เจาะเบื้องหลัง ‘เอฟวัน’ ความเร็วที่มาแบบเหนือเมฆ

เจาะเบื้องหลัง ‘เอฟวัน’ ความเร็วที่มาแบบเหนือเมฆ

ตามไปดูเบื้องหลังความเร็วทะลุ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของรถสูตรหนึ่งที่นอกจากเครื่องยนต์ขั้นเทพแล้ว ยังมี "ซอฟต์แวร์" เป็นเกียร์เร่งสู่เส้นชัย

อัตราเร็วเคลื่อนที่กว่า 200-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสำหรับการแข่งขันรถสูตรหนึ่ง หรือ “ฟอร์มูล่า วัน” นอกจากเครื่องยนตร์ชั้นเลิศ ยาง และทักษะของคนขับแล้ว องค์ประกอบสำคัญที่ถือเป็นหนึ่งในจุดตัดเชือกสำหรับทีมเอฟวัน ที่มีโอกาสลุ้นเข้าวินสูง คือ เทคโนโลยีเบื้องหลังที่ใช้บริหารจัดการและคอยมอนิเตอร์ข้อมูลรถทุกวินาทีเพื่อปรับเทคนิคให้วิ่งได้เร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด


ขณะที่ เทคโนโลยีที่รถในการแข่งขันแเอฟวันแต่ละทีมนำมาใช้ล้วนแต่ได้รับการพัฒนาและออกแบบมาแบบล้ำโลก และใช้สารพัดเทคนิคขั้นสูงที่ต้องมีทีมวิศวกรในศาสตร์ต่างๆเข้ามาทำงานร่วมกัน


นอกจากนี้การแข่งขันกีฬาประเภทเอฟวันยังมีความแตกต่างจากกีฬาอื่นๆตรงที่มี “ทีมผู้สร้าง” ทำงานเบื้องหลังคอยซัพพอร์ตทุกอย่างตั้งแต่เริ่มสร้างรถ การเตรียมอะไหล่ จนถึงขณะที่รถวิ่งทำความเร็วรอบสนาม ซึ่งมีทั้งทีมซ่อมบำรุง เปลี่ยนยาง เชคเครื่อง และระบบควบคุมการสื่อสารข้างสนามที่ต้องมีการบริหารจัดการและเตรียมการที่ไม่ต่างอะไรกับระบบการทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีองค์ประกอบซับซ้อน และแน่นอนองค์กรจะมีประสิทธิภาพได้จำเป็นต้องมีตัวช่วยบริหารจัดการที่ดี

จับซอฟต์แวร์เบอร์หนึ่ง
“เรโนลต์​ สปอร์ต ฟอร์มูล่า วัน ทีม" หนึ่งในทีมรถแข่งสูตรหนึ่งระดับโลกที่ร่วมชิงชัยในสนามแข่งสิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ ครั้งล่าสุด เผยถึงเบื้องหลังการกลับมาลงสนามชิงชัยอีกครั้งหลังกระบวนการควบรวมทีมโลตัส เอฟวันปีที่ผ่านมาเรียบร้อย ช่วงที่ห่างหายไปนานนอกจากสร้างรถแข่งแล้ว การหาเทคโนโลยีตัวช่วยก็เป็นหนึ่งในหนทางนำสู่เส้นชัยของทีมเรโนลต์

“ไซริล อบิทิโบล” กรรมการผู้จัดการทีมเรโนลต์ สปอร์ต เรซซิ่ง บอกว่า การทำให้รถสามารถวิ่งได้ความเร็วมากกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทีมจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในเวลาแค่เสี้ยววินาที โดยเฉพาะ “ข้อมูล” เพื่อสนับสนุนการทำงานที่ต้องการความเร็วสูงตามไปด้วย

โดยเรโนลต์ ประกาศจับมือกับเบอร์หนึ่งโลกซอฟต์แวร์ ใช้ซอฟต์แวร์วางแผนทรัพยากรองค์กร หรืออีอาร์พี และเทคโนโลยีอะซัวร์ แมชชีน เลิร์นนิ่ง ภายใต้ข้อตกลงเป็นเทคโนโลยี พาร์ทเนอร์ชิพกันต่อเนื่อง 5 ปี (เริ่มปี 2555)

อบิทิโบล บอกว่า “ไมโครซอฟท์ ไดนามิค เอเอ็กซ์” เป็นซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของทีมได้ดี โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อนำมาวิเคราะห์และใช้สำหรับการตัดสินใจ ขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูง และรูปแบบการใช้งานที่ยืดหยุ่นและซับซ้อนน้อย

