สั่งกรมชลฯติดตามสถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมง

สั่งกรมชลฯติดตามสถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมง

“ฉัตรชัย” ห่วงน้ำเขื่อนป่าสักล้น สั่งกรมชลประทานติดตาม 24 ชั่วโมง พร้อมเร่งพร่องน้ำรอรับน้ำใหม่ ”อยุธยา"ตั้งแนวป้องกันน้ำทะลักท่วมโบราณสถาน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวานนี้ (24 ก.ย.) ว่าจากการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ที่น่ากังวลคือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ น้ำอาจจะล้นเขื่อนได้ ขณะนี้มีน้ำใช้การได้ 677 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากระดับน้ำใช้การได้ที่ระดับเก็บกัก 957 ล้านลบ.ม. เหลืออีก 280 ล้าน ลบ.ม. จะเต็มเขื่อน

โดยล่าสุดอัตราน้ำไหลเข้า 41.68 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 11.25 ล้าน ลบ.ม. หากเป็นอย่างนี้ทุกวัน อีกประมาณ 8-9 วัน น้ำจะล้นเขื่อน ได้สั่งการให้กรมชลประทาน เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และทราบว่ากรมชลประทานได้วางแผนระบายน้ำแล้ว เพื่อรอรับน้ำใหม่

อย่างไรก็ตาม ในการพร่องน้ำจากเขื่อน ต้องระวังกระทบพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตร รวมทั้งเฝ้าระวังปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกจุด เนื่องจากที่เขื่อนเจ้าพระยามีน้ำมาก เพราะรับน้ำมาจากแม่น้ำสะแกกรังและแม่วงก์ ซึ่งไม่มีเขื่อน เป็นแม่น้ำสายสั้น ไหลมาแรง ลงแม่น้ำเจ้าพระยาเร็ว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่าในระยะนี้้ได้สั่งกรมชลประทานประสานทุกหน่วยงานเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสานตอนล่าง ที่ยังคงมีฝนชุกหนาแน่นจากร่องมรสุม ซึ่งมีฝนตกหนักบางพื้นที่ส่งผลดีต่อการเพิ่มน้ำในเขื่อน เช่น เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนบางพระ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง

สำหรับการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยม ได้ผันเข้าแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงจ.สุโขทัย โดยทุกหน่วยงานได้ทำตามแผนที่ตนไปวางไว้ร่วมกับส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งปริมาณน้ำในทุ่งทะเลหลวงถูกพร่องออกบางส่วนโดยกระจายในพื้นที่ที่ยังไม่ทำการเกษตร แก้มลิงทุ่งบางระกำ ขณะเดียวกันได้รับน้ำจากแม่น้ำยมเข้ามาเติม ในอัตราที่เท่ากัน ทำให้แม่น้ำยมช่วงผ่าน อ.เมืองสุโขทัย ปริมาณน้ำลดลงมาก

ทั้งนี้เขื่อนใหญ่ 34 เขื่อนทั่วประเทศ ได้รับน้ำจากพายุ “ราอี” ประมาณ 100 ล้านลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 18,334 ล้าน ลบ.ม. ช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีน้ำไหลเข้ารวม 2,630.05 ล้าน ลบ.ม. เฉลี่ยวันละ 375.72 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้ เขื่อนภูมิพล 1,856 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 4,096 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 623 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 677 ล้านลบ.ม. รวม มีน้ำใช้การ 7,252 ล้าน ลบ.ม. ทำให้นวันนี้น้ำใช้การได้ใน 34 เขื่อนหลักมีมากกว่าน้ำใช้การได้ในวันเดียวกันของปี 2558 และ 2557 แล้ว

ห่วงน้ำล้นเขื่อนป่าสัก-แควน้อย

ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำสะแกกรัง มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากฝนในพื้นที่ ไหลมาสมทบแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้แจ้งเตือนปลัดกระทรวงมหาดไทย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ให้จังหวัดท้ายเขื่อน 7 จังหวัด เตรียมรับสถานน้ำระบายเพิ่มผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,800 ลบ.ม. โดยช่วงนี้โดยควบคุมไม่ให้สูงกว่านี้ พร้อมกับเตรียมสูบน้ำออจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต คลองรังสิต เพื่อควบคุมน้ำในระบบให้ต่ำลง

โดยใช้ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และเชียงรากน้อยสูบลงแม่น้ำเจ้าพระยา และออกฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ลงคลองชายทะเล โครงการชลหารพิจิตร แม่น้ำบางปะกง ออกสู่ทะเล

ทั้งนี้ กรมชลประทานเตรียมป้องกันกรุงเทพฯ โดยเร่งระบายน้ำในพื้นที่เขตติดต่อกรุงเทพฯและปริมณทล สูบออกจากระบบเพื่อรับน้ำฝนมากขึ้นช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ซึ่งประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ต้องกลัว น้ำไม่ท่วมปีนี้อย่างแน่นอน เพราะน้ำในอ่างไม่มาก แต่มีเขื่อนต้องเฝ้าระวังน้ำล้น 2 เขื่อน คือ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เพิ่มการระบายออกวันละ 5 ล้านลบ.ม. และตั้งเป้าระบายให้ถึง 10 ล้านลบ.ม. อีกทั้ง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพิ่มการระบายวันละ 20 ล้านลบ.ม.

ชลประทานปทุมพร้อมรับน้ำ24ชม.

นายชูชาติ ศุภวรรธนางกูร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานปทุมธานี กล่าวว่า การประเมินของกรมชลประทานที่ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ โดยระดับน้ำอยู่ที่ประมาณ 1.60 เมตร ตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ระดับ 2.50 เมตร ซึ่งตลอดเวลาทางกรมชลประทานได้มีการควบคุมปริมาณน้ำ ไม่ให้ไหลมากเกินกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาจะรับได้

ส่วนในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการร่วมกันเพื่อดูแลตามพื้นที่ เช่นบนถนนให้เทศบาล อบต. ทางหลวง ทางหลวงชลบท ช่วยกันขุดลอกตะกอนทรายที่อยู่ตามท่อ เพื่อให้น้ำที่อยู่บนผิวถนนระบายได้ทันลดปัญหาจราจร ส่วนคลองชลประทานได้มีการเก็บผักตบชวา วัชพืช และขยะหน้าประตูน้ำ

รวมทั้งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ชลประทานปทุมธานี และโครงการส่งน้ำในจังหวัด กวดขันตรวจสอบเครื่องสูบน้ำให้พร้อมที่จะทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ตั้งแนวกั้นน้ำหน้าวัดไชยวัฒนาราม

ขณะเดียวกันผู้ลื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เร่งยกกำแพงกั้นน้ำตลอดแนว 220 เมตรโดยทำเป็นพนังกั้นน้ำสูง 2.50 เมตรเพื่อเตรียมความพร้อมหลังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นเกรงจะเข้าท่วมโบราณสถาน วัดไชยวัฒนารามจ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทเร่งปล่อยระบายน้ำลงท้ายสู่พื้นที่ด้านล่างในเวลานี้ความเร็วประมาณ1,500ลบ.ม.ต่อวินาที และจากฝนตกหนักในเขตภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ทำให้พื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเสี่ยงเกิดน้ำท่วม