สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติฯ ปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติฯ ปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

พื้นที่สวนสาธารณะแห่งใหม่ในรูปแบบ 'สวนป่า' ใจกลางกรุงเทพฯ

เมื่อกล่าวถึง ‘เมืองหลวง’ หรือนครใหญ่ๆ ของประเทศต่างๆ ภาพแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึง มักคือความเป็นเมืองเศรษฐกิจ เต็มไปด้วยตึกสูงหน้าตทันสมัย เทคโนโลยีล้ำๆ ค่าครองชีพสูง แม้กระทั่งการจราจรที่ติดขัด

แต่อีกมุมหนึ่งของเมืองใหญ่ยังมี ‘พื้นที่สีเขียว’ หรือ สวนสาธารณะ ให้ประชากรของเมืองและบุคคลทั่วไปได้เข้าไปพักผ่อน ทำกิจกรรมสันทนาการท่ามกลางธรรมชาติ ที่สำคัญคือต้นไม้ในสวนสาธารณะยังช่วยฟอกอากาศและกรองมลพิษในเมืองใหญ่ เปรียบเสมือน ‘ปอด’ ของเมือง

มหานครสำคัญของโลกหลายแห่งให้ความสำคัญและเห็นคุณค่า ‘สวนสาธารณะ’ มีการสร้างสวนสาธารณะเพิ่มเติมและออกแบบอย่างสวยงามจนมีชื่อเสียงติดอันดับโลก บางแห่งกลายเป็นหมุดหมายสำคัญบนแผนที่ท่องเที่ยวนานาชาติ สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล

เป็นที่น่ายินดีปีนี้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีกแห่งมีชื่อว่า สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติฯ เนื้อที่ 9 ไร่ ตั้งอยู่ในบริเวณ ‘สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ’ ติดถนนกำแพงเพชร 3


ความเป็นมา
จากความสำเร็จของการสร้าง ‘สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ’ เมื่อปีพ.ศ.2535 มาในปีนี้สวนป่าแห่งใหม่กำลังหยั่งรากลงดิน

"สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานสวนแห่งนี้ให้แก่ปวงชน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ให้มีปอดใหญ่สำหรับหายใจอากาศบริสุทธิ์ เป็นสถานที่พักผ่อน และเรียนรู้ บอกเล่าถึงพระราชปณิธานของพระองค์ ที่ทรงมุ่งหวังให้สวนแห่งนี้ เป็นสวนคุณภาพ เช่นเดียวกับสวนต่างประเทศที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารในพระองค์ตามเสด็จฯ ไปทัศนศึกษา" คุณหญิงปราณี เอื้อชูเกียรติ กรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กล่าวถึงความเป็นมาของ ‘สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ’

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาทรงรับพื้นที่แห่งนี้จากคณะรัฐมนตรีที่น้อมเกล้าฯ ถวาย ‘พื้นที่ของการรถไฟ’ เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา 12 สิงหาคม 2535 เพื่อจัดสร้างสวนสาธารณะในลักษณะ สวนป่า เพื่อพระราชทานให้ปวงชน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2535

คุณหญิงปราณี เล่าที่มาของความเป็น ‘สวนป่า’ ว่าทราบความจาก ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถึงพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงอยากให้เป็นสวนป่า เนื่องจากประเทศเราไม่มีหิมะ น้ำของประเทศเราได้จาก ‘ป่าไม้’ ต้นไม้ให้ทั้งอากาศหายใจและน้ำ แต่คนเมืองไม่เข้าใจ มีแต่นโยบายตัดไม้

ต่อมาในปีนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559

และเพื่อแสดงความจงรักภักดี เผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานโครงการพระราชดำริตลอด 70 ปี เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนทั้งสิ้น อาทิ โครงการพระราชดำริ ‘ป่ารักน้ำ’ ที่เกิดจากการที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทุกหนทุกแห่งของประเทศ เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎร โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร ทอดพระเนตรเห็นถึงพระวิริยอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงอุทิศพระองค์ในการจัดหา แหล่งน้ำ ให้ราษฎร และทอดพระเนตรเห็นการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ สาเหตุหนึ่งเนื่องจากราษฎรยากจนและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติโดยอาศัยความร่วมมือจากราษฎรและมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต

