ภารกิจพลิกโฉมโลจิสติกส์ไทย 'Giztix'

ภารกิจพลิกโฉมโลจิสติกส์ไทย 'Giztix'

ต้องบอกว่า Giztix คว้าชัยชนะได้แทบทุกเวทีการแข่งขัน Startup Pitching ทำนองว่าถ้าไปแข่งงานไหนก็ชนะงานนั้น

"คงเป็นเพราะคณะกรรมการและนักลงทุนที่ทำหน้าที่ตัดสิน มองว่าเราเป็นสตาร์ทอัพที่ต่างจากสตาร์ทอัพอื่นๆ คือเป็น Painkiller ของอุตสาหกรรมหนึ่งเลย เราไม่ใช่แค่มาทำแอพ หรือให้บริการแค่จุดเล็กๆ เขาเรียกว่าเราเป็น Moonshot มันโคตรจะยากเลย เขาดูทีมเราด้วย ว่าทีมเราทำได้ไหม มีแบ็คกราวน์ที่พร้อมหรือเปล่า"

ในมุมมองของ "สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก" CEO & Co-Founder ของ Giztix เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น และผู้ตัดสินจะพิจารณาอีกด้วยว่าคู่แข่งในตลาดยังมีจำนวนน้อย ยังเป็นทะเลสีขาวยังไม่ได้แข่งรุนแรงจนกลายเป็นสีเลือด ตลอดจนธุรกิจนี้ก็ไม่สามารถทำกันได้ง่ายๆ


อย่างไรก็ดี เวลาที่แข่งขันเขากับทีมงานยังได้ขายความโดดเด่นอีกข้อที่พวกเขามี ก็คือแม้จะอายุยังน้อยแต่มีความสามารถในการสร้างผลงาน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับคนที่มีอายุมากกว่าพวกเขาน่าจะชนะแบบขาดลอยด้วยซ้ำไป


สิทธิศักดิ์ บอกว่า ตัวเขาเป็นคน “ชอบการแข่งขัน” และเห็นได้ชัดจากคำตอบที่ว่า “ไม่เคยซีเรียส มีคู่แข่งก็ดี ไม่มีสิน่าเป็นห่วง” เมื่อได้ถามเขาถึงคู่แข่งซึ่งเป็นบริษัทระดับอินเตอร์ที่อาจต้องกังวลหากบุกเข้ามาแข่ง


แถมตัวเขายังมีจิตวิญญานของ “เซลล์แมน” อยู่เต็มเปี่ยม แม้สินค้าจะยังไม่เสร็จ แค่มีสไลด์ เขาก็พร้อมขายแล้ว


"แบ็คกราวน์บ้านผมทำธุรกิจโลจิสติกส์ รูปแบบเป็นบีทูบี ผมเองก็ทำธุรกิจเองตั้งแต่สมัยเรียน ตอนที่ไปเรียนปริญญาตรีด้านบิสิเนสที่อังกฤษ ผมเปิดธุรกิจบริการส่งของเด็กไทยที่ไปเรียนนั่นกลับมาเมืองไทย เป็นการเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจรูปแบบบีทูซี"


เมื่อเรียนจบเขาก็กลับมาสานต่อธุรกิจทางบ้าน แต่ทำแค่เพียงปีเดียวก็ตัดสินใจออกมาทำธุรกิจของตัวเอง โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากความคิดและสไตล์การทำงานของเขาและคุณแม่ไม่สอดคล้องกัน และนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่หักเหชีวิตให้เขามาเป็นสตาร์ทอัพในวันนี้


สิทธิศักดิ์ เปิดบริษัทของตัวเองชื่อ “แมนอินโนเวชั่น” รับทำซอฟท์แวร์สำหรับโลจิสติกส์โดยเฉพาะ อย่างที่บอกไว้ความเป็นสุดยอดเซลล์แมนเขาใช้เวลาเพียงแค่เดือนเดียวก็สามารถปิดการขายได้ถึง 6 บริษัท (หนึ่งในนั้นก็คือบริษัทของคุณแม่) และที่สุดเขายังไปเสนอขายให้กับบริษัทขนาดใหญ่อย่างปตท.ได้สำเร็จอีกด้วย


"เพราะคอนเซ็ปต์ของเราก็คือการไปช่วยให้บริษัทลูกค้าทำงานได้ไวขึ้นเป็นสิบเท่า ลดงานคีย์ซ้ำซ้อนได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือจากเดิมบริษัทใช้คนสองคนแพลนงาน 1 วัน กลายเป็นว่าใช้คนเดียวกลับสามารถแพลนงานได้ถึง 5 วัน"


ซอฟท์แวร์ของเขาตั้งราคาไว้ที่ตัวละ 8 หมื่นบาท แต่ถึงแม้ว่าจะถูกที่สุดในตลาดแล้ว ทว่าบริษัทโลจิสติกส์ขนาดเล็กเป็นเอสเอ็มอีก็จนปัญญาไม่มีเงินซื้อ จึงนำไปสู่แนวความคิดในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อทำหน้าที่เป็นตลาดกลางในการซื้อขายบริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นที่มาของ Giztix


