ชงคลังนำร่องบริหารค่าพยาบาลขรก.ใหม่

 ชงคลังนำร่องบริหารค่าพยาบาลขรก.ใหม่

สมาคมวินาศภัยเล็งเสนอคลังขอนำร่องบริหารค่ารักษาพยาบาลเฉพาะข้าราชการใหม่ กังวลไม่เคยรับทุนประกันก้อนโต 7 หมื่นล้านบาท

 เตรียมหารือวางกรอบต่อไป  อ้อนภาครัฐหนุนตั้งกองทุนรับประกันภัยต่อแห่งชาติ  หวังเอื้อบริหารความเสี่ยงทั้งประเทศและปรับโครงสร้างระบบรับประกันภัยดีขึ้น

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงแนวคิดที่ กระทรวงการคลัง ต้องการให้นำระบบประกันเข้ามาช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่ข้าราชการแทนการจ่ายสวัสดิการของภาครัฐนั้น เบื้องต้นสมาคมฯ อาจจะเสนอให้ทำเฉพาะข้าราชการที่เข้ามาใหม่เป็นการนำร่อง เพื่อรวบรวมเก็บเป็นสถิติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล นำมากำหนดเบี้ยประกันภัยได้อย่างถูกต้อง หรือหากรัฐจะมีการจัดตั้งกองทุนรับประกันภัยต่อแห่งชาติ มีภาครัฐบริหารวงเงิน 100,000-200,000 ล้านบาท น่าจะช่วยให้โอกาสการทำประกันได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าหากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลถึงปีละ 60,000 -70,000ล้านบาท ถือว่าสูงมาก สมาคมฯ จะต้องพิจารณาให้ดี เป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยมีการทำประกันภัย

"ขณะนี้เรายังเพิ่งเริ่มหารือกัน ต้องดูในรายละเอียดว่า คลังต้องการให้ความคุ้มครองมากน้อยแค่ไหน หรือประกันสุขภาพในรูปแบบใดมาก ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่รัฐบาลต้องการนำระบประกันภัยไปช่วยบริหารความเสี่ยงให้ ซึ่งเอกชนก็สนใจ พร้อมเข้าไปทำ แต่ติดที่ไม่มีความสามารถรับความเสี่ยงได้พอ เช่น โครงการประกันภัยสุขภาพให้แก่ข้าราชการ ขณะนี้มีทุนเอาประกันสูงถึง 60,000-70,000 ล้านบาท บริษัทก็ไม่กล้ารับความเสี่ยง เพราะหากเสียหายจะใช้เงินมาก แต่ถ้ามีกองทุนรับประกันภัยต่อฯ เข้ามาช่วยแบ่งเบารับประกันความเสี่ยง ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เพิ่มขึ้น

เขากล่าวว่า โดยปกติการรับประกันโครงการที่มีทุนประกันสูง บริษัทของไทยจะมีส่งต่อให้บริษัทประกันจากต่างประเทศรับประกันต่ออีกทอดสูงถึง 70-90% ทำให้เงินจากเบี้ยประกันรั่วไหลออกไปต่างประเทศค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าการจัดตั้งกองทุนรับประกันภัยต่อแห่งชาติขึ้นมาจริง ช่วยรับความเสี่ยงไม่ต้องมากสัก 20-30% ก็จะทำให้เบี้ยประกันไหลไปต่างประเทศน้อยลง และก่อให้เงินหมุนเวียนในประเทศได้

แนวคิดจัดตั้งกองทุนประกันภัยต่อแห่งชาติ สมาคมฯ ได้หารือ รมว.คลัง แล้ว และบอกว่าจะนำกลับไปพิจารณา ดังนั้นมองว่า หากจัดตั้งสำเร็จจะถือเป็นการช่วยปรับโครงสร้างระบบประกันในไทยได้เป็นอย่างดี

สำหรับรูปแบบของกองทุนประกันภัยต่อแห่งชาติ จะมีรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งและบริหารวงเงินประมาณ 100,000-200,000ล้านบาท โดยเงินในกองทุนที่ใช้เป็นหลักแสนล้านบาทนั้นมองว่าไม่จำเป็นต้องใช้เป็นงบประมาณจริง แต่สามารถตั้งเป็นเครดิตไว้ก่อนได้

โดยกองทุนดังกล่าวจะทำหน้าที่รับประกันภัยต่อจากบริษัทประกันวินาศภัยอีกทอดหนึ่ง เน้นเข้ามาช่วยรับประกันภัยต่อในโครงการประเภทมีความเสี่ยงและมีทุนประกันขนาดใหญ่ เช่น การรับประกันภัยภัยพิบัติร้ายแรง การรับประกันภัยสินค้าเกษตร การรับประกันภัยนักท่องเที่ยว การรับประกันสุขภาพข้าราชการ

รวมถึงโครงการประกันที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐบาล หรือโครงการที่ไม่มีการเก็บสถิติ หรือประเมินตัวเลขได้ชัดเจนด้วยเพราะโดยปกติแล้วโครงการประกันประเภทนี้บริษัทต่างประเทศจะไม่ยอมรับประกันภัยต่อทั้งหมด หรือถ้าหากรับก็จะคิดเบี้ยประกันแพงมากไม่คุ้มค่า ส่งผลให้หลายโครงการที่เอกชนพร้อมเข้าไปช่วยรัฐบาลไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะไม่สามารถหาบริษัทส่งต่อประกันภัยได้

นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้ข้อมูลระบบประกันของรัฐบาลและเอกชนเป็นข้อมูลเดียวกัน สามารถนำไปใช้กำหนดหรือเริ่มต้นการทำโครงการประกันใหม่ในอนาคตได้เร็วขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ข้อมูลด้านประกันภัยของเอกชนและภาครัฐเป็นข้อมูลคนละชุดกัน ทำให้ต้องมีการตรวจสอบกันนานว่าข้อเท็จต่างกันไหม บริษัทประกันกำไรเยอะไปหรือไม่ หรือจุดไหนเป็นจุดกึ่งกลางที่เหมาะสม