แนะประเทศกลุ่ม CLMV สร้างศูนย์ One stop service

แนะประเทศกลุ่ม CLMV สร้างศูนย์ One stop service

ปธ.สภาธุรกิจไทย-ลาว แนะประเทศกลุ่ม CLMV สร้างศูนย์ One stop service

การสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคและแนวทางการลงทุนของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พบกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยมีปัญหาด้านองค์ความรู้ประเทศกลุ่ม CLMV และปัญหาการปล่อยกู้ของธนาคาร แนะให้ประเทศกลุ่ม CLMV สร้างศูนย์ One stop service สำหรับป้อนข้อมูลและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการในแต่ละประเทศป้องกันความเสี่ยงด้านการลงทุน 

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 25 กันยายน 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ นายนภดล เทพพิทักษ์ เอกอัคราชทูต ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว พร้อมด้วย นายจตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว,ประธานคณะทำงานไทยลาวและผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขานครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว , นายอรรคพล ฤกษ์พิบูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท. และ รศ.ดร.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์เขตอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมแถลงผลการสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคและแนวทางการลงทุนของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  ระหว่างวันที่ 24-25 กันยายน 2559

นายนภดล เทพพิทักษ์ เอกอัคราชทูต ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว เปิดเผยว่า ภายหลังจากท่านนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เยือน สปป.ลาว เมื่อปี 2557 และได้เล็งเห็นถึงการทำการค้าระหว่างประเทศ ด้วยยุทธศาสตร์และพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศนั้นมีความเป็นไปได้สูง และสามารถส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ เพียงแต่ติดปัญหาเรื่องของการสร้างโมเดลการค้าระหว่างประเทศที่ชัดเจน ของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยหรือเอสเอ็มอี

นับแต่นั้นมาทางสภาธุรกิจไทย-ลาวจึงได้ริเริ่มโครงการศึกษาการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยศึกษาโมเดลของต่างประเทศซึ่งประสบความสำเร็จ อาทิ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี เพียงแต่ทางนายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบให้นำโมเดลของต่างประเทศเข้ามาใช้ จึงได้กำหนดขึ้นมาใหม่ ภายใต้การร่วมมือของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขงทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียตนาม ถึงทิศทางการค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นหลังการเปิดประตูอาเซียน

“โดยพยายามให้แต่ละประเทศสร้างพื้นที่การให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยที่ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องของข้อมูลของแต่ละประเทศที่จะเข้าไปลงทุน ให้เป็นไปในลักษณะของ One stop service ที่ทั้งภาครัฐ เอกชนและวิชาการเข้ามาร่วมมือกันสำหรับผลักดันให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยสามารถมีโอกาสเข้าไปทำการค้าขายในประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่สุ่มเสี่ยงต่อเงินที่จะนำไปลงทุนและเกิดการขาดทุน”

นายกรัฐมนตรีได้กำชับเรื่องความเสี่ยงด้านการลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อยอยู่มาก เพราะพบว่า ที่ผ่านมาผู้ค้าส่วนใหญ่มีการศึกษารายละเอียดจากสาระบบแบบเสิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล ซึ่งมีการรวบรวมเนื้อหาไว้มากมาย เพียงแต่ระบบดังกล่าวไม่เสถียร มีทั้งความจริงและไม่เป็นความจริง การที่ภาครัฐรวมมือกับภาคเอกชนและทางวิชาการ พร้อมถ่ายทอดข้อมูลหนึ่งเดียวผ่านเว็บไซต์สถานทูตของแต่ละประเทศจะเป็นโอกาสที่ดีต่อผู้ค้ารายย่อยที่จะเข้ามาศึกษา เพราะเป็นข้อมูลที่กลั่นกรองอย่างถูกต้องมาแล้ว