"ชื่อนี้มาจากคำว่าโลจิสติกส์ แต่ตัดโลออกแล้วเปลี่ยนเป็นแซดกับเอ็กซ์ให้มันดูเท่ห์เท่านั้นเอง เราเป็นมาร์เก็ตเพลส ไม่ใช่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ แพลตฟอร์มเราจะเชื่อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจทั้งฝั่งผู้ให้บริการขนส่งหรือ Transporter และฝั่งของผู้ใช้บริการหรือ Shipper"


สิทธิศักดิ์ อธิบายว่า ในฝั่งผู้ใช้บริการจะทำให้พวกเขาได้พบกับผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้ ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่ก็ช่วยยกระดับทางฝั่งผู้ให้บริการสู่การเป็นอีโลจิสติกส์ โดยผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่เข้ามาอยู่ในระบบของ Giztix จะได้ใช้แอพพลิเคชั่นโลจิสติกส์ฟรี


"เราจะสร้างเว็บส่วนตัวให้เขา จากโลจิสติกส์ยุคเก่าก็แปลงร่างกลายเป็นอีโลจิสติกส์ได้เลยภายใน 5 นาที เขายังสามารถขายผ่านมาร์เก็ตเพลสของเราได้ด้วย และเราก็ทำระบบหลังบ้านให้เขา มีแอพให้เก็บข้อมูลลูกค้าโดยอัตโนมัติ มันเป็นแอพสำหรับขาย มีระบบแชทกับลูกค้า ให้คุยกันได้ และสามารถทำใบเสนอราคากันได้ผ่านทางแชทเลย ที่เลือกแชทเพราะเราเคยทำซอฟท์แวร์ ERP มาก่อน เลยรู้ว่าการจะเอาซอฟท์แวร์อะไรไปให้ลูกค้าใช้ มันต้องเทรนนิ่ง ต้องสื่อสารอีกเยอะ เราเลยเลือกวิธีง่ายๆ"


เบ็ดเสร็จแล้วกว่าจะเกิดเป็นโมเดลบิสิเนส Giztix ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย สำหรับคนทีไม่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้เลยก็น่าจะยิ่งยากไปกันใหญ่ สิทธิศักดิ์บอกว่าต้องมีความอดทน เพราะการเป็นมาร์เก็ตเพลส จำเป็นต้องติดต่อกับทั้งฝั่งของซัพพลายเออร์ซึ่งการทำงานยังคงเป็นระบบเก่า ๆ ส่วนฝั่งลูกค้าก็ถือว่าเก๋าไม่แพ้กัน เรียกว่าบางบริษัทแทบจะไม่มีคอมพิวเตอร์ไว้ทำงานเลยสักเครื่อง แน่นอนผลลัพธ์ก็คือ ทำให้งานทุกอย่างเกิดความล่าช้า


"Pain point ที่ผมพยายามแก้ก็คือ หนึ่งเรื่องราคา เพราะที่ผ่านมากว่าจะรู้ราคาชิปปิ้ง ลูกค้าต้องรอหลายวัน สองเรื่องความชัดเจน ที่สุดแล้วราคาที่จะเสนอมามันจะครบไหม หรือบุ๊คไปแล้วจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆตามหลังมาอีกหรือเปล่า"


ถามถึงเป้าหมาย เขาบอกว่า Giztix เคลมว่าเป็นฐานข้อมูลโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย ดังนั้นในแง่ของจำนวนบริษัทโลจิสติกส์สิ้นปีนี้ตั้งเป้าว่าจะมีอยู่ในระบบประมาณพันราย (กลยุทธ์หนึ่งก็คือเข้าร่วมโครงการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ DBD) ส่วนฝั่งของผู้ซื้อตั้งเป้าเป็นยอดขายว่าต้องอยู่ที่ประมาณแสนเหรียญต่อเดือน


Giztix เน้นการพัฒนาอย่างต่อเรื่องเวลานี้กำลังพัฒนาโปรดักส์ใหม่ที่เจ๋งกว่าเดิม มีความสำเร็จรูปครบเครื่องยิ่งขึ้น โดยทดลองทำเป็นโปรโตไทป์ไปคุยกับทางยูสเซอร์ เพื่อนำเอาฟีดแบ็คมาพัฒนาต่อให้สอดคล้องกับความต้องการ


"เพราะเวอร์ชั่นเดิมของเรา 3 เดือนที่ผ่านมาเราเจอประเด็นที่ว่าลูกค้ามาขอราคาก็ต้องรอสองวันสามวัน เคยรอเป็นอาทิตย์ก็มี มันไม่มีประสิทธิภาพ เลยทำตัวนี้ขึ้นมา และผมไม่อยากให้แข่งราคา เลยจะมีเรื่องของการรีวิว และเรตติ้ง เหมือนเวลาที่ไปจองโรงแรม ผู้ใช้บริการก็จะให้คะแนนความพึงพอใจ"


