่อปรากฏว่า ที่ดินดังกล่าวได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวน และอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2481 การแจ้ง ส.ค.1 จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้แจ้งตามมาตรา 5 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497

อีกทั้งจากการตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งแปลงที่ดินและร่องรอยการทำประโยชน์ของที่ดินตามหลักฐาน น.ส. 3 ข, น.ส.3 ก ทั้งหมดแล้วตามภาพถ่ายทางอากาศที่ทำขึ้นก่อนสุดเท่าที่ทางราชการมีอยู่ตามโครงการ WWS ภาพที่ 848,1233 บินถ่ายเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2495 ภาพที่ 1232,1233 บินถ่ายเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2495 ปี พ.ศ.2495 ตามผลการอ่านแปลภาพถ่ายของคณะอนุกรรมการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ตามมาตรการของ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ

พบว่าบริเวณพื้นที่แปลง No 16 ที่ครอบคลุมระวางแผนที่ระวาง 4837II3648, 4837II3650, 4837II3850 ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินและมีสภาพพื้นที่เป็นทุ่งหญ้า/ไม้พุ่ม (M102) ป่าไม่ผลัดใบ ดังนั้นน่าเชื่อได้ว่าการออก น.ส.3 ก,น.ส.3 ข ทั้งหมดเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและผู้ที่ครอบครองตามหลักฐาน น.ส.3 ก, น.ส.3 ข โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ครอบครองที่ดินแต่ประการใดรวมถึงผู้ที่มีชื่อใน น.ส.3 ก, น.ส.3 ข รายต่อๆมาย่อมไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายแม้จะรับโอนโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินนั้นด้วยปรากฏรายละเอียดตามเอกสารแนบท้าย

6. ตามข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด ส.ป.ก.กาญจนบุรี จึงได้รายงานผลการตรวจสอบให้ ส.ป.ก. ได้พิจารณาตรวจสอบพร้อมทั้งขอให้แจ้งประสาน กรมที่ดินเพื่อพิจารณาดำเนินการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก,น.ส.3 ข) ของผู้ยื่นคำร้องแสดงสิทธิในที่ดินแปลงเลขที่ No 16 ทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ต่อไปด้วยแล้ว

ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบจากกรณีดังกล่าวเป็นไปด้วยความถูกต้องเที่ยงธรรมแก่ทุกฝ่ายและสามารถตอบสังคมได้อย่างชัดเจน อีกทั้งเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการตามหลักนิติธรรม ในการตรวจสอบแปลงที่ดิน แปลงเลขที่ No 16 ซึ่งเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนที่เกาะติดตามข่าวมาโดยตลอด ส.ป.ก.กาญจนบุรี จึงขอส่งหลักฐานแผนที่บริเวณที่ขอให้ตรวจสอบพร้อมผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวพร้อมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามข้อกฎหมายของ DSI ต่อไป