นอกจากนี้ ไดนามิค เอเอ็กซ์ยังเป็นอีอาร์พีที่ประมวลผลผ่านคลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่นอกจากจะใช้มอนิเตอร์รถแล้วได้ทุกเสี้ยววินาทีแล้ว ยังทำงานร่วมกับอะซัวร์เพื่อนำข้อมูลมาสร้างภาพจำลองเพื่อทดสอบรถในสถานการณ์ต่างๆ เช่น วัดอุณหภูมิเครื่อง และประสิทธิภาพของยางให้ทีมสามารถแก้เกมได้อย่างรวดเร็ว

รวมถึงการใช้ฟังก์ชั่นของอีอาร์พีสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งการแข่งเอฟวันในแต่ละซีซั่นจะต้องเดินทางไปแข่งเก็บคะแนนตามสนามต่างๆที่กำหนดไว้ทั่วโลก ดังนั้นทีมจะต้องวางแผนข้อมูลล่วงหน้าเพื่อเตรียมพร้อมอะไหล่ และชิ้นส่วนต่างๆได้ครบถ้วนทั้งการซ้อมและแข่งจริง

“เราใช้เทคโนโลยีกับทุกๆ ส่วนของรถเอฟวัน ขณะเดียวกันก็ใช้ข้อมูลเพื่อสร้างจุดต่างให้กับทีม เและเป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญที่สุด และมีผลต่อเอฟวันมาก ข้อมูลที่นักแข่งดูบนหน้าจอจะประมวลแบบเรียลไทม์แสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านแดชบอร์ดที่สมาชิกทีมทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระในทุกตารางนิ้วของพื้นที่แข่งขัน”​

นอกจากนี้ซอฟต์แวร์ยังเป็นตัวเร่งให้ทีมสามารถกลับมา “ออนแทรค” และเร่งสปีดตามหลังทีมเอฟวันอื่นๆที่มีเวลาเตรียมตัวมานานกว่าในช่วงที่รีโนลต์ห่างหายไปจากสนาม

ปูทางสู่โพเดียม
ผู้จัดการทีมเรโนลต์ยังบอกว่า รถแต่ละคันยังมีอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณ (เซ็นเซอร์) มากกว่า 200 ตัวติดรอบรถ ซึ่งทุกๆกิโลเมตรที่รถเคลื่อนที่จะสร้างข้อมูลขึ้นปริมาณมหาศาล และมีการจัดเก็บ การรับส่งข้อมูล และนำมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของรถที่ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระดับวินาที ซึ่งการปรับมาใช้ซอฟต์แวร์ผ่านเทคโนโลยีคลาวด์ นั่นหมายถึงทีมไม่จำเป็นต้องแบกเซิร์ฟเวอร์ตัวเขื่องไปตั้งข้างสนามเพื่อประมวลผลอีกต่อไปด้วย


“ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง (ทรานสฟอร์ม) เราจำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์เทคโนโลยีที่แข็งแกร่งมาช่วยเราด้วย”

อย่างไรก็ตามผู้จัดการทีมเรโนลต์ยอมรับว่า ปีนี้อาจจะไม่ใช่ปีที่จะได้เห็นเรโนลต์ประสบความสำเร็จ หรือไปถึงโพเดียมได้ เพราะรถที่เราใช้ผลิตมานานแล้ว แต่ก็ยังมีเป้าหมายว่าอาจจะได้เห็นความสำเร็จของเรโนลต์ในปีหน้า และความเปลี่ยนแปลงที่จะพัฒนาไปมากขึ้น

สูตรสู่ความสำเร็จ

เพพไพน์ ริชเตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มไมโครซอฟท์ ไดนามิค เอเอ็กซ์ บอกว่า เรโนลต์ เป็นหนึ่งในธุรกิจกลุ่มแรกๆที่ใช้ไดนามิค เอเอ็กซ์ เข้ามาช่วยเร่งความเร็วให้กับกระบวนการทำงานของทีมแข่งเอฟวัน และเป็นหนึ่งในกีฬาที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยมากที่สุดประเภทหนึ่งของโลก

ไมโครซอฟท์ทำงานร่วมกับเรโนลต์มาตั้งแต่ปี 2555 เริ่มจากการนำระบบอีอาร์พีเข้ามาใช้งานพื้นฐาน ก่อนเริ่มขยับสู่การใช้เทคโนโลยีไดนามิค เอเอ็กซ์ 2012 อาร์2 เพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานในแผนกแอโรไดนามิคแบบแมนวลเดิม และพัฒนามาสู่การหลอมรวมไดนามิค เอเอ็กซ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงที่ทำงานได้ผ่านคลาวด์ในปัจจุบัน

โดยนอกจากซอฟต์แวร์แล้ว ไมโครซอฟท์ยังส่งทีมวิศวกรเข้าไปทำงานร่วมกับทีมเรโนลต์ด้วยเพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงาน และปรับจูนซอฟต์แวร์ให้เหมาะกับความต้องการโดยเฉพาะ