ยุทธศาสตร์ชาติ...ยุทธศาสตร์ใคร?

ยุทธศาสตร์ชาติ...ยุทธศาสตร์ใคร?

“ยุทธศาสตร์ชาติ” กำลังเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อทิศทางการเมืองและการกำหนดนโยบายของประเทศไทยในอีก 20 ปีนับจากนี้

เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ โดยจัดทำเป็นกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ทั้งยังมีบทบัญญัติบังคับให้คณะรัฐมนตรีชุดต่อๆ ไป กำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่จะจัดทำโดยผู้มีอำนาจการเมืองในยุคปัจจุบันด้วย

สาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติที่นำเสนอโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เตรียมบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแหงชาตินั้น นอกจากจะเป็นกรอบการพัฒนาประเทศที่มีผลบังคับใช้นานถึง 20 ปีตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2558 แล้ว ยังกำหนดให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างเคร่งครัดด้วย 

ที่น่าสนใจก็คือ กลไกในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ ทีมล่าความจริง ตรวจสอบรายละเอียดแล้ว พบว่าผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ล้วนเกี่ยวพันกับผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบันทั้งสิ้น

เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.คัดเลือก และเป็นที่รู้กันว่า สนช. เป็น 1 ในองค์กรแม่น้ำ 5 สายของคสช. โดยกรรมการชุดนี้เป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์และคอยตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลในอนาคต

ต่อมาคือ คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอีก 12 คน มีหน้าที่กำกับให้มีการปฏิบัติตามยุทธศาตร์ชาติและประเมิณผล ส่วนสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก็กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้จัดตั้ง ที่มาของกลไกเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บอกว่า สามารถมองได้ 2 มุม

ในเมื่อกรรมการชุดนี้ มีบุคคลที่มาจากกลุ่ม คสช.และบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในภาครัฐเข้าไปด้วย และที่สำคัญ กรรมการชุดนี้มีอำนาจบางประการที่อาจมีลักษณะไปบังคับบุคคลที่จะเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารต่อไปในอนาคต มันจะทำให้มีลักษณะการสืบทอดอำนาจหรือไม่ แต่ในอีกมุมหนึ่งการมีกรรมการชุดนี้ ก็เพื่อสร้างความต่อเนื่อง ของผู้ที่ทำงาน ผู้ที่ริเริ่มให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าไปอยู่ในหน่วยงานใหม่ที่ทำหน้าที่คอยติดตามตรวจสอบว่า ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปตามเจตนารมณ์ดั่งเดิมหรือไม่” นายภูมิ มูลศิลป์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

นอกจากคณะกรรมการต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ ก็ยังพบว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้ กำหนดให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไปเสนองบประมาณ และแถลงนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาของคสช. อีก250 คน ก็มีอำนาจหน้าที่ติดตามการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ผูกพันกันไปหมดนาน 20 ปี

ประเด็นเหล่านี้ถูกตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ อย่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่บอกว่าอาจทำให้เกิดวิกฤติการเมืองในอนาคต

“เมื่อรัฐบาลได้กลับเข้าไปตามครรลองแล้ว ก็คงต้องมาถกเถียง แถลงการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จนอาจมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่ิอให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ และยุทธศาสตร์มีความเป็นไปได้ เกิดการยอมรับในสังคมทุกฝ่าย แต่เมื่อกำหนดแบบนี้ ต่อให้คณะกรรมการต่างๆ เข้ามา แต่กลับเข้ากันไม่ได้กับส่ิงที่มาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขายนโยบายไว้กับพี่น้องประชาชน มันก็คงเกิดปัญหาที่ต้องมาถกแถลงกัน เสียเวลาโต้เถียงกันเพื่อมาหาข้อสรุปได้หรือไม่” พล.ท.ภราดร กล่าว

กรอบเวลาที่ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตรชาติจะมีผลผูกพันฝ่ายการเมืองและหน่วยงานรัฐ อยู่ในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งหากสถานการณ์ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมพของ คสช. ก็จะกลายเป็นคำตอบว่าทิศทางประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้าจะถูกออกแบบโดยกลุ่มบุคคลใด