ฟัน ‘ยิ่งลักษณ์’ ชดใช้จำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท

ฟัน ‘ยิ่งลักษณ์’ ชดใช้จำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท

มติเอกฉันท์ “ยิ่งลักษณ์” ละเลยความเสียหายโครงการจำนำข้าว 2 โครงการ ต้องชดใช้ 3.5 หมื่นลบ. หรือ 20% ของมูลค่าความเสียหาย1.78 แสนลบ.

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก กล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามสรุปผลการพิจารณาคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ละเลยความเสียหายโครงการจำนำข้าว และได้เสนอไปยังรองปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาลงนามในขั้นต่อไป

พร้อมเสนอไปยังหน่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรีต้นสังกัดนางสาวยิ่งลักษณ์ หน่วยงานที่เป็นผู้เสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว ทั้งสองหน่วยงานต้องร่วมดำเนินการเรียกค่าเสียหาย ตามที่คณะกรรมการฯชุดดังกล่าวสรุปเสนอไป ภายในระยะเวลาก่อนหมดอายุความสิ้นเดือนก.พ.2560

มติเอกฉันท์ยิ่งลักษณ์ชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯได้ใช้เวลาในการประชุมพิจารณาคดีดังกล่าว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้ชี้มูลความผิด 13 ครั้ง โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ละเลยความเสียหายโครงการดังกล่าวจนก่อให้เกิดความเสียหายจริงจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต2555/2556 และ ปีการผลิต 2556/2557 เป็นเงิน 1.78 แสนล้านบาท โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ จะต้องชดใช้จำนวน 20% ของมูลค่าความเสียหาย คิดเป็นเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท

สาเหตุที่สรุปให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้ในสัดส่วน 20% ของมูลค่าความเสียหายนั้น เพราะเป็นการพิจารณาตามกฎหมายรับผิดทางละเมิดมาตรา 8 ที่ระบุว่ากรณีหน่วยงานรัฐมีสิทธิ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ละเมิดคิดความเสียหาย บนพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและเป็นธรรมแต่ละกรณี เป็นเกณฑ์โดยไม่ต้องให้ชดใช้เต็มจำนวนของความเสียหายกรณีที่เกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน ซึ่งกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์รับผิดชอบ 20% ในฐานะผู้บังคับบัญชา

ส่วนความเสียหายที่เหลือ 80% ทางคณะกรรมการฯสรุปความเห็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือป.ป.ช.พิจารณาหาผู้ร่วมชดใช้ความเสียหายต่อไป

ชี้ไม่ได้ระงับยับยั้งก่อทุจริต

นายมนัส กล่าวว่าสาเหตุที่คณะกรรมการฯพิจารณาความเสียหายที่ต้องชดใช้เพียง 2 โครงการ ในปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 เป็นเพราะคณะกรรมการฯพบหลักฐานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ระงับยับยั้ง หรือทักท้วงการดำเนินโครงการตามที่ได้หลายหน่วยงานได้ร้องเรียนมา ทำให้เกิดการทุจริตและเสียหายต่องบประมาณในจำนวนดังกล่าว

ทั้งนี้ ป.ป.ช.และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้กล่าวเตือนโครงการนี้ถึง3ครั้ง ขณะที่กระทรวงการคลังเอง ได้เสนอความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดความเสียหายต่อภาระงบประมาณ รวมถึงคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวก็ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายในโครงการรับจำนำช่วงเวลาดังกล่าว

“แนวทางคิดความเสียหายนี้ คิดมาจากมาตรา8 ของพ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด 2539 ฉะนั้นเราเดินตามแนวที่ให้ความเป็นธรรม ถ้าสมมติเราไปเอาเขาเต็ม แล้วเขาบอกว่าเราทำผิดกฎหมาย และศาลปกครองก็ยกฟ้อง ถ้าศาลปกครองยกฟ้องแปลว่า เรียกความเสียหายไม่ได้ ถือว่าทำตามกฎหมาย ผมเป็นข้าราชการ ถ้าทำไม่ถูก ผมก็โดนมาตรา157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการฯซึ่งประกอบด้วยตัวแทนอัยการสูงสุด กฤษฎีกา สตง. คุยกัน เราถกเถียงกันว่ามีหลักฐานสนับสนุนไหมจึงได้ข้อสรุปดังกล่าวมา”

ไม่พบความผิดจำนำข้าวปี54/55

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554/2555 และนาปรังปี2555 วงเงินความเสียหายรวม 1.15 ล้านล้านบาท ทางป.ป.ช.เสนอแนะให้นางสาวยิ่งลักษณ์ รับทราบถึงปัญหาและความเสียหาย รวมถึงให้หามาตรการป้องกันแก้ไข ซึ่งคณะกรรมการฯเห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ทำหนังสือทักท้วงส่งไปยังหน่วยงานต่างๆตามที่ได้มีการร้องเรียนแล้ว คณะกรรมการฯไม่พบข้อเท็จจริงว่าโครงการรับจำนำข้าวในช่วงเวลาดังกล่าวมีความเสียหายแน่ชัดจึงลงมติว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงต่อโครงการดังกล่าว

ชี้หากไม่คัดค้านเข้าสู่การยึดทรัพย์

ทั้งนี้หากนางสาวยิ่งลักษณ์คิดคัดค้านต่อมติคณะกรรมการฯที่พิจารณาคดีดังกล่าว สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้มีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ แต่ถ้านางสาวยิ่งลักษณ์ไม่คัดค้าน ก็จะเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์เพื่อชดใช้ความเสียหายต่อไป
“ผมไม่หนักใจต่อการพิจารณาคดีดังกล่าว เพราะถือว่า ปฎิบัติตามหลักกฎหมายและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง” นายมนัส กล่าว

รัฐบาลยันคดี“ยิ่งลักษณ์”ตามขั้นตอน

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ให้อำนาจกรมบังคับคดียึดทรัพย์ ว่าเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พศ.2539 ซึ่งสามารถทำคู่ขนานกับคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และตนมั่นใจว่าศาลจะพิจารณาทุกอย่างโดยยุติธรรมตามหลักฐานข้อมูล ไม่มีใครหรือสิ่งใดมามีอิทธิพลหรือชี้นำการตัดสินใจของศาลได้

ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรระมัดระวังในการกล่าวว่าศาลจะถูกชี้นำ เพราะอาจเข้าข่ายดูหมิ่นศาล ตนขอยืนยันอีกครั้งว่าคดีต่างๆซึ่งเกิดขึ้นในยุครัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นการพิจารณาตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทุกประการ ไม่ได้เร่งรัดหรือดำเนินการแตกต่างไปจากคดีอื่นๆ

ทั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับคดีในอดีตที่นักการเมืองแทบจะไม่เคยถูกดำเนินคดี เพราะกฎหมายเอื้อมไปไม่ถึงหรือจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ส่งผลให้คนผิดลอยนวลต่อไป เพราะรัฐบาลปัจจุบันต้องการทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย มีมาตรฐาน และอำนวยความยุติธรรมให้ทุกคน มิใช่แต่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นอกจากนี้ขออยากฝากให้ทีมทนายความควรช่วยอธิบายให้นางสาวยิ่งลักษณ์เข้าใจถึงการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในอดีตจนนำมาสู่คดีในปัจจุบัน เพราะการที่ให้สัมภาษณ์ลักษณะที่ว่านั่งอยู่ดีๆก็ต้องมารับเรื่องคดีทั้งหมดนั้น สะท้อนว่านางสาวยิ่งลักษณ์ขาดข้อมูลที่ควรจะได้รับ