การสัมมนาในครั้งนี้เป็นการทำความเข้าใจกันระหว่างภาครัฐระหว่างประเทศ ภาคเอกชนและทางด้านวิชาการ เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยได้เข้าใจถึงบรรทัดฐานของแต่ละประเทศ อาทิ การตอบสนองคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ, ช่องทางการจำหน่าย, ความสัมพันธ์ลูกค้า,กระแสรายได้, ทรัพยากรจำเป็น, กฎหมายและแนวทางการปฏิบัติขณะทำการลงทุน, หุ้นส่วนและห่วงโซ่ทางธุรกิจ, โอกาสในการลงทุน

จากงานสัมมนาพบว่า ภาคเอกชนให้ความกระตือรือร้นสูงกับเรื่องดังกล่าว และมองว่า ควรจัดงานสัมมนาด้านการค้าและการลงทุนของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันนอกจากภายในประเทศแล้ว การค้าขายระหว่างประเทศมีความสำคัญเช่นเดียวกัน ถือเป็นการเปิดโอกาสและกระจายสินค้าจากไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือเป็นการเปิดโอกาสเรื่องการนำเงินไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้าน

โดยบางประเทศอย่างเช่น ที่สปป.ลาวต่างเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจการแพทย์ โรงพยาบาล, ธนาคาร, การคมนาคม การขนส่ง ทั้งบก เรือ และเครื่องบิน หรือแม้กระทั่งการวางเป้าหมายใช้ทรัพยากรน้ำจากแม่น้ำโขงให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะร่วมมือกับประเทศพันธมิตรสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าและจำหน่ายไปยังประเทศในแถบอาเซียน

ด้านนายอรรคพล ฤกษ์พิบูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า จากการสัมมนาในครั้งนี้จะพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งพยายามเข้าไปลงเม็ดเงินต่างประเทศ เพียงแต่ขาดความรู้ความเข้าใจของประเทศกลุ่ม CLMV เพราะไม่มีศูนย์รวมข้อมูลที่แน่ชัด และไม่แน่ใจว่าจะเริ่มจากตรงไหนก่อน

เป็นอย่างที่เอกอัคราชทูต ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว กล่าวไว้ว่า แต่ละประเทศควรวางโครงการ One stop service เป็นฐานข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถกดเข้าไปศึกษาได้อย่างละเอียด ผ่านเว็บไซต์หรือแฟนเพจ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาประกอบเพื่อง่ายต่อการถ่ายโอนข้อมูล

และอีกประเด็นหนึ่งคือ การขาดเงินลงทุน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า การลงทุนอะไรสักอย่างต้องมีการกู้ยืมเงินจากธนาคาร และปัจจุบันขั้นตอนการดำเนินการยากกว่าเมื่อก่อน เรื่องการตรวจสอบนั้นมีหลายขั้นตอน เนื่องจากธนาคารเองต้องมองเรื่องการแบกรับความเสี่ยงภายหลังการปล่อยกู้แล้ว และยิ่งผู้ประกอบการของไทยวางแผนจะนำเงินจากประเทศเราไปลงทุนที่ต่างประเทศแล้วด้วย กระบวนการตรวจสอบและการอนุมัติวงเงินยิ่งยากเข้าไปอีก เพราะมีความเสี่ยงสูงกว่า อีกทั้งภาครัฐรวมถึงสถานทูตเองก็ต้องคอยสอดส่องและให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้เป็นพิเศษ หากมีปัญหา ภาครัฐคือส่วนแรกที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ

“ประกอบกันนั้นทุกประเทศกลุ่ม CLMV ควรมีพี่เลี้ยงด้านการให้คำปรึกษาแก่ผู้ลงทุนอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดทุนหรือผู้ประกอบการถูกหลอกจากผู้ไม่สงค์ดี ขณะที่ภาพรวมของการลงทุนระหว่างประเทศขณะนี้นั้นเป็นไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะด้านการขนส่ง การท่องเที่ยวและการคมนาคม”ด้านนายอรรคพลกล่าว