กมธ.การศึกษาชง7ประเด็น ตั้งต้นขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา

กมธ.การศึกษาชง7ประเด็น ตั้งต้นขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา

กมธ.การศึกษาและกีฬา สนช.ชง 7 ประเด็น หวังใช้เป็นตัวตั้งต้นขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ชี้การดูแลเด็กปฐมวัย ยังเป็นจุดอ่อน

ที่หอประชุมคุรุสภา มีการเสวนาโครงการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห้งชาติพบประชาชน (เสวนา 4 ภูมิภาค) เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา” โดย ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำเสนอกรอบแนวทางการจัดทำแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ของ กมธ.การศึกษาและกีฬา ตอนหนึ่ง ว่า การปฎิรูปประเทศจะประสบความสำเร็จได้ต้องใช้การศึกษาเท่านั้นในการเปลี่ยนแปลง และหากทำไม่ได้ก็อย่าไปคาดหวังว่าการปฎิรูปเศรษฐกิจและการเมืองจะสำเร็จซึ่งส่วนตัวมองว่ารูปแบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องปฎิรูปตั้งแต่ห้องเรียนฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์มากขึ้น ถึงจะตอบโจทย์การศึกษามาตรฐานอุตสาหกรรม อีกทั้งต้องนำปฎิรูปการศึกษาไปสู่โลกอนาคตให้ได้ ทั้งนี้ แนวทางการปฏิรูปการศึกษาต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน คือ แก้ปัญหา ต่อยอด และการสร้างจินตนาการใหม่

ดร.ตวง กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กมธ.การศึกษาและกีฬา ได้ยกร่างข้อเสนอแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 ไว้ 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก กำหนดให้เด็กเล็กต้องได้รับการดูแลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและต้องกำหนดรูปแบบการพัฒนาที่สมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี 2.จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนและกองทุนเสริมสร้างคุณภาพครู ภายใน 1 ปีหรือปี 2560 จะต้องมีการเสนอร่างพ.ร.บ.กองทุนฯ และพร้อมให้บริการกองทุนตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้น 3.กลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ต้องจัดตั้งสภาปฏิรูปวิชาชีพครูทั้งระบบ มีกลไกลสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงาน โดยต้องดำเนินการภายใน 3 ปีและประเมินผลสัมฤทธิ์และปรับปรุงพัฒนาให้สมบูรณ์ในปีถัดไป

4.การปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอน ต้องมีการปฏิรูปแบบเชิงรุกซึ่งต้องทำแผนปฏิรูปทั้งระบบภายใน 1 ปีและดำเนินการตามแผนภายใน 4 ปี 5.โครงสร้างหน่วยงานการจัดการเรียนการสอน เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ดูแลนโยบายภาพรวม ส่วนในระดับพื้นที่ควรจัดระบบสภาการศึกษาจังหวัด กระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษาให้เป็นนิติบุคคลในรูปแบบที่เหมาะสมตามความพร้อม นอกจากนี้ ต้องปฏิรูประบบประกันคุณภาพภายในเน้นการมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 6.ระบบการวิจัย และนิเทศ ติดตาม แหล่งเรียนรู้และการมีส่วนร่วม เสนอให้ตั้งสถาบันการจัดการเพื่อสังคมการศึกษาตลอดชีวิต และ7.อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ควรขยายการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและทวิศึกษา และมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ จัดทำแผนทั้งระบบและดำเนินการตามแผนในระยะปฏิรูป 5 ปี ทั้งนี้ การจัดทำแผนดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปีและนโยบายรัฐบาล

“สิ่งที่กำหนดในร่าง รัฐธรรมนูญฯฉบับนี้ โดยเฉพาะม.54 ถือเป็นมาตราหลักที่บอกทิศทางการปฏิรูปการศึกษาถือเป็นจุดที่เปลี่ยนประเทศ ขณะเดียวกันใน ม.258 จ.ยังกำหนดด้วยว่าจะต้องมีการทำแผนการปฏิรูปการศึกษาด้วย ดังนั้นข้อเสนอแผนฯ ทั้ง 7 ประเด็นที่กมธ.การศึกษาและกีฬา ยกร่างขึ้นนี้ถือเป็นการตั้งต้นเพื่อกำหนดทิศทางของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจนคือการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน ว่าจะมีรูปแบบแนวทางอย่างไร เพาะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดชัดเจนเช่นนี้ การทำงานจึงไม่มีเจ้าภาพหลักแต่เป็นการขับเคลื่อนตามหลักสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะนำข้อเสนอแนะและความเห็นที่ได้ไปปรับปรุงในร่าง ข้อเสนอแผนฯ ให้สมบูรณ์ ก่อนนำเสนอให้สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) และรัฐบาลพิจารณาต่อไป”ดร.ตวง กล่าว