พระราชดำริของ ‘โครงการป่ารักน้ำ’ ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การปลูกป่าไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ ทุกแห่งที่เป็น ‘ที่ว่าง’ ไม่ว่าขนาดใด ก็ปลูกต้นไม้ได้ทั้งสิ้น


สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จึงมีนโยบายในการจัดสร้างสวนใหม่ให้มีเอกลักษณ์เป็น ‘ป่าต้นน้ำ’ เพื่อเน้นย้ำให้คนในเมืองกรุงเห็นความสำคัญของป่าไม้ที่ให้กำเนิดน้ำ โดยได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตให้ชื่อสวนแห่งนี้ว่า

สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559

ดำเนินการก่อสร้างและปลูกต้นไม้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 และส่งมอบ สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติฯ ให้ประชาชนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559 โดย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นประธานในพิธี


การออกแบบ สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติฯ
“เราเห็นว่าในกรุงเทพฯ เรื่องพื้นที่สีเขียวที่จะเพิ่มขึ้น...ยากมาก พอดีเรามีพื้นที่อยู่ 9 ไร่ ก็อยากทำเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ เป็นพื้นที่สวนสาธารณะที่มีลักษณะเป็นสวนป่า ก็จะได้ประโยชน์หลายๆ อย่าง เราสามารถแต่งภูมิทัศน์ให้คนมาเที่ยว มาศึกษา มาพักผ่อนหย่อนใจก็ได้” วีระชัย ณ นคร ที่ปรึกษาด้านพฤกษศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกรรมการมูลนิธิฯ ผู้รับผิดชอบโดยตรงในการจัดสร้าง ‘สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติฯ’ กล่าว

พื้นที่ 9 ไร่นี้มีความยาว 420 เมตรติดถนนกำแพงเพชร 3, กว้าง 50 เมตร และมีเนินดินสูง 10 เมตร ออกแบบพื้นที่ให้บนเนินดินเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ปลูกไม้ยืนต้นห่างกันพอประมาณ แซมด้วยไม้ขนาดเล็ก เพื่อให้ไม้ยืนต้นและไม้ขนาดเล็กเมื่อโตขึ้น จะแผ่ ‘เรือนยอด’ ปกคลุมและลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ เหมือนผืนป่าจริงๆ เป็นพันธุ์ไม้ไทย 90% มีพันธุ์ไม้ต่างประเทศแซมให้ดูสวยงามบ้างเท่านั้น

จากยอดเนินดิน สองข้างทางของป่าทำเป็นหุบลงไป มีลำรางให้สายน้ำทอดตัวลงไปสู่บึงน้ำขนาดใหญ่ด้านล่าง ให้ความรู้สึกร่มรื่น สดชื่น มีน้ำหมุนเวียนตลอดปี มีความรู้สึกว่าป่าให้น้ำจริงๆ สอดคล้องกับพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงต้องการให้คนเมืองได้เห็นระบบนิเวศของป่าต้นน้ำ คือ มีความชุ่มชื้น มีร่มเงา เป็นที่อาศัยของสัตว์เล็กๆ

“เป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศเป็นป่าดิบชื้นเป็นหลัก ผสมป่าเต็งรัง เป็นป่าสร้าง มีความเขียว มีความสวยงาม มีร่มเงา ปลูกเป็นแถวเป็นแนวเป็นสวนก็ไม่เชิง แต่ปลูกคละกันไปและใช้ไม้ป่าเป็นหลัก” คุณวีระชัย กล่าว


หลากหลายพันธุ์ไม้
“ชนิดพันธุ์ไม้ที่นำมาลงใน ‘สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติฯ’ เราเน้นพันธุ์ไม้ไทยให้มีความหลากหลาย และเหมาะสมกับพื้นที่ภาคกลาง จึงไม่เอาไม้บนดอยหรือไม้ชายทะเล แต่ก็มีพันธุ์ไม้เด่นๆ ที่น่าสนใจมาชมกันมากมาย” คุณวีระชัย กล่าวพร้อมกับยกตัวอย่างพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจไว้หลายชนิด

