ไทยเบฟ คว้าเบอร์1 ดัชนี DJSI กลุ่มตลาดเกิดใหม่

ไทยเบฟ คว้าเบอร์1 ดัชนี DJSI กลุ่มตลาดเกิดใหม่

ไทยเบฟ ยกระดับธุรกิจยั่งยืนระดับโลก แจงได้คะแนนดัชนี้ชีวัดธุรกิจยั่งยืน (DJSI) ปี 2559 กลุ่มตลาดเกิดใหม่แซงหน้าโค้ก

นายวิเชฐ  ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ในไทย เปิดเผยถึง การที่ไทยเบฟฯ ได้เข้าร่วมการประเมินดัชนีชี้วัดความยั่งยืนทางธุรกิจ (Dow Jones Sustainability Indexs-DJSI)  เพื่อยกระดับมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนให้เข้าสู่มาตรฐานสากล รับวิสัยทัศน์ 2020 (ปี  2563) หรือใน 4 ปีข้างหน้า  ที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรในอาเซียน

หลังการจัดตั้งสำนักพัฒนาความเป็นเลิศ เพื่อบริหารจัดการด้านดังกล่าว ล่าสุด ไดัจัดทำรายงานโดยรวบรวมผลการดำเนินงานในทุกมิติ ได้แก่ มิติทางธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2556-2558  ส่งไปยัง DJSI กระทั่งได้รับคะแนนสูงสุดประเภทธุรกิจเครื่องดื่ม ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ประจำปี 2559

สำหรับคะแนนการตัดสินด้านความยั่งยืนไทยเบฟได้คะแนน 84 คะแนน แซงหน้าเบอร์หนึ่งในปีที่ผ่านมา ได้แก่ บริษัท เฟมซ่า โคคา โคลา (Femsa coca cola)  ผู้บริหารโค้กในตลาดเกิดใหม่ อาทิ เม็กซิโก ขณะที่อันดับหนึ่งของโลก คือ โคลาโคลา โกลบอล (Coco-Cola)  ได้ 88

ไทยเบฟยังหวังว่าในปีหน้า 2560 การรายงาน DJSI ไทยเบฟจะขึ้นมาติดอันดับต้นๆของโลก หลังจากเพิ่มกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น อาทิ โครงการประชารัฐ

“เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่มาร์เก็ตแคป (มูลค่าตามราคาตลาด) ธุรกิจใหญ่ขึ้น และได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2546 ไทยเบฟจึงต้องรายงานด้านความยั่งยืนไปยัง DJSI เพื่อสะท้อนถึงการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาธุรกิจยั่งยืนในระดับสากล หากเราต้องการเป็นผู้นำในภูมิภาค จะต้องเติบโตทั้งปริมาณ และคุณภาพ สอดคล้องกับ DJSI”

ทั้งนี้จากการประเมิน DJSI ทำให้กลุ่มธุรกิจไทยเบฟได้รับความสนใจจากนักลงทุนหน้าใหม่ รวมถึงกองทุนต่างๆ เข้ามาเจรจามากขึ้น เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องที่ต้องดำเนินการเมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นจะต้องคำนึงถึงความยั่งยืนไปพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นจะมีความเสี่ยงดังเช่นบริษัทยักษ์ใหญ่หลายราย ที่หากไม่คำนึงถึงมิติการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก็มีสิทธิล้มได้

ด้านนายโฆษิต  สุขสิงห์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน ต้องคำนึงถึงห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) 5 ด้านคือ การจัดซื้อจัดหา การผลิต จัดจำหน่ายสินค้า กระจายสินค้า และการบริหารหลังการขาย ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 8 กลุ่มคือ พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ผู้บริโภค นักลงทุน ชุมชน หน่วยงานกำกับดูแล และองค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs)

นายวิเชษ ยังได้กล่าวถึงแผนการพัฒนาสินค้าใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการปลายเดือนหน้านี้ คือ โซดา แบรนด์ ร็อค เมาท์เท่น (Rock Mountain) หลังจากที่พัฒนาสูตรเป็นเวลานานกว่าปี เพื่อให้เป็นส่วนผสมลงตัวมีรสชาติดี และเข้ากันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บริษัทไทยเบฟเป็นผู้ผลิต โซดาที่กำลังจะเปิดตัวเป็นการหวังส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เบอร์หนึ่งปัจจุบันมียอดจำหน่ายส่วนแบ่งทางการตลาด 90%

ขณะที่โซดาช้าง มีส่วนแบ่งทางการตลาด 5% ทั้งที่บริษัทเป็นผู้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสุราสีในตลาดเป็นเบอร์หนึ่ง

สำหรับตลาดโซดา เป้าหมายมุ่งเน้นไปที่คนทั่วไปที่ดื่มแอลกอฮอล์โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีระดับพรีเมี่ยม และมีความเป็นอินเตอร์ แต่ราคาเทียบเท่ากันกับโซดาที่จำหน่ายตามท้องตลาด

ทั้งนี้ไทยเบฟ เป็นบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2546 เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มหลากหลาย ตั้งแต่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮลอล์ รวมถึงเข้าซื้อกิจการบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด หรือ เอฟแอนด์เอ็น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ในสิงคโปร์

ปัจจุบันไทยเบฟเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 7 ในสิงคโปร์ มีมูลค่าทางการตลาด (Market Capitalization) 2.5หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปรฺ์ (ราว 6 แสนล้านบาท) สำหรับในไทยมีผลประกอบการปี 2558 รายได้มูลค่า 173,419 ล้านบาท