ขณะที่แผนการสเกล เขาบอกว่าหลักๆ จะโฟกัสตลาดส่งออกนำเข้าระหว่างไทยกับอีก 8 ประเทศ นั่นคือ สิงค์โปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย จีน ลาว อินโดนีเซีย เวียดนามและญี่ปุ่น


"เพราะทั้ง 8 ประเทศนี้ เราได้วิเคราะห์แล้วว่า มีรายชื่อติดอยู่ระดับท้อบ 10 ประเทศคู่ค้าของไทย และยังเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับท้อบ 4 ที่นำเข้าส่งออกมากที่สุดกระทั่งติดเทรนด์ที่โตเร็วที่สุดของโลก ตอนนี้เราทำได้แค่ 8 คูณ 1 คือ ส่งออกนำเข้าระหว่างไทยกับ 8 ประเทศ เพราะตลาดมันใหญ่มากเราต้องทำทีละแท่ง แต่เราจะพัฒนาให้เป็น8 คูณ 8 ซึ่งหมายถึงคือให้บริการคร่อมไปมาระหว่างไทยกับ 8 ประเทศให้เหมือนกับใยแมงมุม "


เมื่อถามถึงภาพความสำเร็จ เขาบอกว่า เป็นเรื่องของพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่ใช้โทรศัพท์ ใช้อีเมลสอบถามราคาและจองบริการก็เปลี่ยนมาใช้ช่องทางแอพ ซึ่งภารกิจของ Giztix คือต้องทำให้โลจิสติกส์ไทยให้เกิดความสมาร์ท ซึ่งโจทย์ดูเหมือนง่ายแต่มันกลับไม่ง่ายเลย


ส่วนเรื่องของการ Exit ซึ่งถือเป็นสูตรสำเร็จของสตาร์ทอัพ ก็ได้รับคำตอบว่า เขายังไม่คิดทำธุรกิจอื่น ที่ต้องการก็คือ รูปแบบของการควบรวมโดยบริษัทใหญ่เสียมากกว่า ส่วนตัวเขาอยากทำธุรกิจนี้ไปอีกยาวนาน แต่ที่ต้องการความช่วยเหลือของบริษัทใหญ่ ที่มีทั้งคนเก่งๆ และมีความพร้อมในเรื่องของเน็ตเวิร์ค ตลอดจนทรัพยากรอื่นๆ

ขึ้นหลังเสือแล้วลงยาก


บนเส้นทางเดินที่อาจถูกบ้างพลาดบ้าง เช่นแรกๆก็คิดว่าสตาร์ทอัพหมายถึง ไอทีต้องเจ๋ง ต้องเพอร์เฟค แต่ท้ายสุดสิทธิศักดิ์ก็รู้ว่า แท้จริงมันคือบิสิเนส ที่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การสร้างยอดขาย


"แรกๆเรามีลูกค้าน้อยมากๆ ปัจจุบันลูกค้าเข้ามารีเควสราคาทุกวันในแพลตฟอร์มของเรา ยอดขายที่จัมพ์ขึ้นมันเพิ่งเกิดเมื่อสามเดือนที่ผ่านมา เพราะผมระดมทุนได้เงินมาก็รีบเพิ่มคนฝั่งมาร์เก็ตติ้งอีกสองคน ฝั่งเซลล์อีกสองคน ตอนนี้เซลล์ผมก็วิ่งหาลูกค้าทุกวัน เมื่อก่อนผมทำคนเดียวยอดก็เลยไม่ขึ้น"


แต่ถามว่าเคยรู้สึกเฟลไหม เขาบอกว่าเป็นแค่ช่วงแรกๆ เคยมองว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องยากมีความท้อ แต่ไม่นานก็ฮึดสู้ คือถ้าพบว่าทางไหนที่ไม่ใช่ก็จะหาทางทำอะไรขึ้นมาสักอย่างเพื่อแก้ไข


"ตอนนี้ที่ผมคิดก็คือ วันนี้ตัวเอง Productive หรือเปล่า แล้วพรุ่งนี้จะต้องทำอะไร สามเดือนจะทำอะไร หกเดือนจะทำอะไร เพราะเราเป็นคนที่รับผิดชอบชีวิตของทีมงานทุกคน เลยต้องคิดว่าเดือนนี้ จะมีเงินให้ลูกน้องเปล่า สามเดือน และในหกเดือนข้างหน้าจะมีเงินให้ลูกน้องหรือเปล่า มันจะคิดอย่างนี้ทุกวัน คิดว่าจะไปหาเงินจากไหน"


เขาบอกว่า มันเหมือนการกระโดดขึ้นหลังเสือ ซึ่งถ้าคิดจะลงก็คงยาก ที่ต้องทำคือ ต้องลุยและสู้ต่อไป