เริ่มจาก กันเกรา ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูงอย่างน้อย 6 เมตร ดอกสวยกลิ่นหอม ทั้งยังเป็นไม้มงคล 1 ใน 9 ชนิดที่คนนิยมนำมาใช้ในพิธีกรรมเวลาสร้างบ้านเรือนให้เป็นสิริมงคล

ชัยพฤกษ์ หน้าแล้งทิ้งใบ ออกดอกสีชมพูเข้มสวยงามทั้งต้น

กระพี้จั่น เป็นไม้ยืนต้น ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ดอกช่อ กลีบดอกสีม่วงอมขาว ไม้หาดูได้ยาก ต้องต่างจังหวัดไกลๆ จริงๆ จึงจะได้เห็น และเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นสิริมงคลประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ประดู่แดง ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-12 เมตร หน้าแล้งออกดอกสีแดงสวยทั้งต้น

หนวดปลาหมึกยักษ์ ไม่ต้องมีฤดูกาลใดๆ ก็สวย เพราะใบเหมือนมือพระนารายณ์ เป็นหนวดปลาหมึกจริงๆ

กระทิง ไม้ใหญ่ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมสีเขียวเข้ม ดอกหอม

จิกน้ำ มีใบสวยตลอดปี ใบรูปหอก ปลายและโคนใบแหลม ขอบจักถี่ ดอกเป็นช่อยาวที่ปลายยอด ห้อยลงเป็นระย้า 30-40 เซนติเมตร

ตีนเป็ดน้ำ ไม้ยืนต้น ลักษณะเป็นทรงพุ่มกลม ใบแน่น ยอดสีแดง เวลาไปอยู่ที่อื่นมองไกลๆ เห็นยอดสีแดงสวยงาม

ยางนา ไม้ยืนต้นเขตร้อน สูงถึง 40-50 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบเดี่ยวรูปไข่แกมรูปหอกกว้าง ปลายใบสอบเรียว

อินจัน ถึงจะโตช้า แต่ต่อไปก็จะมีลูกอินลูกจันอยู่แถวนี้ มีกลิ่นหอม เป็นพันธุ์ไม้หายากขึ้นเรื่อยๆ ก็มาดูที่นี่ได้

นอกจากนี้ยังมี “พุดศุภโชค รวมทั้งพวกประยงค์ ไทรยอดทอง ถือว่าเป็นพันธุ์ไม้เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไปให้เข้ามาชม ให้ความร่มรื่นสวยงาม มีความรู้สึกถึงความชุ่มชื้นต่างๆ และยังเป็นที่อยู่อาศัยของพวกนก กระรอก กระแต มีอาหารการกินของสัตว์เล็ก ก็จะเป็นป่าที่สมบูรณ์” คุณวีระชัย กล่าวเพิ่มเติม

สวมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พัฒนามาแล้วถึง 25 ปี มีการตกแต่งให้สวยงามขึ้น มีเส้นทางใหญ่เส้นทางเล็ก แต่สำหรับ สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติฯ เป็นสวนสาธารณะที่มีลักษณะเป็น 'สวนป่า' เป็น 'ป่าปลูก' ที่ปลูกด้วยพันธุ์ไม้คละเคล้ากัน และปลูกค่อนข้างถี่และแน่น

พันธุ์ไม้ต่างๆ เหล่านี้จะโตมากขึ้น คุณวีระชัยมั่นใจว่า สวนป่าแห่งนี้จะทวีความสวยงามในตัวเองขึ้นเองอีกในเวลาต่อไป และจะจัดทำป้ายบอกชื่อต้นไม้ไว้ทุกต้น และกล่าวด้วยว่า “ไม้ไทยส่วนใหญ่เป็นไม้ต้น ออกดอกปีละครั้ง ไม่ใช่ไม้ดอก ‘สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติฯ’ จึงจะมีสีเขียวเป็นหลัก ยกเว้นหน้าแล้งที่แย่งกันออกดอก”

ภาพความงามในวันข้างหน้าซึ่งเราจะได้ชมกัน..พร้อมอากาศดีๆ ให้หายใจได้เต็มปอด
------------------------------------------------------
สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่ภายในบริเวณ ‘สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ’ ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เวลาเปิดทำการ 05.00-20.00 น.
-------------------------------------------------------
ภาพ : รชานนท์ อินทรักษา