สจล.ส่งผลศึกษา 'แลนด์มาร์ค' เจ้าพระยาแล้ว

สจล.ส่งผลศึกษา 'แลนด์มาร์ค' เจ้าพระยาแล้ว

"สจล." ส่งผลศึกษา "แลนด์มาร์ค" เจ้าพระยาแล้ว ยันฟังความครบถ้วน-ตามแผนทีโออาร์ กทม.เร่งตรวจแบบ-ยันเดินหน้าโครงการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นผู้ศึกษาออกแบบโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยศึกษาแผงแม่บทการพัฒนาพื้นที่ ในระยะ 52 กิโลเมตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และทำการออกแบบก่อสร้างโดยละเอียดในพื้นที่ 14 กิโลเมตรริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ช่วงสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยงบประมาณในการว่าจ้างศึกษาออกแบบโครงการดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 120 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาในการศึกษา 7 เดือน โดยมีกำหนดส่งผลการศึกษาให้แก่ กทม.ในวันนี้(26ก.ย.) นั้น

ผศ.ดร.อันธิการ สวัสดิ์ศรี โฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบกำหนดส่งงานการศึกษาออกแบบโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา ซึ่งคณะผู้ศึกษาโครงการ ได้ส่งผลการศึกษาทั้งหมดต่อสำนักการโยธา กทม. ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง โดยผลการศึกษาแบบออกเป็น 12 แผนงาน ซึ่งแผนงานที่ 1-6 ประกอบด้วย 1.แผนจะทำทางเดินริมแม่น้ำ 2.แผนการปรับปรุงภูมิทัศน์ 3.แผนพัฒนาท่าเรือจะมีการพัฒนาท่าเรือ 4.แผนพัฒนาศาลาท่าน้ำ 5.แผนพัฒนาพื้นที่บิการสาธารณะ และ6.แผนการพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ ซึ่งใน 6 แผนดำเนินการดังกล่าว เป็นงานที่กำหนดตามทีโอออาร์ว่าจ้างให้ทำการศึกษาจากกทม. ซึ่งจะพัฒนาในนำร่องระยะ 14 กิโลเมตร โดยคณะที่ปรึกษาได้มีการออกแบบก่อสร้างปรับปรุงพื้นที่โดยละเอียด และประมาณค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างให้แก่กทม.ด้วย

“ส่วนแผนการพัฒนาพื้นที่ในส่วนที่ 7-12 ประกอบด้วย 7.แผนปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ 8.แผนพัฒนาพื้นที่ชุมชน 9.แผนการอนุรักษ์และพัฒนาศาสนสถาน 10.แผนพัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะ 11.แผนพัฒนาสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำ และ12.แผนพัฒนาจุดหมายตาริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไม่ได้กำหนดในทีโออาร์ให้ต้องทำการศึกษา แต่ด้วยคณะที่ปรึกษาเห็นถึงความจำเป็นและศักยภาพในการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาจึงได้ทำการศึกษาออกแบบเพื่อยื่นเสนอให้แก่กทม.เพิ่มเติมขึ้น” ผศ.ดร.อันธิการ กล่าว

ผศ.ดร.อันธิกา กล่าวต่อว่า จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น คณะที่ปรึกษาได้นำข้อเสนอของประชาชนมาปรับปรุงแก้ไขแบบทางเดิน และผลการศึกษาบางส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอของนักวิชาการ ข้อมูลทางกฎหมายให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งคณะผู้ศึกษาโครงการยืนยันว่า ในกรอบระยะเลา 7 เดือนนั้น ได้ทำการศึกษาโครงการอย่างครบถ้วนตามข้อกำหนดทีโออาร์ของกทม. ทั้งนี้ เมื่อนำเสนอผลการศึกษามอบให้กทม.แล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจรับงาน และนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อตรวจดูผลการศึกษา และการออกแบบก่อสร้าง ซึ่งการแก้ไขแบบหลังจากนี้ ขึ้นอยู่กับกทม. และคณะกรรมการฯว่า จะต้องการปรับปรุงเพิ่มเติมงานในส่วนใดหรือไม่ สำหรับการประมาณราคาค่าก่อสร้างโครงการในระยะนำร่อง 14 กิโลเมตรนั้น คณะผู้ศึกษาฯได้ประมาณการเสนอไปแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากแบบยังไม่ได้รับการตรวจรับและอนุมัติอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการฯ

“การศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา สิ่งที่ยากที่สุดของคณะผู้ศึกษาโครงการคือการสื่อสารกับภาคสังคมและประชาชน เนื่องจากข้อมูลต่างๆมีการนำเสนอจากหลายฝ่าย ทำให้ประชาชนอาจได้ข้อมูลที่คาดเคลื่อน เช่น ข้อมูลบางส่วนที่เข้าใจว่าโรงการเป็นการก่อสร้างถนน ซึ่งไม่ถูกต้อง โดยเมื่อการสื่อสารข้อมูลคลาดเคลื่อนก็ส่งผลให้เกิดการต่อต้านจากภาคประชาชน และชุมชนบางส่วนขึ้น แต่คณะที่ปรึกษาก็สามรถศึกษางานในระยะเวลาจำกัด 7 เดือนจนสำเร็จได้อย่างครบถ้วนต่างทีโออาร์ทั้งหมด”ผศ.ดร.อันธิกากล่าว

ด้านนายประสาร พิทักษ์วรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวว่า ภายหลังที่สำนักการโยธาได้รับแบบและรายละเอียดของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังที่ส่งมาพิจารณาว่าครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งในอนาคตหากมีโครงการใหญ่ลักษณะนี้ก็ต้องมีคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ หรือมีการร้องเรียน แต่กทม.ก็ต้องเดินหน้าต่อไป